จันทบุรี ทางคนกลางสวนผลไม้
ในวันที่รู้ว่าโลกภายนอกภูเขาเล็กๆ ของอำเภอท่าใหม่นั้นไม่ได้มีค่ากับชีวิตเท่าแผ่นดินที่เธอเติบโต นางลักษณ์ มณีรัตน์ หันหลังกลับเข้ามาหาสวนผลไม้และเนื้อดินของปู่ย่า การก้าวเดินคล้ายกลับสู่วัยเยาว์ แม้ว่าจะห่างเหินมันไปนาน แต่บางคราวทางเดินอันมั่นคงอาจหมายถึงทางสายเก่าที่หลายคนเคยหันหน้าจากหาย เราสืบเท้าตามเธอไปในโอบล้อมของสวนผลไม้แห่งชุมชนเขาบายศรี ภูเขาเนินเตี้ยๆ ที่แผ่ขยายเป็นดั่งตะกร้าผลไม้ของคนอำเภอท่าใหม่ นาทีเช่นนี้ราวกับโลกทวนย้อนไปสู่วันวาน “แต่เดิมปู่ย่าตาทวดเราก็หากินกับสวนผลไม้นี่ล่ะ” พี่นงลักษณ์ยังจำวันที่หาบคอนทุเรียน เงาะ มังคุด ออกจากสวนที่เธอเติบโตมา ห้วงยามนั้นบ้านแซงลึกเป็นหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอท่าใหม่ที่เต็มไปด้วยผลไม้ โลกแห่งการซื้อขายตกทอดอยู่เพียงตลาดท่าใหม่ หรือเลยถัดขึ้นไปในตัวเมืองจันทบุรีบ้างเป็นครั้งคราว ทางเดินไต่ลัดไปตามเรีอกสวนที่แผ่ขยาย ทุเรียนพื้นบ้านอย่างพวงมณีหยัดยืนต้นสูงสะท้อนอายุเป็นร้อยปีอยู่ในแวดล้อมของหมอนทองก้านยาว นาทีต้นฤดูฝนเช่นนี้ ในอากาศอัดครึ้มของเมืองที่ล้อมด้วยขุนเขาและทะเลอย่างเมืองจันท์ ความอัดอ้าวไม่อาจกั้นขวางหนทางชีวิต เลียงเก็บทุเรียนจากสวนนั้นสวนนี้แว่วยินอยู่ตลอดเส้นทาง “เรารวมกลุ่มกันเพื่อต่อยอดให้สวนผลไม้และผู้คนมีทางเลือก” เธอว่าถึงวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี (บ้านแซงลึก) ที่มีกลุ่มสวนผลไม้เข้าร่วม หันหน้าเข้าหาการท่องเที่ยวเพื่อเดินหน้าควบคู่ไปกับราคาผลไม้ในตลาดหลัก ที่บางที่ชาวสวนผู้ลงแรงกลับไม่ได้เป็นผู้กำหนด “มันเป็นเหมือนอีกหนึ่งทางเลิกนอกจากทำสวน ลงแรง ดูแลประคบประหงม และหาที่ขาย” หากมองจากกิจกรรมที่กลุ่มรักษ์เขาบายศรีทำ อาจคล้ายหลายสวนผลไม้ในเมืองจันท์ ที่การเที่ยวชมและชิมผลไม้อย่างทุเรียน มังคุด เงาะ ระกำ ที่สุกงอมตามฤดูกาลจะเป็นจุดเด่น ทว่าลึกลงไป พวกเขาล้วนมุ่งหมายให้หลายอย่างดำเนินไปมากกว่านั้น ลัดเลาะผ่านสวนระกำ กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เจืออยู่ตรงโคนต้นที่เต็มไปด้วยหนามแหลม พี่นงลักษณ์ค่อยๆ หยิบพวงระกำอันเกิดจากการตัดดอกระกำตัวผู้เพื่อผสมเกสรสละตัวเมีย คนที่นี่รู้จักและเข้าใจการแตกยอดในงานเกษตรกรรมมาอย่างชาญฉลาด “เอาเอกลักษณ์เด่นของสละ คือออกผลเป็นพวง เป็นเครือ มาให้ระกำ” …