Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

พระราชวังบางปะอิน
พระราชวังบางปะอิน

พระราชวังบางปะอิน อยู่ห่างจากเกาะเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นผู้สร้างพระราชวังแห่งนี้ เนื่องจากบริเวณเกาะบางปะอินเป็นที่ประสูติของพระองค์และเป็นเคหสถานเดิมของพระมารดาซึ่งเป็นหญิงชาวบ้านที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพบเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งแล้วเรือเกิดล่มตรงเกาะบางปะอิน พระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นบนเกาะบางปะอินบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดาในปีพ.ศ.๒๑๗๕ พระราชทานชื่อว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นกลางเกาะเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งที่ริมสระน้ำนั้นพระราชทานนามว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

พระราชวังบางปะอินได้รับการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายในและมีพลับพลาริมน้ำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับและต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่างๆเป็นครั้งคราว พระราชวังบางปะอินแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ เขตพระราชฐานชั้นนอกและ เขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกใช้เป็นที่สำหรับการออก มหาสมาคมและพระราชพิธีต่างๆ ส่วนเขตพระราชฐานชั้นในใช้เป็น ที่ประทับส่วนพระองค์

สิ่งที่น่าสนใจในเขตพระราชวังชั้นนอกของพระราชวังบางปะอินมีดังนี้

หอเหมมณเฑียรเทวราช เป็นปรางค์ศิลาจำลองแบบจากปรางค์ขอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททองกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงทรงจตุรมุขอยู่กลาง สระน้ำ รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๑๙ โดยจำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯและพระราชทานนาม “ไอศวรรย์ทิพยอาสน์” ตามพระที่นั่งองค์แรกซึ่งพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เดิมพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ทั้งองค์ ต่อมารัชกาล ที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเสาและพื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน อยู่ทางตอนเหนือของ “สะพำนเสด็จ” รัชกาลที่ ๕  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๑๙ เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้นใช้เป็นที่ตั้งประทับและท้องพระโรงร่วมกันต่อมาโปรดเกล้าฯให้รื้อสร้างใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่อด้วยอิฐ ทรงวิหารกรีกแบบคอรินเธียรออร์เดอร์ มีมุขตอนหน้า ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางในงานพระราชพิธี และเคยเป็นที่รับรองแขกเมืองหลายครั้ง สิ่งที่น่าชมภายในพระที่นั่งวโรภาษพิมานได้แก่ อาวุธโบราณ ตุ๊กตาหินสลักด้วยฝีมือประณีตและภาพเขียนสีน้ำมันเป็นเรื่องราวภาพชุดพระราชพงศาวดาร อีกทั้งภาพวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา พระอภัยมณี สังข์ทอง และจันทรโครพ ตลอดจนเป็นที่เก็บเครื่องราชบรรณาการต่างๆ

สภาคารราชประยูร  เป็นตึกสองชั้นริมน้ำ ตรงข้ามพระที่นั่งวโรภาษพิมาน สร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๒๒ ในรัชกาลที่ ๕ สำหรับใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้าและข้าราชบริพารส่วนเขตพระราชฐานชั้นในเชื่อมต่อกับเขตพระราชฐานชั้นนอกด้วยสะพานที่เชื่อมจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไลซึ่งเป็นประตูทางเข้าพระราชฐาน สะพานนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีแนวฉากคล้ายบานเกล็ดกั้นกลางตลอดแนวสะพานเพื่อแบ่งเป็นทางเดินของฝ่ายหน้าด้านหนึ่งและฝ่ายในอีกด้านหนึ่งซึ่งฝ่ายในสามารถมองลอดออกมาโดยตัวเองไม่ถูกแลเห็น บริเวณพระราชฐานชั้นในประกอบด้วยที่ประทับ พลับพลาและศาลาต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจได้แก่

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร อยู่ทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับสระน้ำ เป็นพระที่นั่งเรือนไม้ สองชั้นตามแบบชาเลต์ของสวิส คือมีเฉลียงชั้นบนและชั้นล่าง ทาสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่สลับกัน ภายในประดับตกแต่งด้วยเครื่องเรือนไม้มะฮอกกานีจัดสลับลายทองทับที่สั่งจากยุโรปทั้งสิ้น นอกนั้นเป็นสิ่งของหายากในประเทศอันเป็นเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาเขตรอบๆ มีสวนดอกไม้สวยงาม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรได้เกิดเพลิงไหม้ขณะที่มีการซ่อมแซมเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ทำให้พระที่นั่งเสียหายไปกับกองเพลิงหมดสิ้น ทั้งองค์คงเหลือแต่หอน้ำลักษณะคล้ายหอรบของยุโรปเท่านั้น ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ สำนักพระราชวังได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมทุกประการแต่เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นอาคารคอนกรีตแทน

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระที่นั่งองค์นี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า “เทียน เม่ง  เต้ย” (เทียน=เวหา, เม่ง=จำรูญ, เต้ย=พระที่นั่ง) พระยาโชดึกราชเศรษฐี(ฟัก)เป็นนายงานสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ.๒๔๓๒ เพื่อเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับในฤดูหนาว พระที่นั่งนี้เคยใช้เป็นที่รับรองเจ้านายต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนมีลวดลายแกะสลักงดงามวิจิตรยิ่ง โถงด้านหน้า ปูด้วยกระเบื้องแบบกังไสเขียนด้วยมือทุกชิ้น

เก๋งบุปผาประพาส เป็นตำหนักเก๋งเล็กอยู่กลางสวนริมสระน้ำในเขตพระราชวังชั้นใน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔

หอวิฑูรทัศนา เป็นพระที่นั่งหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะน้อยในสวนเขตพระราชวังชั้นใน ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรกับพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นพระที่นั่ง ๓ ชั้น มีบันไดเวียน เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศบ้านเมืองโดยรอบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือเรียกเป็นสามัญว่า อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ก่อสร้างด้วยหินอ่อนก่อเป็นแท่ง ๖ เหลี่ยม สูง ๓ เมตร บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

อนุสาวรีย์พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์และเจ้าฟ้าสาม พระองค์หรืออนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ในปีพ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงสูญเสียพระอัครชายาเธอฯ พระราชโอรส และพระราชธิดาถึง ๓ พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐ พระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๐ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๐ ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๓๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

พระราชวังบางปะอิน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. (เปิดจำหน่ายบัตร ๐๘.๐๐-๑๕.๓๐ น.) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก นักเรียน นิสิตนักศึกษา (ในเครื่องแบบ ต้องมีบัตรประจำตัวนักศึกษา) ๒๐ บาท พระภิกษุ สามเณร ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักพระราชวังบางปะอิน โทร. ๐ ๓๕๒๖ ๑๐๔๔, ๐ ๓๕๒๖ ๑๕๔๙, ๐ ๓๕๒๖ ๑๖๗๓

การเดินทาง      

รถยนต์   จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นถนนพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์แล้วให้ข้ามสะพานวงแหวนรอบนอกจะมีทางแยกโดยให้เลี้ยวซ้ายประมาณบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๕ ไปพระราชวังบางปะอินเป็นระยะทางประมาณ ๗  กิโลเมตร หรือจะผ่านเข้ามายังตัวเมืองอยุธยาพอมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายโดยผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิงตัวอำเภอบางปะอินพอมาถึงสถานีรถไฟบางปะอินแล้วให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางจนถึงพระราชวังบางปะอิน

รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศกรุงเทพฯ-บางปะอิน ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร ๒ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดโทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ สถานีขนส่งอยุธยา โทร. ๐ ๓๕๓๓ ๕๓๐๔ หรือบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร ๑๔๙๐ www.transport.co.th

รถไฟ สามารถขึ้นรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมาสถานีรถไฟอำเภอ บางปะอิน จากนั้นต่อรถสองแถว รถสามล้อเครื่อง หรือรถจักรยานยนต์ไปยังพระราชวังบางปะอิน สอบถามรายละเอียดโทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๐ ๔๓๓๔, ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ สถานีรถไฟอยุธยา โทร. ๐ ๓๕๒๔ ๑๕๒๐ หรือ www.railway.co.th

วัดนิเวศธรรมประวัติ
วัดนิเวศธรรมประวัติ

วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน หลังจากเที่ยวชมพระราชวังบางปะอิน นักท่องเที่ยวสามารถนั่งกระเช้าข้ามแม่น้ำไปเยี่ยมชมวัดนี้ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างวัดนี้เมื่อพ.ศ.๒๔๑๙ เพื่อใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ขณะเสด็จประทับที่พระราชวังบางปะอิน วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีการตกแต่งเป็นแบบตะวันตกพระอุโบสถคล้ายกับโบสถ์ฝรั่งในศาสนาคริสต์ มีหลังคายอดแหลมและช่องหน้าต่างเจาะโค้งแบบโกธิค ผนังอุโบสถเหนือหน้าต่างด้านหน้าพระประธานประดับกระจกสีเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส”ทำเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์คริสต์ศาสนา ด้านขวามือของพระอุโบสถนั้นมีหอประดิษฐานพระคันธารราฐซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางขอฝน ตรงข้ามกับหอพระคันธารราฐเป็นหอประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่ปางนาคปรกอันเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี ฝีมือช่างขอมอายุเก่านับพันปี พระนาคปรกนี้อยู่ติดกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งไปทั่วบริเวณหน้าพระอุโบสถ ถัดไปไม่ไกลนักมีสวนหิน   “ดิศกุลอนุสรณ์”  ซึ่งรวบรวมหินชนิดต่างๆ เช่น หินปูน หินทราย หินกรวด หินชนวน และยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีอัฐิของเจ้านายราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์

วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร อยู่บริเวณหัวเกาะตรงสะพานข้ามไปยังสถานีรถไฟบางปะอิน ตำบลบางเลน ด้านเหนือติดกับพระราชวังบางปะอิน ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๑๗๕ บริเวณเคหสถานเดิมของพระราชชนนีของพระองค์ ต่อมาขุนหลวงท้ายสระซึ่งผนวชอยู่ที่วัดโคกแสงได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์ในครั้งกระนั้น และต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพ.ศ.๒๔๐๖ ดังมีพระกระแสพระราชปรารภอยู่ในศิลาจารึกซึ่งติดอยู่ที่พระเจดีย์ทั้งสององค์หลัง พระอุโบสถ (แต่ปัจจุบันอ่ำนไม่ออกเพรำะลบเลือน) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ ทรงซ่อมพระอุโบสถและพระวิหารพระประธานปูนปั้นหินทรายในพระอุโบสถทั้ง ๗ พระองค์และมีพระประวัติจารึกแผ่นศิลาติดอยู่ตามผนังพระอุโบสถด้วยทุกพระองค์ ในพระอุโบสถมีภาพเขียนพระพุทธประวัติ หอระฆังด้านใต้พระอุโบสถมีระฆังขนาดใหญ่และเสียงดังมาก

วัดลาดระโหง (ศูนย์วิปัสสนาภาษาอังกฤษ) ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดยม เป็นวัดที่มีพระอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในการสอนฝึกสมาธิวิปัสสนาแก่ชาวต่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา เป็นเวลานานหลายปี โดยมีการฝึกสมาธิทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พระครูเกษมวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดลาดระโหง โทร. ๐ ๓๕๒๕ ๕๐๐๐, ๐๘ ๑๘๕๒ ๙๐๐๕

ตลาดโก้งโค้ง ตั้งอยู่หมู่ ๕ ถนนบางปะอิน-วัดพนัญเชิง (ติดวัดบ้านเลน) ตำบลขนอนหลวง ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณ “บ้านแสงโสม” (ลักษณะเป็นบ้านเรือนไทยหมู่ใหญ่ คงความเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ) เป็นตลาดโบราณย้อนยุค คำว่า“ตลาดโก้งโค้ง” เป็นคำที่ใช้เรียกตลาดในสมัยโบราณ ที่คนนั่งขายสินค้าจะนั่งอยู่บนพื้น คนที่มาซื้อจะต้องโก้งโค้งเลือกดูสินค้าที่ตนสนใจ สถานที่แห่งนี้ในอดีตกาลเป็นด่านขนอน(ด่านเก็บภาษีในสมัยนั้น) และเป็นสถานที่ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดทั้งที่เป็นสินค้าชุมชนและสินค้าที่มาจากต่างเมือง ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาสัมผัสบรรยากาศเก่าๆแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา พบวิถีชีวิตไทยในอดีต มีการจัดจำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษจากสวน สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งอาหารคาว หวาน นานาชนิด พ่อค้า แม่ค้าแต่งกายย้อนยุค นอกจากนี้ในช่วงเช้าก่อนเปิดตลาด พ่อค้า แม่ค้า จะมีพิธีรำวงถวายพ่อปู่โสม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณตลาดแห่งนี้ ตลาดแห่งนี้จะเปิดทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ อังคาร สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณ นภาพร เวชพฤกพิทักษ์ (บ้านแสงโสม) โทร. ๐ ๓๕๗๒ ๘๒๘๖, ๐๘ ๙๑๐๗ ๘๔๔๓

ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกิด สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ให้ก่อสร้างศูนย์ศิลปาชีพแห่งใหม่ ในเขตพื้นที่ตำบลเกาะเกิด และได้มอบแนวทางการดำเนินโครงการศิลปาชีพเกาะเกิด โดยให้ใช้เงินของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดซื้อผลงานที่เกษตรกรจัดทำขึ้น เพื่อช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีกิจกรรมศิลปาชีพควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมทำให้เกษตรกรไม่ละทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพอื่นในยุคที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีพระราชประสงค์เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทย และเป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมของทุกภาคจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ อาคารจัดแสดงและสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โรงฝึกงานและแผนกต่างๆ หมู่บ้านศิลปาชีพ ๔ ภาค ในปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่โครงการมากขึ้นเป็น งบประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ มีการจัดงานด้านการเกษตร ได้แก่ พืชสวนครัว ไม้ผล การเลี้ยงสัตว์ การประมง การทำนา

๑.     พืชสวนครัว โดยทำการปลูกพืชหมุนเวียนหลายชนิด ส่งจำหน่ายที่พระตำหนักจิตรลดาฯ ร้านพระดาบส ตลาดในหมู่บ้าน มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อยู่ด้านหน้าโครงการ จัดตั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและทำการคัดเลือกเกษตรกรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเข้ารับการอบรมให้ความรู้ด้านเกษตรต่างๆ เช่นพืชไร่ พืชสวน ผักสวนครัว ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องปุ๋ย ยาเคมี ปุ๋ยชีวภาพ เสริมสร้างความคิดด้านการทำกิน

๒.     ไม้ผล มีการปลูกไม้ผลหลายชนิด ได้แก่ มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม ขนุน ชมพู่ และทำสวนผลไม้ กล้วย กระท้อน ส้ม ทุเรียน ทับทิม

๓.     การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สัตว์ปีก เป็ดอี้เหลียง เป็ดเทศ ไก่ป่า ไก่พันธุ์เนื้อ ไก่พันธุ์ไข่ นกกระจอกเทศ นกยูง กระบือ

๔.     การประมง มีแผนงานการเลี้ยงปลาพืชสาธิต การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศ การเลี้ยงปลาแรดในกระชัง การเลี้ยงปลาใน ร่องสวน การปล่อยปลาเพื่อการอนุรักษ์ การเลี้ยงปลาตะเพียนขาว หมู่บ้านประมงปลานิล

๕.     การทำนา โดยศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิตมีแผนงานปลูกข้าว จำนวน ๒๖๐ ไร่

เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จเยี่ยมโครงการศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ทรงนับเป็น พระมหากรุณาธิคุณแก่คณะทำงานฯ และพสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างหาที่สุดมิได้ การเสด็จครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๒ ที่ทรงเสด็จเยี่ยมโครงการฯ หลังจากเคยเสด็จครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๘ การเสด็จครั้งนี้เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลื้มพระทัยที่ทรงทราบว่างานต่างๆ เป็นไปตามพระราชเสาวนีย์ และทรงรับสั่งว่า “ฉันจะกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าได้ประสบความสำเร็จแล้ว”

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *