Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง เป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณตำบล บางน้ำผึ้ง เป็นการร่วมมือระหว่าง อบต.บางน้ำผึ้ง และชาวบ้านในชุมชนสร้างตลาดน้ำแห่งนี้เพื่อหาทางแก้ไขภาวะผลผลิตล้นตลาด ซึ่งตลาดน้ำแห่งนี้สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี เสน่ห์ของตลาดน้ำแห่งนี้ คือ วิถีชีวิตชาวบ้านริมคลอง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ และยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและอาหารที่มีชื่อเสียงของชุมชน เช่น ดอกไม้เกล็ดปลา ปั้นธูปสมุนไพร หอยทอดขนมครก และมะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรือพายให้บริการ อัตราค่าเช่าลำละ ๔๐ บาท และ ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน และชื่นชมธรรมชาติอันสวยงามของสวนผลไม้ในชุมชน โดยเช่าจักรยานในราคา ๓๐ บาท/คัน ตลาดน้ำ บางน้ำผึ้งจะมีเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๔.๐๐ น. ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานองค์การบริการส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง โทร. ๐ ๒๘๑๙ ๖๗๖๒, ๐๘ ๑๑๗๑ ๔๙๓๐

การเดินทาง รถยนต์-ลงจากทางด่วน (ดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์) ที่ถนนสุขสวัสดิ์ จะเห็นสามแยกพระประแดง-สุขสวัสดิ์ เลี้ยวบริเวณข้างปั้มน้ำมัน BP พอถึงตลาดพระประแดงให้เลี้ยวซ้ายผ่านวัดทรงธรรมวรวิหารไปตามถนนเพชรหึงษ์ประมาณ ๕ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าซอยเพชรหึงษ์ ๒๖ แล้วจะพบป้ายบอกทางเข้าตลาดน้ำ ประมาณ ๗๐๐ เมตร

รถโดยสารประจำทาง ปรับอากาศและธรรมดา ขสมก.สาย ๘๒, ๑๓๘ รถร่วมบริการสาย ๖ ไปลงตลาดพระประแดง แล้วต่อรถประจำทางสายพระประแดง-บางกอบัว ก็จะผ่านตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ที่ตำบลตลาด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ เป็นหลักเมืองเก่าของอำเภอพระประแดง ในสมัยเมื่ออำเภอนี้มีฐานะเป็นเมือง ชาวบ้านถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งชาวเมืองเคารพนับถือมาก เสาหลักเมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีรูปของพระพิฆเนศวร์สถิตย์อยู่เหนือเสา

ศาลพระเสื้อเมือง อยู่ที่ตำบลตลาด สร้างขึ้นพร้อมกับเมืองพระประแดง ชาวบ้านนับถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชากันมากป้อมแผลงไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด ติดกับโรงเรียนเทศบาลป้อมแผลงไฟฟ้า ยังมีสภาพสมบูรณ์อยู่บางส่วน เป็นป้อมปราการแห่งหนึ่งของฐานทัพเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเสมือนหนึ่งฐานทัพด้านปากแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นเมืองที่มีป้อมปราการหลายแห่ง เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริที่จะใช้ป้องกันพระราชอาณาจักร ปัจจุบันเทศบาลเมืองพระประแดงได้ทำการบูรณะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยบริเวณข้างบนของป้อมได้จัดปืนใหญ่โบราณหลายกระบอกตั้งไว้ให้ชม รอบๆบริเวณจัดปลูกต้นไม้ร่มรื่น

การเดินทาง จากสามแยกพระประแดง (ถนนสุขสวัสดิ์) เลี้ยวซ้ายไปตลาดพระประแดง สามารถจอดรถได้ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอพระประแดง หรือเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและธรรมดา ขสมก. สาย ๘๒ และ ๑๓๘ รถร่วมบริการสาย ๖ ลงตลาดพระประแดง สามารถเดินเที่ยวชมได้ทั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลพระเสื้อเมือง และป้อมแผลงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันบริเวณตลาดพระประแดง

วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพึ่ง จากสามแยกพระประแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราชวีริยาภรณ์ ประมาณ ๒๐๐ เมตร ก็จะถึงวัด วัดไพชยนต์ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารที่งดงาม ในพระอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย อยู่บนบุษบกยอดปรางค์จัตุรมุข

การเดินทาง  จากสามแยกพระประแดง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ (ทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๔) แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนวีริยาภรณ์ บรรจบกับถนนทรงธรรม จะพบวัดไพชยนต์ฯ อยู่ตรงบริเวณสามแยก หรือเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและธรรมดา สาย ๘๒ และ ๑๓๘ รถร่วมบริการ สาย ๖ ลงสามแยกบางพึ่งแล้วต่อรถรับจ้าง

วัดโปรดเกศเชษฐาราม อยู่ที่ถนนทรงธรรม ตำบลทรงคะนอง อยู่ถัดจากวัดไพชยนต์ฯ เล็กน้อย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นวัดพุทธไทยเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดง เพราะวัดอื่นๆ มักจะเป็นวัดพุทธรามัญ พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีลักษณะสถาปัตยกรรมดีเด่นคือ พระอุโบสถไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถาประดับเครื่องลายคราม ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะ พระวิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมี พระพุทธไสยาสน์พระพักตร์งามมาก เหนือหน้าต่างมีภาพปริศนาธรรมเป็นศิลปะตะวันตกแปลกตาหาดูยาก นอกจากนี้ยังมีพระมณฑปหลังคามุงด้วยกระเบื้องรางรายรอบด้วยเก๋งจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ มีพระปรางค์ที่มุมทั้ง ๔ ด้าน ภายในพระมณฑปมีพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทจำลองประดับมุข

การเดินทาง  จากวัดไพชยนต์ฯ เลี้ยวขวาไปตามถนนทรงธรรมประมาณ ๒๐๐ เมตร ข้ามสะพานคลองลัดหลวงประมาณ ๕๐ เมตร วัดโปรดเกศเชษฐารามจะอยู่ด้านซ้ายมือ

วัดทรงธรรมวรวิหาร
วัดทรงธรรมวรวิหาร

วัดทรงธรรมวรวิหาร ตั้งอยู่ถนนทรงธรรม เลยจากวัดโปรดเกศเชษฐาราม ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นวัดเก่าแก่ในพุทธศาสนารามัญนิกาย สร้างขึ้นพร้อมกับเมืองนครเขื่อนขันธ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีกุฏิและพระอุโบสถเป็นเครื่องไม้ฝากระดาน ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่าวัดชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดฯ ให้พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) รื้อกุฏิมาสร้างเป็นหมู่เดียวกัน ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท มีพระรามัญเจดีย์องค์ใหญ่ ศิลปะรามัญ พระวิหารก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้สัก ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองประดับมุก

วัดป่าเกด ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ หมู่ ๓ ถนนเพชรหึงษ์ ตำบลทรงคนอง มีพระอุโบสถเก่าแก่ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หน้าบันพระอุโบสถทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ล้อมรอบด้วยลายเครือเถาอันอ่อนช้อยงดงาม

การเดินทาง  จากวัดทรงธรรมไปตามถนนเพชรหึงษ์ประมาณ ๓ กิโลเมตร วัดป่าเกดจะอยู่ริมถนนด้านขวามือ

สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ ตั้งอยู่ตำบลบางกะเจ้า มีเนื้อที่กว่า ๒๐๐ ไร่ สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ สวนสาธารณะที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายสำหรับประชาชน และเป็นที่ศึกษาระบบนิเวศน์ของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง ลักษณะของสวนเป็นการผสมผสานของสวนสาธารณะที่มีการจัดสภาพ ภูมิทัศน์ให้สวยงาม ประกอบด้วยพันธุ์ไม้น้ำ พันธุ์ไม้ท้องถิ่น ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำกร่อย กับการรักษาสภาพสวนเกษตรดั้งเดิมซึ่ง เป็นสวนผลไม้เก่าไว้ โดยเป็นพื้นที่สีเขียวที่รัฐบาลกำหนดให้เป็น “ปอดของกรุงเทพฯ” มีสะพานไม้ทอดยาวให้เดินชมพื้นที่อันสงบร่มรื่น รวมถึงหอชมวิวสูง ๗ เมตร ที่สามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ มีจักรยานให้เช่าสำหรับขี่ชมรอบสวน เปิดเวลา ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. โทร. ๐ ๒๔๖๑ ๐๙๗๒

การเดินทาง  จากสามแยกพระประแดง (ถนนสุขสวัสดิ์) ให้เลี้ยวซ้ายตรงสามแยก ถึงตลาดพระประแดงเลี้ยวซ้ายผ่านวัดทรงธรรมวรวิหารไปตามถนนเพชรหึงษ์ ๖ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดราษฎร์รังสรรค์ประมาณ ๒ กิโลเมตร สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ อยู่ริมถนนด้านขวามือ หรือเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและธรรมดา สาย ๘๒ และ ๑๓๘ รถร่วมบริการสาย ๖ ลงตลาดพระประแดง แล้วต่อรถประจำทางสายพระประแดง-บางกอบัว

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *