Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

วัดคูหาสวรรค์
วัดคูหาสวรรค์

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือที่เรียกกันว่า “พระสี่มุมเมือง” เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ และปูชนียวัตถุคู่เมืองของพัทลุง ประดิษฐาน อยู่ภายในศาลาจตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาล จังหวัดพัทลุง เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางสมาธิ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

วัดคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่เชิงเขาคูหาสวรรค์ ใกล้ๆ ตัวตลาดพัทลุง เป็นโบราณสถาน ที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๓-๑๕ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่พระเจดีย์ พระพุทธรูป และยังพบพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย บริเวณหน้าถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธย ย่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี ถ้ำนางคลอด ซึ่งภายในถ้ำตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นเกี่ยวกับเรื่องราวพื้นบ้าน อีกด้วย

หอโพนมงคล หอโพนมงคล ๙ ลูก ได้ติดตั้งตามจุดสำคัญๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง เพื่อจะสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษชาวพัทลุง ประกอบด้วย

จุดที่ ๑ วัดอินทราวาส (วัดท่ามิหรา) ถนนราเมศวร์ โพนก้องฟ้า

จุดที่ ๒ สวนกาญจนาภิเษก ถนนราเมศวร์ โพนพสุธาสนั่น

จุดที่ ๓ หน้าพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ถนนราเมศวร์ โพนขวัญเมือง

จุดที่ ๔ สวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติ ๘o พรรษา ถนนคูหาสวรรค์โพนเรืองเดชา

จุดที่ ๕ ลานหน้าเขาวังเนียง ถนนทัณฑ์บำรุง โพนมหามงคล

จุดที่ ๖ ศูนย์ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ถนนวีรศักดิ์ราษฎร์พัฒนา โพนมนต์เทวัญ

จุดที่ ๗ สวนเฉลิมพระเกียรติ ร. ๙ ถนนราเมศวร์ โพนอนันตชัย

จุดที่ ๘ ถ้ำมาลัยเทพนิมิต โพนพิธิตไพรี

และจุดที่ ๙ หาดแสนสุขลำปำ

ถนนอภัยบริรักษ์ โพนศรีไพศาล การตีโพนแต่ละลูกในแต่ละจุดนั้นต่างมีความหมายเฉพาะอันหลากหลาย ทว่ามีจุดร่วมที่สำคัญเหมือนกันคือเป็นนัยสื่อถึงความเป็นสิริมงคลต่อผู้ตีด้วย

เขาอกทะลุ จากวัดคูหาสวรรค์ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ จะพบเขาอกทะลุ ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านตะวันออกของสถานีรถไฟ เขาอกทะลุ เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง มีความสูงประมาณ ๒๕๐ เมตร มีบันไดสำหรับขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้ ลักษณะพิเศษของ ภูเขาลูกนี้คือ มีโพรงทะลุมองเห็นอีกด้านหนึ่ง อยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขา

วัดวัง อยู่ตำบลลำปํา ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ ประมาณ ๖ กิโลเมตร (ใช้เส้นทางเดียวกับเขาอกทะลุ) เป็นปูชนียสถานที่ สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาได้สร้างขึ้นใหม่โดยพระยาพัทลุง (ทองขาว) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเคยเป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาเมื่อย้ายเมืองพัทลุงไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ วัดวัง ก็ชำรุดทรุดโทรมลง และได้มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สิ่งสำคัญ ของวัดวังคือ พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา ด้านหน้ามีมุขเด็จยื่นออกมาภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ กล่าวกันว่าเป็นฝีมือช่างคณะเดียวกับที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังใน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และเทพชุมนุม บริเวณระเบียงคดโดยรอบมีพระพุทธรูปปูนปั้น ๑๐๘ องค์ นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ วิหารและธรรมาสน์ลายทองสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับพระอุโบสถ เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมไทย

วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า – วังใหม่) ตั้งอยู่ใกล้กับวัดวัง เดิมเป็นที่ว่าราชการ และเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่งคือ วังเก่า สร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการ ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระ บุตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิต พิพิธภักดี (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาพัทลุงซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันทายาทตระกูล “จันทโรจวงศ์” ได้มอบวังนี้ให้เป็นสมบัติของชาติและกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน วังเก่า เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และวังใหม่ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. และ ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เสียค่าเข้าชมคนไทย ๕ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท

หาดแสนสุขลำปำ
หาดแสนสุขลำปำ

หาดแสนสุขลำปำ อยู่เลยวัดวังไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ อีกประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีทิวสนร่มรื่นริมฝั่งทะเลสาบสงขลา มีศาลากลางน้ำ ชื่อ “ศาลาลำปำที่รัก” สำหรับชมทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบ และจากบริเวณชายหาดมีสะพานเชื่อมไปยังเกาะลอย ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากน้ำลำปำ

อนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ (ช่วย) ประดิษฐานอยู่ที่สามแยกท่ามิหรำ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ตามประวัติกล่าวว่าพระยาทุกขราษฎร์ เดิมเป็นพระชื่อพระมหาช่วย จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นเกิดสงคราม ๙ ทัพ พระมหาช่วยได้ช่วยพระยาพัทลุงนำชาวบ้านเข้าต่อต้านกองทัพพม่าจนแตกพ่าย ต่อมาจึงลาสิกขาบทแล้วได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทำราชการเมืองพัทลุง มีตำแหน่ง “พระยา” เทียบเท่าเจ้าเมือง

ศูนย์รวมหัตถกรรมกะลามะพร้าว เมืองพัทลุง อยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลชัยบุรี ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางที่แยกไสยวน ประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลาที่มีชื่อเสียง จนได้ชื่อว่า “หมู่บ้านกะลาเงินล้าน” จากแนวความคิดของนายปลื้ม ชูคง ผู้นำชุมชนเป็นผู้ริเริ่มโดยมีการนำกะลามะพร้าวมาออกแบบเป็นภาชนะสำหรับใช้ในครัวเรือนเครื่องประดับ เช่น ช้อน ถ้วยกาแฟ ถ้วยน้ำ กระบวยตักน้ำ ทัพพี โคมไฟและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนใจชมวิถีชีวิตชาวบ้าน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อ นายปลื้ม ชูคง โทร. ๐ ๗๔๖๑ ๔๕๑๒, ๐๘ ๖๒๘๗ ๒๕๔๒

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *