จากอ่าวโฉลกหลำจะมีถนนเส้นหนึ่งซึ่งตัดผ่านบริเวณช่องเขาแคบๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่สูงชันนัก ระหว่างแนวของเขาหราที่อยู่ตอนกลางสุดของเกาะและเขาตาหลวงซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่ลัดเลาะไปในช่องเขาลดหลั่นลงไปทางด้านทิศใต้สู่แนวที่ราบทางด้านท้องศาลาอีกครั้ง ตลอดเส้นทางสายนี้ยาวประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สีเขียวของป่าไม้อุดมสมบูรณ์สลับกับสวนยางพาราและเรือกสวนไร่นานับเป็นเส้นทางที่สวยงามเส้นหนึ่ง มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลายแห่งซึ่งใครเที่ยวเลาะชายหาดตะวันตกมาจนถึงโฉลกหลำก็สามารถเดินทางกลับเป็นเส้นทางวงรอบกลับไปยังท้องศาลาได้โดยไม่ต้องเสียเวลาย้อนกลับทางเดิมและยังได้ท่องเที่ยวไปในโลกสีเขียวของเกาะพะงันอีกด้วย
จุดแรกที่ควรแวะเที่ยวคือ ศาลเจ้าแม่กวนอิมและวัดป่าแสงธรรม ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ศาลเจ้าแม่กวนอิม อยู่ห่างจากบ้านโฉลกหลำราว 6 กิโลเมตร รูปแบบเป็นศาลเจ้าจีนที่สวยงามตั้งอยู่บนไหล่เขาช่วงหนึ่งของเขาตาหลวงที่มียอดสูงสุด 478 เมตรจากระดับน้ำทะเลอยู่ด้านตรงข้ามกับเขาหรา
บริเวณศาลเจ้าอยู่บนเนินสูงที่เป็นจุดชมวิวสามารถมองเห็นอ่าวโฉลกหลำาที่อยู่ทางด้านทิศเหนือได้เป็นอย่างดี ตามประวัติเล่าขานกันมาสั้นๆ ว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อองค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมชื่อคุณมลาวรรณ ได้เดินทางไปทอดผ้าป่าที่เกาะพะงันแล้วไปที่บ้านโฉลกหลำซึ่งเป็นชุมชนคนจีนไหหลำที่มีอาชีพทำาประมงมาแต่เก่าก่อนจึงเกิดศรัทธาขึ้นว่าจะต้องสร้างศาลเจ้าแม่กวนอิมนี้ขึ้นเพื่อบูชาและเป็นจุดหมายในการเดินเรือคล้ายกับเป็นประภาคารส่องแสงในยามค่ำคืนให้คนเรือได้มองเห็นเป็นจุดหมายในการเดินเรือได้ด้วย ซึ่งได้มาเจอสถานที่แห่งนี้เหมาะกับความฝันของเธอ จึงได้กลับไปกรุงเทพฯ แล้วรวบรวมเงินมาสร้างศาลเจ้าแม่กวนอิมนี้ขึ้น และสามารถสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2536ภายในบริเวณศาลเจ้า มีศาลาชมวิวอยู่แห่งหนึ่งสร้างเป็นเก๋งจีนสามหลังติดต่อกัน ภายในเก๋งจีนนี้มีระฆังและกลองแขวนไว้ให้คนที่มาเที่ยวชมได้ตีเพื่อความโชคดีและเป็นสิริมงคลกับชีวิต จึงเป็นที่นิยมกันว่าใครได้มาถึงที่นี่ก็จะต้อง มาตีกลองสามครั้งตีระฆังสามคราให้ดังกังวานที่สุด โดยที่ไม้ตีกลองนี้เขาจะแกะสลักเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยายจีนคล้ายปลาและมังกรผสมผสานกันทาด้วยสีทองซึ่งเป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล ส่วนบนหลังคาด้านซ้ายและด้านขวาของเก๋งจีน จะมีรูปปั้นมังกรทะยานฟ้าอยู่บนหลังคาสวยงามมากโดยเฉพาะในวันที่ท้องฟ้า สดใสและมีปุยเมฆ มองไปก็จะคล้ายมังกรสองตัวนี้กำาลังโลดแล่นทะยานอยู่บนฟ้าอย่างเริงร่า
ส่วนฟากตรงข้ามกับเก๋งจีนเป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งมีตำนานความเชื่อว่าท่านเคยเป็นเทพธิดามาก่อนแล้วจุติลงมายังโลกมนุษย์เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ภัยให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ด้วยพระเมตตาบารมีตามประวัติท่านทรงเป็นถึงพระราชธิดาของกษัตริย์ แต่ฝักใฝ่ในธรรมะมาตั้งแต่เยาว์วัย ไม่ว่าพระราชบิดาจะบังคับให้เลือกพระสวามีเพื่อจะได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป ท่านก็ไม่ยินยอม จนภายหลังท่านถูกคำสั่งพระราชบิดาให้ประหารชีวิต บุญบารมีก็ทำให้ท่านรอดพ้นภัยพิบัติทั้งหลายได้ทุกครั้ง ในที่สุดท่านก็ออกบวชและสำาเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด ด้วยคุณงามความดีของท่านจึงมีชาวพุทธจำนวนมากที่นับถือพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมและมักจะบูชาท่านด้วย การไม่รับประทานเนื้อสัตว์ตลอดชีวิตก็มี
สำหรับปางต่างๆของเจ้าแม่กวนอิมที่มีการสร้างรูปเคารพของท่านขึ้นมาเพื่อบูชานั้นกล่าวกันว่ามีถึง 84 ปาง เช่น ปางพระโพธิสัตว์พันเนตรพันกร ซึ่งหมายถึงอิทธิปาฏิหาริย์ในการที่ท่านจุติมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์โลกทั้งหลายให้พ้นทุกข์ ปางประทานพรที่มีทั้งนั่งขัดสมาธิเพชรและยืนประทานพร ซึ่งหมายถึง ความเป็นมงคล อายุมั่นขวัญยืนสุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ทั้งสองปางนี้เป็นปางที่มีผู้นิยมเคารพบูชากันมากที่สุด ซึ่งท่านสามารถมากราบไหว้บูชาได้ภายในศาลเจ้าแม่กวนอิม บ้านโฉลกหลำ แห่งนี้
ใกล้กับศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นที่ตั้งของ วัดป่าแสงธรรม ซึ่งมีอาณาเขตติดกันและมีความเป็นสัปปายะสงบร่มรื่นภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่น้อย วัดป่าแห่งนี้มีประวัติการก่อตั้งมาไม่ถึง 20 ปี ที่ผ่านมานี้เอง ในครั้งนั้นราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2527 มีพระภิกษุรูปหนึ่งกับสามเณรเดินทางมาปักกลดอยู่ในป่าช้าเก่าแก่บ้านโฉลกหลำ และต่อมามีเหตุต้องถูกย้ายออกจากป่าช้าแห่งนั้นท่านจึงเดินทางมุ่งหน้าจะไปยังท่าเรือเพื่อจะเดินทางกลับแผ่นดินใหญ่ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งศรัทธาในตัวท่านได้ขอร้องให้ท่านอยู่จำพรรษาที่บ้านโฉลกหลำนี้ต่อไป ซึ่งท่านได้พิจารณาเห็นชายป่ารกร้างแห่งหนึ่งบริเวณ ที่เป็นวัดป่าแสงธรรมนี้เป็นที่สัปปายะห่างไกลจากผู้คนท่านจึงตกลงใจยอมอยู่จำพรรษาที่นี่ ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านปักกลดอยู่ ณ ที่นั้น แล้วช่วยกันสร้างเสนาสนะขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการให้ท่านอยู่จำพรรษา จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนเป็นสำนักสงฆ์และเป็นวัดป่าแสงธรรมในปัจจุบัน โดยเป็นวัดธรรมยุติที่เคร่งครัดในการปฏิบัติภาวนาต่างๆ สถานที่นี้จึงเหมาะแก่ผู้ที่ต้องการความสงบและเข้าไปท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาหาความรู้ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมหรือท่องเที่ยวด้วยความสงบเท่านั้น
จากวัดป่าแสงธรรมหากเราเดินทางต่อไปก็จะเข้าเขตของบ้านมะเดื่อหวานซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม 1 ใน 3 แห่งของเกาะพะงันคู่กับชุมชนบ้านใต้และชุมชนบ้านลูกบ้านเก่า ที่อยู่แถบวัดบนหรือวัดสมัยคงคา ที่อยู่ห่างจากชายทะเล น่าสังเกตว่าชุมชนเหล่านี้ที่อยู่ห่างไกลจากชายทะเลด้วยเหตุว่าสมัยก่อนนั้นผู้คนคงอยู่กันอย่างสันโดษและมีอาชีพ ทำไร่หรือทำสวนมะพร้าวเป็นหลัก แถบนี้จึงยังเป็นสวนมะพร้าวอยู่มากและชาวบ้านส่วนหนึ่งยังมีอาชีพที่ผูกพันกับมะพร้าวมาจนทุกวันนี้คือ การทำามะพร้าวตากแห้งเพื่อส่งขายนำไปผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าว แต่ยังทำกันแบบครัวเรือนด้วยภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม สามารถเยี่ยมชมได้บริเวณด้านหลังโรงเรียนมะเดื่อหวานซึ่งยังมีชุมชนทำมะพร้าวแห้งอยู่แถบนั้น
นอกจากนั้นที่บ้านมะเดื่อหวานนี้ยังมีบ้านเก่า อายุ 93 ปีที่น่าสนใจอยู่แห่งหนึ่งที่ตั้งคือ บ้านเลขที่ 45 หมู่ 3 บ้านมะเดื่อหวาน ตำบลเกาะพะงัน เจ้าของบ้านคือคุณประพาส มะเดื่อหวาน เป็นปราชญ์ชาวบ้านผู้ยินดีให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นพะงันด้วยตัวเองเช่น เกร็ดความรู้เรื่องความเชื่อในการต่อเติมบ้านที่จะไม่เจาะสลัก เข้าไม้กับเสาเดิมเป็นต้น ส่วนที่วัดมธุรวรารามหรือวัดมะเดื่อหวาน เป็นวัดเก่าแก่คู่กับชุมชนมะเดื่อหวาน ภายในวัดมีพระสำคัญประดิษฐานอยู่ภายในมลฑปบนยอดเขา คือพระพุทธรูปหยกขาวหรือพระศิลายวง เป็นพระหินอ่อน สีขาวแบบพม่ามีแหล่งกำเนิดที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสหภาพพม่า มีพุทธลักษณะอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุ พระศิลายวงที่มีพุทธลักษณะ แบบนี้ในประเทศไทยพบอยู่ 4 แห่งคือ ที่วัดดอนแก้ว อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก วัดสำเร็จ อำเภอเกาะสมุย วัดอัมพวัน และวัดมะเดื่อหวาน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นี้เอง นอกจากนี้ภายในมลฑปยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำาลองอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพะงันอีกด้วย
ส่วนหมู่บ้านใกล้เคียงกันอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีวิถีชีวิตชุมชนที่น่าสนใจคือบ้านในสวน ซึ่งเป็นหมู่บ้านถัดมาจากบ้านมะเดื่อหวาน ที่บ้านในสวนนี้เป็นแหล่งผลิตผ้ามัดย้อมธรรมชาติ เพื่อส่งจำหน่ายแก่ร้านจำาหน่ายของที่ระลึก ทั้งบนเกาะพะงันและค้าส่งให้ร้านจำหน่ายของที่ระลึกทั่วไปในพื้นที่ภาคใตเป็นสินค้าทำด้วยมือจากธรรมชาติซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่ชาวต่างประเทศ มีให้เลือกทั้งผ้าผืนหลายขนาดผ้าที่เย็บสำเร็จเป็นเปล และเสื้อยืด เป็นต้น ติดต่อข้อมูลที่คุณ กีรติ เดี่ยววานิช โทร. 08 1979 6451 ใกล้กันกับแหล่งผ้ามัดย้อมนี้มีบ้านเก่าอายุ 100 ปี อยู่หลังหนึ่งรูปแบบบ้านเป็นแบบท้องถิ่นดั้งเดิม คือ บ้านเลขที่ 9 บ้านในสวน ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน เจ้าของบ้านคือคุณกุลฑล ทองนวล เป็นบ้านที่ใช้สลักไม้ยึดเสาเข้ามุม ใช้กระเบื้องว่าวมุงหลังคา สภาพโดยรวมยังสมบูรณ์มาก นับเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิตชุมชนที่ดีอีกแห่งหนึ่งในเรื่องของที่อยู่อาศัยของคนพะงันในอดีต