Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม)
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม)

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นอนุสรณ์แด่วีรกรรมอันกล้าหาญของวีรสตรีไทย หรือย่าโม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ตั้งอยู่กลางเมือง ชาวต่างถิ่นที่แวะมาเยือนและชาวเมืองโคราชนิยมมาสักการะและขอพรจากย่าโมอยู่เสมอ อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง ๑.๘๕ เมตร หนัก ๓๒๕ กิโลกรัม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า คุณหญิงโม เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช คุณหญิงโมได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพฯได้เป็นผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม เป็นท้าวสุรนารี ประชาชนพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน เป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของท่าน

ประตูชุมพล ตั้งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สมเด็จพระนารายณ์ มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๙ อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา และสร้างกำแพง ประตูเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีช่างชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมิตรประเทศกับกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบผังเมือง เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๑,๐๐๐ x ๑,๗๐๐ เมตร เดิมมีประตูเมืองทั้งหมด ๔ ประตู ได้แก่ ประตูพลแสนด้านทิศเหนือ ประตูพลล้าน ด้านทิศตะวันออก ประตูไชยณรงค์ด้านทิศใต้ และประตูชุมพลด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเหลือเพียงประตูชุมพลเท่านั้นที่เป็นประตูเมืองเก่า ส่วนอีกสามประตูได้สร้างขึ้นใหม่ ลักษณะประตูชุมพลเป็นประตูเชิงเทิน ก่อด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐ ฉาบด้วยปูน ส่วนบนเป็นหอรบ สร้างด้วยไม้แก่น หลังคามุงกระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้า กระจังและนาคสะดุ้ง กำแพงต่อจากประตูทั้งสองข้างก่อด้วยอิฐ ส่วนบนสุดทำเป็นรูปใบเสมา

ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ถนนจอมพล มุมวัดพระนารายณ์มหาราช ลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบจีน ประดิษฐานเสาหลักเมืองนครราชสีมา เป็นที่สักการะบูชาของชาวไทยและจีน สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ตัวศาลและเสาหลักเมืองทำด้วยไม้ ผนังศาลด้านทิศตะวันออกเป็นกระเบื้องดินเผาปั้นลวดลายนูนต่ำเป็นเรื่องราวการ สู้รบของท้าวสุรนารีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยโบราณ

ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก เป็นศาลเจ้าเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมคูเมืองด้านทิศเหนือ ตรงมุมถนนมนัสตัดกับถนนพลแสน สร้างครอบหลักตะเคียนหินซึ่งเดิมเป็นหลักที่ชาวเมืองภูเขียวนำช้างเผือกมาผูกไว้เพื่อให้พนักงานกรมคชบาลตรวจดูลักษณะช้างก่อนกราบทูลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อทรงรับไว้เป็นพระราชพาหนะ

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ถนนสุรนารายณ์ เมื่อผ่านเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏให้แยกซ้าย ตามป้ายจะพบเรือนไม้สองชั้นและเรือนโคราช อันเป็นสถานที่ รวบรวมและจัดเก็บข้อมูล สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งวัตถุโบราณ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาข้อมูล ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโคราชและชาวอีสานทั่วไปในอดีต การจัดแสดงแบ่งเป็นห้องตามหัวข้อ อาทิ เมืองโคราช เอกสารโบราณ อาชีพพื้นบ้าน ผ้าอีสาน ของดีโคราช ดนตรี คนดีศรีโคราช เป็นต้น เปิดให้เข้าชมในวันและเวลาราชการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๔๔๒๕ ๓๐๙๗ โทรสาร ๐ ๔๔๒๔ ๔๗๓๙

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุทธจินดา ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด จัดแสดงศิลปวัตถุทั้งที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดารวบรวมไว้ โบราณวัตถุที่กรมศิลปากรได้สำรวจขุดพบในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงและที่มีผู้บริจาค ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป มีทั้งพระศิลาสมัยขอม พระพุทธรูปสมัยอยุธยา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องใช้สมัยโบราณ ภาพไม้แกะสลัก เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ ๒๐ บาท และชาวต่างประเทศคนละ ๕๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.๐ ๔๔๒๔ ๒๙๕๘

วัดศาลาลอย
วัดศาลาลอย

วัดศาลาลอย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยแยกจากถนนรอบเมืองไปประมาณ ๕๐๐ เมตร และอยู่ติดกับลำตะคองซึ่งไหลพาดผ่านตอนเหนือของตัวเมืองไปลงสู่แม่น้ำมูล ท้าวสุรนารีกับท่านปลัดสามีสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๐ จุดเด่นของวัดอยู่ที่พระอุโบสถซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นอุโบสถที่สร้างแบบศิลปไทยประยุกต์ รูปสำเภาโต้คลื่น ใช้วัสดุพื้นเมืองคือกระเบื้องดิน เผาด่านเกวียนนำมาประดับตกแต่ง เช่น ผนังด้านหน้าอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ส่วนบานประตูเป็นโลหะลายนูน ภาพเล่าเรื่องเวชสันดรชาดก (๑๓ กัณฑ์) ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์” หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี

วัดศาลาทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวทะเล ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว ๑ กิโลเมตร เป็นวัดธรรมยุติ เดิมบริเวณวัดเป็นป่าทึบ และมีพระพุทธรูปนั่งองค์ใหญ่ ปางป่าเลไลยก์ ทำจากหินประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ต่อมาจึงได้สร้างพระอุโบสถครอบไว้ ในวัดนี้มีเจดีย์ใหญ่สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากเชียงตุง ทุก ๆ ปีในเทศกาลตรุษสงกรานต์จะมีพิธีสักการะพระพุทธรูปเป็นประจำ

วัดป่าสาละวัน ตั้งอยู่ในตัวเมือง เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยใช้เส้นทางถนนมุขมนตรีขับตรงไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๓ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายหน้าวัดอัมพวัน ตรงไปประมาณ ๕๐ หมู่ ข้ามทางรถไฟ เลี้ยวซ้ายผ่านศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน พบสามแยกเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าร้านส้มตำ โค้งวัดป่าฯ อีกครั้ง แล้วเลี้ยวขวาอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร จนถึงประตูวัด ทีนี้เป็นวัดหนึ่งที่ได้เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุของเกจิอาจารย์ที่เป็นที่เคารพบูชาของศาสนิกชนโดยทั่วไป คือ อาจารย์เสา อาจารย์มั่น รวมทั้งอัฐิของอาจารย์ทิม อดีตเจ้าอาวาสที่ได้บุกเบิกสร้างวัดแห่งนี้

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร อยู่ทางด้านซ้ายมือตามเส้นทางสายนครราชสีมา-ชัยภูมิ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๙ อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๑๗๕ เซนติเมตร สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือและเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมาที่ได้พลีชีพเพื่อปกป้องชาติเมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการใช้ดุ้นฟืนติดไฟโยนเข้าใส่กองเกวียนดินดำ ของกองทัพลาวจนระเบิดเสียหายหมดสิ้นและตัวนางได้สิ้นชีวิตในการสู้รบในครั้งนั้น

ปราสาทพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ทางเข้าอยู่ฝั่งตรงข้าม เข้าทางเดียวกับวัดหนองจอก ขับตรงไปประมาณ ๘ กิโลเมตร หากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ขึ้นรถที่สถานีขนส่งแห่งที่ ๑ เป็นรถสองแถวเล็ก โคราช-ลองตอง ลงรถปากทางเข้าวัดลองตอง แล้วต่อรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างเข้าไปที่ตัวปราสาทพนมวัน ที่นี่เป็นปราสาทขอมที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าเดิมก่อสร้างด้วยอิฐในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ จึงได้สร้างอาคารหินซ้อนทับลงไป จากจารึกที่ค้นพบ เรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “เทวาศรม” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถาน ปัจจุบันแม้จะหักพังไปมาก แต่ยังคงเห็นซากโบราณสถานหลงเหลือเป็นเค้าโครงค่อนข้างชัดเจนเช่น ปรางค์จตุรมุของค์ประธานหลักซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกโดยมีมณฑปอยู่เบื้องหน้าและมีฉนวน (ทางเดิน) เชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้งสอง

ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์มีอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงเรียกว่า “ปรางค์น้อย” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบปราสาทมีระเบียงคตสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมเป็นกำแพงอยู่ มีโคปุระ (ประตูทางเข้าเทวสถาน) ก่อสร้างเป็นรูปหอสูงทั้งสี่ทิศ บริเวณรอบนอกปราสาททางด้านทิศตะวันออกห่างจากโบราณสถานเกือบ ๓๐๐ เมตร มีร่องรอยของคูน้ำและเนินดินเรียกว่า “เนินอรพิม” นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงจัดเรียงเป็นแนวคล้ายซากฐานอาคารบนเนินแห่งนี้ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท

สวนสัตว์นครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (นครราชสีมา-ปักธงชัย) ระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ (ทางหลวงหมายเลข ๒๓๑๐) อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร หากเดินทางรถโดยสารจากตัวเมืองสามารถใช้บริการรถสองแถว หมายเลข ๔๑๒๙ (นครราชสีมา-สวนสัตว์)

สวนสัตว์นครราชสีมามีพื้นที่กว้างขวางถึง ๕๔๕ ไร่ ๑ งาน ๔๘ ตารางวา เป็นสวนสัตว์แบบซาฟารีกึ่งเปิดและปิดที่ทันสมัยได้มาตรฐานที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย คอกสัตว์กว้างขวาง จัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับนิสัยสัตว์แต่ละชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าแอฟริกาที่น่าสนใจ ได้แก่ นกเพนกวิน แมวน้ำ ช้างแอฟริกา อูฐ จิงโจ้ แรด เสือชีต้าห์ สิงโต ม้าลาย ยีราฟ เป็นต้น และยังมีอาคารจัดแสดงสัตว์เลื้อยคลาน และสวนนกเงือก จึงเหมาะแก่การทัศนศึกษาเรียนรู้ชีวิตสัตว์และพักผ่อนหย่อนใจ ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม มีบริการรถพ่วงวิ่งรอบบริเวณ รวมทั้งจักรยานให้เช่าอีกด้วย นอกจากนั้น ภายในสวนสัตว์นครราชสีมายังมีส่วนสวนสัตว์เด็กและสวนสัตว์ศึกษา สร้างโดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างใกล้ชิด รูปแบบของสวนสัตว์เด็กและสวนสัตว์ศึกษานั้นจัดเป็นห้องโถงแสดงนิทรรศการด้วยสื่อและเทคนิคต่างๆ เช่น หุ่นจำลองโมเดล ๓ มิติเกี่ยวกับการกำเนิดโลก กำเนิดสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ชีวิตในทะเล ระบบนิเวศน์ กำเนิดมนุษย์ และโลกของไข่ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม เด็ก ๑๐ บาท ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท รถยนต์ ๕๐ บาท รถบัส ๖๐ บาท จักรยานยนต์ ๑๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๔๔๙๓ ๔๕๓๗-๘ www.zookoratzoo.com

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๔ หมู่ที่ ๗ บ้านโกรกเดือน ๕ ถนนมิตรภาพ-หนองปลิง ตำบล สุรนารี การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (นครราชสีมา-ปักธงชัย) ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ถึงประตูที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เลี้ยวขวาเข้าไปอีก ๒ กิโลเมตร เบี่ยงซ้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองสายมิตรภาพ-หนองปลิงอีก ๑ กิโลเมตร เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย และหนึ่งในเจ็ดแห่งของโลก พบกับพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ อายุประมาณ ๘๐๐,๐๐๐-๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี ชมภาพยนตร์กำเนิดโลกและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต อีกทั้ง เพลิดเพลินกับสวนไม้กลายเป็นหิน ที่จำลอง ภูมิประเทศของภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำมูล-ชี นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ๘ สกุล จาก ๔๒ สกุลที่พบทั่วโลก ทั้งช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม (อายุประมาณ ๑๖-๕ ล้านปี) รวมทั้งฟอสซิลสัตว์นานาชนิด เช่น เต่ายักษ์ ตะโขง เอป (ลิงไม่มีหางที่มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์ ที่ถูกจัดให้เป็นชนิดใหม่ของโลก เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๔๔๒๑ ๖๖๑๗ หากมาเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า

หอศิลป์ทวี รัชนีกร ตั้งอยู่ เลขที่ ๒๐๓ ซอยเพชรมาตุคลา ๔ หมู่ที่ ๑๐ ถนนราชสีมา-จักราช ตำบลหัวทะเล ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยศิลปินแห่งชาติ ทวี รัชนีกร มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะประเภทต่างๆ ของศิลปินประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และเทคนิคผสม นอกจากการจัดแสดงผลงานดังกล่าวแล้วยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา อาทิ การประกวดวาดภาพ การจัดเสวนา หรือการบรรยายทางศิลป นอกจากนี้ยังมีอาคารเล็กที่จัดแสดงผลงานวาดเส้นเทคนิคผสม ชั้นบนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือศิลปะไว้บริการ หอศิลป์ทวี รัชนีกร เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-วันอังคาร) ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาแจ้งล่วงหน้า โทร. ๐ ๔๔๒๖ ๕๘๗๗, ๐ ๔๔๒๖ ๖๙๘๘ โทรสาร ๐ ๔๔๒๖ ๕๘๗๗

รถรางนำเที่ยว เส้นทางอารยธรรมเมืองย่าโม นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถรางนำเที่ยวที่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยนำชมสถานที่ที่มีความสำคัญในตัวเมืองนครราชสีมา ได้แก่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประตูเมืองโคราช ๔ ประตู อาคารแสดงแสง สี เสียง วีรกรรมท้าวสุรนารี ถ้ำหินงอกหินย้อย วัดพายัพ ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก วัดศาลาลอย ศาลหลักเมือง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ เปิดให้บริการ จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๔.๓๐ น. เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ค่าบริการคนละ ๒๐ บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ งานส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลนครนครราชสีมา โทร. ๐ ๔๔๒๓ ๔๗๕๓

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *