องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการสื่อสารความรู้ให้กับผู้เข้าชม ให้เข้าใจสาระทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้โดยง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหก ในบริเวณเทคโน ธานี ตัวอาคารโดดเด่นด้วยการออกแบบเป็นรูปลูกเต๋า ภายในจัดแสดงนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินไปพร้อมกับการเรียนรู้ ชั้นที่ ๑ จัดแสดงภาพ และผลงานนักวิทยาศาสตร์ การจำลองลูกโลกขนาดใหญ่ ชั้นที่ ๒ จัดแสดงหุ่นจำลอง ลูซี่ที่ทำจากฟอสซิล เป็นรูปเหมือนที่แสดงถึงการกำเนิดมนุษย์คนแรก ยานอวกาศและมนุษย์อวกาศจำลอง ชั้นที่ ๓ เป็นอุโมงค์เงาและเรือนไม้ จัดแสดงในเรื่องของแสง ชั้นที่ ๔ จัดแสดงพื้นฐาน และเทคโนโลยีในประเทศไทย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา การผลิตด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ชั้นที่ ๕ จัดแสดงการแยกแยะส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และชั้นที่ ๖ แสดงถึงภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้แล้วยังมีอาคารธรรมชาติวิทยาที่จัดแสดงนิทรรศการทางธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดให้ชมทุกวันอังคาร – วันศุกร์ เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๒๕๗๗ ๙๙๙๙ หรือ www.nsm.or.th
การเดินทาง ไปตามถนนสายรังสิต – นครนายก ประมาณ ๔ กิโลเมตร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย ปอ.๑๑๕๕ สายรังสิต – ฟิวเจอร์พาร์ค-พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชครบ ๕๐ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านชาติพันธุ์วิทยา ตั้งอยู่ ณ ตำบล คลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่ ๓๐๕ ไร่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สำคัญยิ่งของพสกนิกรชาวไทย กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง จึงได้อัญเชิญนามพระราชพิธีมาเป็นชื่อหน่วยงานนี้ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก”
โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ด้านชาติพันธุ์วิทยานั้นกำเนิดมาจากนโยบายของกรมศิลปากรที่ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่มุ่งเน้นทางด้านการกระจายความเจริญจากเมืองไปสู่ชานเมือง นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเฉพาะสาขาในส่วนกลาง ลำดับที่ ๓
นอกจากนี้ทางกรมศิลปากรได้จัดให้พิพิธภัณฑสถานเฉพาะด้านสาขาอื่นๆ ผนวกกับการสร้างอาคารของหน่วยงานอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมที่โยกย้ายออกจากกรุงเทพฯ มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเตรียมจัดให้เป็นพื้นที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ แหล่งเรียนรู้สหสาขาวิชาที่ครอบคลุมความรู้เรื่องที่เกี่ยวกับคนไทยทั้งศิลปวัฒนธรรม ชาติพันธุ์วิทยาและธรรมชาติวิทยา เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์การเรียนรู้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน เป็นบทนำการเดินทางท่องเที่ยวและศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศภายในพื้นที่โครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษกจึงมีพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ อยู่ร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ หอจดหมายแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ หออัครศิลปิน พิพิธภัณฑ- สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเป็นต้น ถึงแม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม แต่สามารถให้ความรู้แก่นักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้ในรูปแบบของนิทรรศการสัญจรตามสถานศึกษาและศูนย์กลางชุมชน พร้อมสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุจำลอง ภาพสไลด์ เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บรรยาย และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษกเปิดให้บริการในส่วนของศูนย์ข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งจะมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผา ผ้า อาวุธ เครื่องใช้ในการเกษตร เป็นต้น จำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ รายการ ในรูปแบบของคลังเปิด เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม) สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๙๐๒ ๗๕๖๘-๙
หออัครศิลปิน ตั้งอยู่ตำบลคลองห้า อยู่เลยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ ๙ ด้าน คือ ด้านหัตถกรรม ด้านกีฬา ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านดนตรี และด้านการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติ ทุกท่านในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถ่ายทอด ผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๔ สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. โทร. ๐ ๒๙๘๖ ๕๐๒๐-๔ โทรสาร ๐ ๒๙๘๖ ๕๐๒๓
ภายในบริเวณใกล้เคียงกับหออัครศิลปิน ยังมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ อีกหลายแห่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก หอจดหมายเหตุแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมศิลปากรได้ทำการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติขึ้น เพื่อน้อมเกล้า น้อมกระหม่อมถวายเป็นสิ่งอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๗๒๐.๔ ล้านบาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๗๕ ไร่ อาคารก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สมัยรัชกาลที่ ๙ ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคาร ๔ ส่วน มีทางเชื่อมและลานเอนกประสงค์รวมพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตรประกอบด้วยอาคารส่วนที่ ๑ อาคารเก็บเอกสารจดหมายเหตุ เป็นอาคาร ๙ ชั้น มีพื้นที่ ๖,๐๐๐ ตารางเมตร
อาคารส่วนที่ ๒ อาคารให้บริการค้นคว้า มีพื้นที่ ๔,๕๐๐ ตารางเมตร อาคารส่วนที่ ๓ – ๔ อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราช- กรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ มีพื้นที่ ๓,๐๐๐ ตารางเมตร ลานเอนกประสงค์ เป็นส่วนจัดกิจกรรม มีพื้นที่ ๓,๕๐๐ ตารางเมตร
อาคารทั้ง ๔ อาคารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้ ทางกรมศิลปากรต้องการให้เป็นหอสมุดจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์ที่สุด ในการเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญของชาติเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยให้แก่หน่วยงานราชการ เอกชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป อำนวยประโยชน์ในการรวบรวมจัดเก็บจัดแสดง ให้บริการสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารที่เกี่ยวเนื่อง ในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ พระบรมฉายาลักษณ์ แถบบันทึกพระสุรเสียง ฯลฯ ตลอดจนเอกสารการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆ หอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ให้ความรู้และให้เยาวชนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถในการปกครองแผ่นดิน รวมไปถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุก พระองค์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. การค้นภาพ, จดหมายเหตุ, เข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าก่อน เข้าชม โทร. ๐ ๒๙๐๒ ๗๙๔๐ ต่อ ๑๑๑, ๑๑๓
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหนึ่ง ถนนพหลโยธิน กม. ๔๖ – ๔๘ ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ประกอบด้วยกลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ ๙ อาคาร มีทางเดินเชื่อมต่อกัน จัดแสดงเรื่องราวทางการเกษตรผ่านเทคโนโลยีทันสมัยและหุ่นจำลอง ครอบคลุมเนื้อหางานการเกษตรทุกด้าน ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ ระบบนิเวศส่วนด้านนอกมีเรือนเพาะปลูก แปลงนาสาธิต และจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกษตรและยังเป็นแหล่งการศึกษาทางด้านโครงการพระราชดำริ เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๕.๓๐ น. ปิดวันจันทร์ วันปีใหม่และวันสงกรานต์ ไม่เก็บค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๒๙ ๒๒๑๑-๔
โรงกษาปณ์ รังสิต มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๘ ไร่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมธนารักษ์ได้ย้ายโรงกษาปณ์จากถนนประดิพัทธ์มาอยู่ที่รังสิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ และดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา
สำนักกษาปณ์ เป็นหน่วยงานของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยอานาจ ตาม พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ และผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์หรือเหตุการณ์ระหว่างประเทศเพื่อเป็นการเผยแพร่ เกียรติยศชื่อเสียงและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ นอกจากนี้สำนักกษาปณ์ยังมีหน้าที่ผลิตเครื่องราชอิสริยาภรณ์เครื่องหมายตอบแทน และผลิตภัณฑ์สั่งจ่ายต่างๆ ตามความต้องการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน รวมทั้งติดตั้งซ่อมแซมระบบประตูห้องมั่นคง ตู้นิรภัยให้คลังจังหวัดทั่วประเทศ สำนักกษาปณ์ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคุณภาพและการบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งสืบสานช่างด้านศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยให้ดำรงสืบต่อไป
ศูนย์บริการการกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดกำเนิดมาจากการก่อสร้างสนามกีฬาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อรองรับเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พักนักกีฬา จำนวน ๕,๐๐๐ ยูนิต สนามกีฬา อาคารสระว่ายน้ำ อาคารยิมเนเซียม ทั้งหมด ๗ อาคาร ซึ่งปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยอาทิ เช่น อาคารยิมเนเซียม ๓ ได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์บริการการกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
ศูนย์บริการการกีฬา เป็นหน่วยงานที่แยกส่วนของการกีฬาออกจาก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน เนื่องจากมีสภาพในการทำงานที่แตกต่างกันซึ่งในส่วนของศูนย์บริการการกีฬานั้น มีพันธกิจหลักคือ การจัดให้มีกิจกรรมด้านการกีฬาและการออกกำลังกายอย่างหลากหลายและทั่วถึง รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลากร นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไปสามารถใช้สนามกีฬาได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับการกีฬาของประเทศในทุกๆด้าน
ศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยสนามกีฬาหลัก ศูนย์กีฬาทางน้ำ สนามเทนนิส อาคารยิมเนเซียม ๓ หลัง รวมพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ ภายในศูนย์กีฬาแห่งนี้ต้องการให้บริการทางด้านกีฬาที่ครบถ้วนมากที่สุด ในเรื่องของกีฬาและสุขภาพ เปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป
พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ภายใน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ตำบลคลองหนึ่ง ภายในจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศไทย เช่น เครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยล้านนาและเครื่องถ้วยอยุธยา รวมทั้ง เครื่องถ้วยที่ผลิตจากเตาเผาในต่างประเทศ ซึ่งค้นพบในประเทศไทย อาทิ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเวียดนามและเครื่องถ้วยพม่า เป็นต้น พิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็นห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ร้านจำหน่ายหนังสือและสินค้าที่ระลึก เปิดให้เข้าชมวันอังคาร – วันเสาร์ ปิดวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. สอบถามข้อมูล เพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๙๐๒ ๐๒๙๙ ต่อ ๒๘๙๐ โทรสาร ๐ ๒๕๑๖ ๖๑๑๕ หรือ http://museum.bu.ac.th อีเมลล์ [email protected]
ศูนย์ศึกษาประชาธิปไตย ตั้งอยู่หลังอาคาร SME ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถนนพหลโยธิน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นศูนย์ต้นแบบในการศึกษาประชาธิปไตย จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์โดยตรงในการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยให้นักศึกษามาเป็นผู้ช่วยวิทยากรประจำศูนย์ฯ เป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้จัดรูปแบบโสตทัศนูปกรณ์ทั้งหมด ผู้ที่เข้าศึกษาจะได้รับมอบเกียรติบัตรในฐานะที่ผ่านการเรียนรู้หลักการและกระบวนการประชาธิปไตย
การเดินทาง สามารถเดินทางโดยสารรถประจำทางสาย ๒๙, ปอ.๒๙, ปอ.๓๙, ปอ.๕๐๔, ปอ.๕๑๐, ปอ.๕๒๐ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้วันละ ๔ รอบ เวลา ๐๙.๐๐ น. ๑๐.๐๐ น. ๑๓.๐๐ น.และ ๑๔.๐๐ น. (รอบละ ๔๐- ๖๐ คน) ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง เปิดบริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. (ต้องการชมวันเสาร์ – อาทิตย์ เป็นหมู่คณะ โปรดติดต่อล่วงหน้า) โทร. ๐ ๒๕๖๔ ๓๓๖๖ โทรสาร ๐ ๒๕๖๔ ๓๓๖๖ อีเมลล์ [email protected]
โครงการสระเก็บน้ำพระราม ๙ โครงการสระเก็บน้ำพระราม ๙ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ระหว่างคลองระบายน้ำรังสิต ๕ และ ๖ มีพื้นที่โครงการรวม ๒,๘๒๗ ไร่ ๑๐ ตารางวา ซึ่งลักษณะของโครงการเป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ ๒,๕๘๐ ไร่ แยกออกเป็น ๒ สระ คือ สระเก็บน้ำที่ ๑ พื้นที่ประมาณ ๗๙๐ ไร่ ความจุประมาณ ๖ ล้าน ลบ.ม. เพื่อรับน้ำจากคลองระบายน้ำรังสิต ๖ ส่วน สระน้ำที่ ๒ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๗๙๐ ไร่ความจุประมาณ ๑๑.๑ ล้าน ลบ.ม.รองรับน้ำจากคลองรังสิต ๕ นอกจากนี้พื้นที่โดยรอบสระเก็บน้ำยังจัดให้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้และจัดแต่งสวน เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป โครงการนี้สามารถช่วยเหลือด้านการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งและช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่างของโครงการได้เป็นอย่างดี
การเดินทาง รถนั่งรถประจำทางปรับอากาศ สาย ๕๓๘ และ สาย ๕๕๙ รถประจำทางสาย ๑๘๘ หรือรถโดยสาร บขส. สายปราจีนบุรี – รังสิต -องครักษ์