Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

เหลาศิวลึงค์เหลาศิวลึงค์
ถ้ำลอดเหนือ
ถ้ำลอดเหนือ

ถ้ำลอดใต้ ปากทางเข้าจะเป็นโพรงถ้ำ 2 โพรง ที่สามารถพายคายักลอดเข้าไปด้านในสู่ลากูน หรือทะเลในขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยหน้าผาภูเขาหินปูนสูงตระการตา การพายคายักเข้าไปเที่ยวในลากูนถ้ำลอดใต้นี้สามารถทำได้ตลอดทั้งช่วงน้ำชึ้นและน้ำลง ส่วนถ้ำลอดเหนือ ลักษณะจะเป็นโพลงถ้ำขนาดใหญ่ที่มีลำคลองไหลทะลุทั้งสองด้าน ตลอดแนวของถ้ำลอดงดงามด้วยหินงอกหินย้อยเป็นระยะ โดยเฉพาะบริเวณด้านปากถ้ำทั้งสองด้าน สำหรับเรือคายักสามารถพายได้ตลอดเวลา ส่วนเรือหัวโทงจะแล่นผ่านได้เฉพาะในช่วงเวลาน้ำลงเท่านั้น เนื่องจากเวลาน้ำขึ้น หัวเรืออาจจะสูงจนไปชนกับเพดานถ้ำที่มีหินย้อยลงมา จึงไม่สามารถเข้าไปเที่ยวชมในถ้ำได้

สำหรับถ้ำผีหัวโต นั้น อยู่ถัดไปไม่ไกลจากถ้ำลอดเหนือ ลักษณะเป็นถ้ำที่ทะลุได้สองด้าน แต่ไม่มีน้ำไหลลอด ภายในห้องโถงกว้างใหญ่ของถ้ำมีภาพเขียนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ตามฝาผนังถ้ำนับร้อยภาพสันนิษฐานว่ามีอายุราว 2,000-3,000 ปี ภาพเขียนที่โด่งดังที่สุดและทุกคนต้องมาหยุดดูคือภาพเขียนรูปคนใส่หมวกทรงสูง หรือคนที่มีหัวเป็นสัตว์ทีเขา คล้ายมนุษย์ต่างดาว เขียนด้วยสีแดงทั้งตัว และภาพมือคนสองข้างที่ทาบไว้บนเพดานถ้ำ ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมือข้างหนึ่งมีนิ้วถึง 6 นิ้ว ส่วนอีกข้างหนึ่งมี 5 นิ้วปกติ นอกจากนั้นยังมีภาพเขียนที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นภาพนกฟินิกซ์และภาพปลา เป็นต้น

หน้าผากระโหลกผี
หน้าผากระโหลกผี

นอกจากนี้แล้วเส้นทางท่องเที่ยวของอำเภออ่าวลึกที่เปิดใหม่ หากแต่ต้องล่องเรือออกไปเที่ยวทางทะเบก็มีความโดดเด่นและน่าเดินทางไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ อย่างกลุ่มภาพเขียนตามเพิงผาถ้ำกลางทะเลต่างๆ อ่าวที่สวยงามเงียบสงบและเป็นธรรมชาติ รวมทั้งหน้าผาหิน ถ้ำธรรมชาติ สันทรายกลางทะเล มุมมองพระอาทิตย์ตก แหล่งพายเรือคายัก หุบผาปีศาจอันน่าอัศจรรย์ และผืนป่าโกงกางอันบริสุทธิ์รวมทั้งเกาะกลางทะเลที่มีรูปร่างแปลกตา ทั้งหมดนี้จะอยู่ในอาณาบริเวณของบ้านแหลมสักและบ้านควนโอ ซึ่งมีแหลมสักและแหลมกาโรสที่ยืนต่อจากแผ่นดินใหญ่ลงไปในทะเลเป็นแนวเหนือใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

แหลมสัก นั้น การเดินทางท่องเที่ยวจะเริ่มจากกท่าเรือแหลมสัก ที่สามารถเดินทางจากตัวเมืองอ่าวลึกมาถึงได้ตามทางหลวงหมายเลข 4039 ระยะทางราว 18 กิโลเมตร สามาถใช้เรือหัวโทงเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก ฤดูท่องเที่ยวที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่างเดินพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแหลมสักนั้น เป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล แต่มีช่องเขาที่ถูกตัดขาดด้วยน้ำทะเลอยู่สองช่อง คือ ช่องหลาดเหนือ และ ช่องหลาดใต้ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะอยู่ระหว่างช่องเขาเหล่านี้

จากท่าเรือแหลมสัก จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจกลุ่มแรกจะเริ่มจาก ถ้ำชาวเล แหลมชาวเล และ เสาหินบอนไซ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกัน ถ้ำชาวเลเป็นเพิงถ้ำที่ยามน้ำลดจะมีหาดทรายเล็กๆ ให้เดินได้และสามารถมองออกมาภายนอกสวยงาม ส่วนแหลมชาวเลจะเป็นเพิงผาที่สามารถหลบลมและฝนได้ดี มองออกไปจะเห็นเสาหินบอนไซอยู่ไม่ไกล เสาหินบอนไซนี้เป็นแท่งหินนี้จะพากันเปลี่ยนสีและทิ้งใบเหลือแต่กิ่งก้าน แลดูคล้ายกับต้นบอนไซขึ้นอยู่เต็มไปหมด ดูแปลกตาน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก และเป็นจุดพายคายักที่ดีแห่งหนึ่ง

เหลาศิวลึงค์
เหลาศิวลึงค์

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มช่องหลอดเหนือทางด้านบนสุด มี เสาหินเหล็กโคน คล้ายเกาะตาปูของอ่าวพังงา เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สรรสร้าง บริเวณนี้จะคล้ายลากูนขนาดใหญ่แวดล้อมด้วยเพิงผาถ้ำทะเลใกล้กับ แหลมไฟไหม้ มีหินย้อยลงมาหน้าเพิงผาสวยงามมาก เป็นจุดพายคายักและจุดชมพระอาทิตย์ตกกลางอ่าวพังงาที่สวยงามที่สุด ส่วนปลายสุดด้านเหนือจะเป็นแหลมไฟไหม้ ท่มีความน่าสนใจอยู่ที่เพิงตะพักบนหน้าผาลักาณะคล้ายเพิงพักเล็กๆ ซึ่งมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปคนอยู่บนนั้น สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาแล้ว

แหลมไฟไหม้
แหลมไฟไหม้

ย้อนลงมาทางด้านช่องหลอดใต้จะมี อ่าวต้นเหนา ที่มีกระชังปลาของชาวบ้านเรียงรายอยู่ในเวิ้งอ่าวเงียบสงบ ที่นี่มีแพพักแบบธรรมชาติอยู่แห่งหนึ่ง เป็นของเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวอ่าวลึก ทุกเช้าเย็นมักจะได้พบนกเงือกบินไปมาอยู่บ่อยๆ และไม่ไกลจากแพพักมีโขดหินอยู่แห่งหนึ่งรูปร่างเหมือนกับหัวพญานาค ดูแปลกตา และทางด้านตะวันออกของช่องหลาดใต้ หากได้ไปในวันเวลาที่เหมาะสม คือช่วงน้ำใหญ่ จาก 13 ค่ำไปถึง 6 ค่ำ ก็จะได้เห็น สันทรายกลางทะเล และโขดหินแห่งหนึ่งโผล่ขึ้นมา มีสัณฐานคล้ายแผนที่ประเทสไทยอีกด้วย

ต่อลงไปอีกทางตอนใต้จะมีเพิงผาที่น่าอัศจรรย์ยิ่งอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ผาค้อม ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลสูงสุดไม่มากนัก เพิงผาแห่งนี้มีความยาวราว 100 เมตร สามารถเดินติดต่อถึงกันได้ แต่เนื่องจากเพดานของเพิงผานี้ค่อนข้างต่ำ เวลาเดินจึงต้องค้อมตัวหรือก้มหัวเดิน อันเป็นที่มาของชื่อผาค้อม ทิวทัศน์ที่สวยงามของผาค้อมคือการเข้าไปยู่ใต้เพิงผาแล้วมองออกสู่ท้องทะเล จะเห็นม่านหินย้อยระโยงระยางเป็นช่องหน้าต่างที่สวยงามยิ่งนัก โดยเฉพาะเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อมองจากด้านในของเพิงผาจะมีช่องทางแคบๆ อยู่แห่งหนึ่ง สามารถเดินทะลุไปสู่ด้านหลังได้ จะพบสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างน่าอัศจรรย์ คือลากูนขนาดใหญ่ที่น้ำทะเลถ่ายเทไหลเข้ามาได้ โดยเฉพาะวันน้ำใหญ่ที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ด้านในนี้ก็จะกลายสภาพเป็นทะเลสาบสีเขียวมรกตงดงามยิ่งนัก

ถ้ำผ้าม่าน
ถ้ำผ้าม่าน

รูปแบบของการท่องเที่ยวแหลมสักจะไปจบที่การเดินทางไปยัง อ่าวชิ้งชั้ง ที่อยู่ในบริเวณช่องหลอดใต้พอดี แต่วกเข้าไปเล็กน้อยทางด้านตะวันตก ที่นี่มีอ่าวเงียบสงบอยู่แห่งหนึ่ง สามารถเล่นน้ำได้ดี และหากปีนขึ้นไปบนเขาหินปูนด้านหลังอ่าวไม่ไกลนัก จะเป็นที่ตั้งของถ้ำผ้าม่าน ถ้ำสวยงามอีกป่งหนึ่งซึ่งมีความน่าอัศจรรย์ซ่อนอยู่ คือหินรูปน้อยหน่าที่พบอยู่มายมายเกลื่อนถ้ำ

นอกจากนี้ในเขตอำเภออ่าวลึกทางทะเลนี้ยังมีกลุ่มเกาะขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวสู่เกาะห้องที่อยู่ในเขตเภอเมืองกระบี่ อีกแห่งหนึ่ง คือ เหลาโละติโละ ที่มีสัณฐานคล้ายกับแท่งศิวลึงค์ตั้งตระหง่านอยู่กลางทะเล นับเป็นประติมากรรมหินผาที่น่าอัศจรรย์อีกแห่งหนึ่ง และเป็นจุดที่น่าสนใจในการพายคายักอย่างยิ่ง การเดินทางท่องเที่ยวเขตแหลมสักนี้ใช้เวลาท่องเที่ยวโดยทั่วไปประมาณ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย สามารถติดต่อเช่าเรือนำเที่ยวพร้อมคนนำทางได้ที่ศูนย์ข้อมูลและบริการนักท่องเที่ยว เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนอ่าวลึก

เหลาศิวลึงค์
เหลาศิวลึงค์

สำหรับแหลมกาโรส การเดินทางจะเริ่มต้นที่ท่าเรือควนโอซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภออ่าวลึกราว 20 กิโลเมตร โดยเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 ไปทางอำเภอเมืองกระบี่ จนถึงบ้านบากัน แล้วแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1010 ไปราว 4 กิโลเมตร แยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4011 อีกราว 3 กิโลเมตร ก็จะพบศูนย์ข้อมูลและบริการนักท่องเที่ยวเขากาโรสและท่าเรือควนโอ สามารถลงเรือได้ทั้งที่ท่าเรือเก่าและท่าเรือใหม่ โดยที่ท่าเรือใหม่สามารถลงเรือได้ตลอดเวลา ไม่ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง

กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของแหลมกาโรสจะอยู่ที่บริเวณ คลองเลียบเขา คลองลอดเขา และ คลองสาย คลองเลียบเขามีจุดชมภาพเขียนสีโบราณบนหน้าผา และคลองลอดเขามีลากูนอยู่ด้านใน ส่วนคลองสายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าอัศจรรย์ที่สุดในแถบนี้ ด้วยปากคลองมีหน้าผาขนาดใหญ่อยุ่แห่งหนึ่ง มีโพรงถ้ำอยู่หลายแห่ง บางแห่งสามารถทะลุออกมาสู่คลองกาโรสได้ เป็นที่มาของ หน้าต่างมนุษย์ถ้ำ ซึ่งเรียกขานกัน และเมื่อล่องเรือผ่านช่องเขาแคบๆ เข้าไปด้านในที่เรียกว่า หุบเขาปีศาจกาโรส ก็จะได้พบสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง ตั้งแต่หินรูปแม่มดที่เฝ้าปากทางเข้า ผีตาโขนที่อยู่บนหน้าผาสูงชัน และที่สำคัญคือหน้าผาปีศาจที่เหมือนหัวกะโหลกตั้งตระหง่านอยู่ถัดไป ยามเมื่อแสงแดดเปลี่ยนทิศทางก็อาจมองเห็นเป็นหน้าผีเศร้าและหน้าผียิ้มได้ราวกับปีศาจสองอารมณ์

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งจะอยู่ที่คลองขนาบน้ำ เมื่อเวลาน้ำขึ้นจะสามารถแล่นเรือผ่านเข้าไปในช่องเขาที่ขนาบด้วยหน้าผาสองด้านได้ และด้านในจะเป็นคล้ายลากูนแวดล้อมด้วยป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ส่วนถ้าใครมีเวลาอาจเดินทางต่อไปจนถึงปลายสุดของแหลมกาโรส ก็จะไปเที่ยวชมภาพเขียนสีโบราณรูปคนปีนหน้าผา แหลมท้ายแรด และ อ่าวต้นมะขามได้อีกด้วย

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวอื่นในอำเภออ่าวลึกที่ยังคงความเร้นลับและน่าศึกษายังมีอยู่อีก คือป่าทุ่งสูง บ้านทุ่งสูง ตำบลนาเหนือ ซึ่งเป็นป่าที่ราบต่ำผืนสุดท้ายในบริเวณนี้ที่ได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดีห้ามใครเข้ามาทำลายป่าอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เนื่องจากป่าทุ่งสูงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระจงที่กล่าวกันว่าชาวบ้านสามารถใช้ใบไม้เป่าเรียกมันออกมาเต้นให้ดูได้ และเป็นบ้านของกบหลังเฉียงกบพันธุ์หายาก รวมทั้งมะเขือคื่นพันธ์เฉพาะที่พบแห่งเยวในประเทศไทยที่นี่เท่านั้น ป่าผืนนี้จึงนับเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งซึ่งควรได้รับการดูแลให้คงอยู่อย่างดีสืบไป สำหรับผู้ที่สนใจท่องเที่ยวป่าทุ่งสูงก็มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้เข้าไปเที่ยวชมได้ทั้งการดูนก ดูสัตว์ป่า และการศึกษาพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่น่าสนใจ เพียงแต่ขอให้เดินทางไปเที่ยวชมด้วยหัวใจของคนรักธรรมชาติเท่านั้น

 

ภาพเขียนสี
ภาพเขียนสี

นอกจากป่าทุ่งสูงนี้แล้วก็ยังมีป่าพรุคีรีวงศ์ ป่าพรุที่สวยงามด้วยพรรณไม้ใหญ่น้อยอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน โดยตั้งอยู่ที่บ้านคีรีวงศ์ ตำบลอ่าวลึกน้อย ลักษณะเป็นป่าพรุขนาดเล็กอยู่ในหุบเขาหินปูน มีพันธุ์ไม้ที่แปลกตา แต่ยังขาดการสำรวจอย่างจริงจัง ซึ่งหากมีการดำเนินการจัดการที่ดีในการศึกษา ก็อาจพบว่าเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีคุณค่าเช่นเดียวกับป่าทุ่งสูงก็เป็นได้

ท่ามกลางความเป็นไปของโลกของทุนและธุรกิจ ยังเป็นที่น่ายินดีว่าที่อำเภออ่าวลึกนั้นยังมีกลุ่มชาวบ้าน 8 ชุมชนรวมตัวกันตั้ง “เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนอ่าวลึก” ขึ้น โดยชาวบ้านเข้ามาบริหารจัดการดูแลกันเอง และมีภาครัฐบางหน่วยงานเป็นพี่เลี้ยง มีกฏระเบียบที่ชัดเจนทั้งต่อชุมชนและนักท่องเที่ยว เช่น ชาวชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรในชุมชนป้องกันคนนอกและคนในไม่ให้ทำลายทรัพยากร ไม่มีการให้คนนอกเข้ามาร่วมทุนในชุมชนเพื่อป้องกันการครอบงำจากทุนใหญ่ ห้ามดื่มเหล้าเบียร์ในพื้นที่ชุมชนมุสลิม มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวตามแต่กรณี เช่นเที่ยวถ้ำแต่ละแห่งไม่เกิน 60 คน ต่อวัน การเที่ยวถ้ำต้องปฏิบัติตามกฏข้อบังคับการเที่ยวถ้ำ และต้องมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้พื้นฐานรวมทั้งดูแลอย่างเคร่งครัด ส่วนเที่ยวทางทะเลไม่เกิน 120 คน ต่อวัน ตามความสามารถในการรับคนของเรือ การพักค้างเป็นแบบโฮมสเตย์กระจายกันไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้รายได้ตกอยู่กับชุมชน และสร้างความรักความหวงแหนให้เกิดขึ้นกับชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวบนแนวทางของการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

 

อ่าน อ่าวลึก ดินแดนอัศจรรย์ริมฝั่งอันดามัน จังหวัดกระบี่  ตอนที่ 1

ขอบคุณ  อสท

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *