หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ นครราชสีมา-โชคชัย ด่านเกวียนเป็นหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำมูล ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเส้นทางการค้าระหว่างโคราชกับเขมร ชาวด่านเกวียนมีอาชีพทำนา ทำ ไร่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล และเริ่มเรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาจากชาวข่า (ชาวเขาเผ่าหนึ่งตระกูลมอญ-เขมร เป็นชนพื้นเมืองเดิมที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง) ในยุคแรกของการทำเครื่องปั้น จะทำไว้ใช้ในครัวเรือน เช่น โอ่ง ไห ครก ฯลฯ ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์มาเป็นเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้านและจัดสวน ตลอดจนเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ด้วยคุณสมบัติของดินด่านเกวียนเมื่อเผาออกมาแล้วมีลักษณะเป็นสีสัมฤทธิ์ ที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน นอกจากนั้นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ได้รับเลือกจากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เมื่อต้นปี ๒๕๔๘ หนึ่งใน ๔ แห่งของประเทศ เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งแรกในภาคอีสาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มด่านเกวียนโฮมสเตย์ โทร. ๐๘ ๗๘๗๗ ๗๕๔๔, ๐๘ ๑๒๖๕ ๔๐๗๘
สวนมะนาวด่านเกวียน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๕ หมู่ ๓ ตำบลด่านเกวียน การเดินทาง จากจังหวัดนครราชสีมาใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (นครราชสีมา-โชคชัย) ระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร (ก่อนถึงชุมชนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน) แยกขวาทางเข้าวัดป่าหิมพานต์ อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ปลูกมะนาวพันธุ์ด่านเกวียนซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการตั้งชื่อตามแหล่งที่พบ มีลักษณะเฉพาะตัว คือ ทนทานต่อความแห้งแล้ง ผลใหญ่ มีน้ำมากทุกผล กลิ่นเปลือกไม่ฉุนจัด รสชาติกลมกล่อม แต่ละต้นมีผลดกมาก บางต้นมีมากถึง ๕,๐๐๐ ผล ถ้าปล่อยให้ผลเติบโตต่อ ไปเรื่อยๆ โดยไม่แย่งอาหารกัน ผลก็จะเจริญเติบโตขึ้นจนคล้ายส้มเกลี้ยง ส้มซ่า แต่มีความเปรี้ยวตามแบบของมะนาวทุกอย่างสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายณรงค์ รัตนจันทร์ โทร. ๐ ๔๔๒๑ ๒๖๙๖