Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

เที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
เที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

เที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

อำเภอพบพระ เป็นอำเภอที่มีชายแดนติดกับสหภาพพม่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายตาก-แม่สอดถึงบริเวณกิโลเมตรที่ ๗๕ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๓๑-๓๒ เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๖ สายแมส่อด-พบพระ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ถึงอำเภอพบพระ ห่างทางจากตัวจังหวัด ประมาณ ๑๓๕ กิโลเมตร ก่อนที่จะมีการตัดทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๖ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมระหว่างอำเภอแม่สอด-พบพระ การคมนาคมมีความลำบากมาก เพราะอำเภอพบพระอยู่บนพื้นที่ราบสูงและได้รับลมมรสุมจากอ่าวเมาะตะมะทำให้บริเวณนี้มีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน วัดประมาณนํ้าฝนได้ ๒,๓๐๐-๓,๐๐๐ มิลลิเมตร เส้นทางการคมนาคมเดิมทีเป็นดินลูกรังสภาพเป็นโคลนตม ชาวบ้านจึงเรียกว่า ขี้เปรอะเพอะพะ มีความหมายว่า ขี้โคลนเปรอะเลอะเทอะ หมายความว่า ถ้าผู้ใดเดินทางผ่านไปแถบนี้ขาแข้งจะมีแต่ขี้เปรอะเพอะพะ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า บ้านเพอะพะ ต่อมาทางการเห็นว่าชื่อไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนเป็น พบพระ

นํ้าตกนางครวญ เดิมชื่อ นํ้าตกเพอะพะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นํ้าตกพบพระ และเปลี่ยนอีกครั้งมาเป็นชื่อ นํ้าตกนางครวญ เป็นนํ้าตกขนาดกลางไหลลดหลั่นลงไปเป็นชั้นเล็กๆ ท่ามกลางป่าร่มรื่น มีต้นนํ้ามาจากลำคลองริมท้องนาข้างทาง ต่อมาทางการได้ตัดถนนผ่านตัวนํ้าตกจึงแลดูเป็นนํ้าตกเล็กๆ ปัจจุบันอำเภอพบพระได้พัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ดูสวยงาม

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๑-๓๒ เลี้ยวขวาเข้าอำเภอพบพระ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๖ ที่อยู่ริมสะพานคอนกรีตด้านขวาบริเวณกิโลเมตรที่ ๑๒ ก่อนถึงอำเภอพบพระเล็กน้อย

อุทยานแห่งชาตินํ้าตกพาเจริญ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗ มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลช่องแคบตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ และตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด มีพื้นที่ ๕๓๔,๓๗๕ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน พื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๗๖๕ เมตร สภาพทั่วไปส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเขาสน และทุ่งดอกกระเจียว ซึ่งเป็นดอกไม้ป่าตามธรรมชาติ ลักษณะของดอกจะใหญ่มีสีส้มสด ออกดอกระหว่างเดือนกรกฏาคม-ตุลาคมของทุกปีบริเวณที่ทำการอุทยานฯ

สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ

นํ้าตกพาเจริญ เป็นนํ้าตกหินปูนที่เกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกับแหล่งนํ้าซับบนเขา แล้วไหลลงสู่เบื่องล่างเป็นชั้นนํ้าตกเล็กๆ นับรวมได้ถึง ๙๗ ชั้น มีนํ้าตลอดทั้งปีช่วงที่สวยงามคือช่วงฤดูฝน

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ สายแม่สอด-อุ้มผาง เลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ ๓๗ เข้าไปอีกประมาณ ๗๐๐ เมตร

บ่อนํ้าร้อนห้วยนํ้านัก เป็นบ่อนํ้าร้อนธรรมชาติ อุณหภูมิของนํ้าวัดได้ ๖๐ องศาเซลเซียส ปัจจุบันอำเภอพบพระได้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและศาลาพักผ่อนไว้ที่บริเวณบ่อนํ้าร้อน นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๖ สายพบพระ-บ้านช่องแคบแยกขวามือก่อนถึงอำเภอพบพระไปหมู่บ้านห้วยนํ้านัก

จุดชมวิวดอยเกี๊ยะ ตั้งอยู่ในเขตป่าแม่สอด หมู่ ๔ ตำบลพบพระ เป็นจุดสูงสุดชายแดนไทย-สหภาพพม่า สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๕๑๒ เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์บริเวณป่าของพม่าได้ บางส่วนเป็นสันเขา มีอากาศเย็นสบาย ในฤดูหนาวมีทะเลหมอกเหนือแม่นํ้าเมย ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย – สหภาพพม่า

นํ้าตกป่าหวาย  ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ สายแม่สอด-อุ้มผาง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๔๓ แยกซ้ายมือไปตามถนนเข้าหมู่บ้านประมาณ๒๐ กิโลเมตร เส้นทางคดเคี้ยว การเข้าชมนํ้าตกต้องเดินจากชั้นล่างของนํ้าตก ฝ่ากระแสนํ้าขึ้นไปเพื่อชมนํ้าตกชั้นบน จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ ๓๐ เมตร จะพบปล่องภูเขากว้างประมาณ ๑๐ เมตร ลึกลงไปใต้ดินยังไม่มีการสำรวจความลึก มีนํ้าไหลลงสู่ปล่องแล้วหายไปในบริเวณใต้ภูเขา นํ้าตกป่าหวายเกิดจากลำห้วยป่าหวายมีนํ้าตลอดปี บริเวณโดย รอบมีไม้หวายเป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาของชื่อนํ้าตก

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ สายพบพระ-อุ้มผาง เลี้ยวซ้ายก่อนถึงกิโลเมตรที่ ๔๒ เข้าไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน ๒ หลัง และลานกางเต็นท์พักแรมแต่ต้องนำอุปกรณ์มาเอง ติดต่อรายละเอียดได้ที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพาเจริญ กิโลเมตรที่ ๓๗ หมู่ ๖ ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ๖๓๑๖๐ โทร. ๐๘ ๙๘๓๙ ๕๘๔๘ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐-๒ www.dnp.go.th

การเดินทาง อุทยานฯ ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ สายแม่สอด-อุ้มผาง ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๗ มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ ๗๐๐ เมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *