ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก
ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของเมืองไทยคือ “การชมวาฬ” ซึ่งต่อยอดมาจากการออกเรือไปดูนกน้ำ-นกทะเล ในบริเวณอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 หลังจากข่าวคราวของวาฬบรูด้าแพร่กระจายออกไปตามสื่อมวลชนต่างๆ ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลมายังชายฝั่งเพชรบุรี หวังจะชื่นชมยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทย กลายเป็นปรากฆการณ์บรูด้าฟีเวอร์ อันที่จริงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชมโลมาในประเทศไทยมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนัก เช่น โลมาอิรวดี ที่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โลมาหลังโหนก หรือโลมาสีชมพูที่อ่าวขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับนักท่องเที่ยวชมวาฬในเมืองไทยถือเป็นเรื่องใหม่ หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยก็มีวาฬ โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ซึ่งเป็นแหล่งที่พบวาฬบรูด้าเป็นประจำ ไม่น่าเชื่อว่าห่างจากชายฝั่งกรุงเทพมหานครเพียงไม่กี่กิโลเมตร เราก็สามารถพบวาฬบรูด้าตัวยาวกว่าสิบเมตรแหวกว่ายหากิน เรียกว่าแทบจะติดหลังบ้านคนกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ วาฬบรูด้ามีความน่าสนใจในตัวของมันเองอาจเรื่องขนาดอันใหญ่โตมโหฬาร แต่คนส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้พบ หากไปออกทะเลโอกาสพบเจอก็ต้องถือว่าง่าย ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวชมวาฬในต่างประเทศ ลักษณะของอ่าวไทยตอนใน (อ่าวตัว ก) อ่าวไทยตอนในมีลักษณะชายฝั่งคล้ายตัวอักษร ก ไก่ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยมีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน …