สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 5

วัดพุทไธสวรรย์
วัดพุทไธสวรรย์

วัดพุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง หากเดินทางโดยรถยนต์ และใช้เส้นทางสายอยุธยา-เสนา ข้ามสะพาน วัดกษัตราธิราชวรวิหาร แล้วเลี้ยวซ้าย จะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงทางแยกซ้ายเข้าวัดพุทไธสวรรย์ วัดนี้สร้างขึ้นบริเวณตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทองซึ่งเรียกว่า “ตำหนักเวียงเหล็กหรือเวียงเล็ก” หลังจากนั้นพระองค์ไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน(บึงพระราม)จึงสถาปนาสถานที่นี้เป็นวัดพุทไธสวรรย์ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรำงค์ประธานองค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น ๒ ทางคือ ทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลังภายในพระมณฑปมีพระประธานพระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมแต่ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์ และวิหารพระนอน

วัดภูเขาทอง

วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากพระราชวังหลวงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางเดียวกับทางไปจังหวัดอ่างทอง ทางหลวงหมายเลข ๓๐๙ กิโลเมตรที่ ๒๖ จะมีป้ายบอกทางแยกซ้ายไป วัดนี้ วัดภูเขาทองนี้หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พระเจ้าหงสาวดี บุเรงนองเป็นผู้สร้างเมื่อพ.ศ.๒๑๑๒ คราวยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในเวลาที่ประทับอยู่พระนครศรีอยุธยาได้สร้างพระเจดีย์ภูเขาทองใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นที่ระลึกเมื่อคราวรบชนะไทย โดยรูปแบบของฐานเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับแบบมอญพม่า สันนิษฐานว่าสร้างเจดีย์องค์นี้ขึ้นเพื่อชัยชนะแต่ทำได้เพียงรากฐาน แล้วยกทัพกลับ ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาเมื่อพ.ศ.๒๑๒๗ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานแบบมอญและพม่าที่สร้างเพียงรากฐานไว้ ณ สมรภูมิทุ่งมะขามหย่อง ฝีมือช่างมอญเดิมจึงปรากฏเหลือเพียงฐานทักษิณส่วนล่างเท่านั้น เจดีย์ภูเขาทองจึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมสองแบบผสมกัน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้าบริเวณด้านหน้าวัดภูเขาทอง

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ ทุ่งมะขามหย่องตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาออกไปประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ภายในมีพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัยหล่อด้วยสำริด มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริงประทับบนหลังพระคชาธารพร้อมด้วยกลุ่มอนุสาวรีย์ประติมากรรมประกอบกันทั้งสิ้น ๔๙ ชิ้น มีประติมากรรมจำลองประวัติศาสตร์ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และ สวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ เคยเป็นสมรภูมิการสู้รบระหว่างไทย-พม่าหลายครั้ง จนเกิดเป็น มหาวีรกรรมคือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรจนต้องพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง และในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาซึ่งหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพได้ ๒ ปี พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ให้มังมอดราชบุตรยกทัพมาตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง และทัพพระเจ้าหงสาวดีตั้งค่ายหลวงบริเวณขนอนปากคู่ซึ่งอยู่ถัดจากทุ่งมะขามหย่องลงมาทางใต้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำพลออกมาปล้นค่ายพม่าหลายครั้งโดยจะใช้ปากคาบพระแสงดาบ ปีนเสาระเนียดเข้าไปในค่ายพระเจ้าหงสาวดีและได้ชัยชนะทุกครั้ง พระแสงดาบนั้นจึงปรากฏนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง)

ด้วยทุ่งมะขามหย่องเคยเป็นสมรภูมิที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทางรัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เป็นโครงการจัดสร้างขึ้นตามพระราชดำริ รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกันสร้างน้อมเกล้าฯถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๕

พระที่นั่งเพนียด ตั้งอยู่ในตำบลสวนพริก ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปตามเส้นทางหมายเลข ๓๔๗ กิโลเมตรที่ ๔๒-๔๓ (เส้นทาง เดียวกับทางไปวัดภูเขาทอง) แต่ให้เลี้ยวขวาแล้วตรงไปตามถนนจะมีป้ายบอกเส้นทางไปพระที่นั่งเพนียด เพนียดแห่งนี้มีขนาดใหญ่มากสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับทอดพระเนตรการคล้องช้างหรือจับช้างเถื่อนในเพนียดซึ่งเป็นประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณเพื่อนำช้างมาใช้ประโยชน์ในราชการทั้งในยามปกติและยามสงคราม หรือในเวลาที่มีแขกบ้านแขกเมืองมาพระมหากษัตริย์ก็จะโปรดให้ทำพิธีคล้องช้างให้ชมทุกครั้งไป การคล้องช้างนี้ทำกันเรื่อยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เลิกไป พระที่นั่งเพนียดและตัวเพนียดที่เห็นในปัจจุบันนั้นลักษณะเป็นคอกล้อมด้วยซุงทั้งต้น มีปีกกาแยกเป็นรั้วไปสองข้าง รอบเพนียดเป็น กำแพงดินประกอบอิฐเสมอยอดเสา ด้านหลังคอกตรงข้ามแนวปีกกาเป็นพลับพลาที่ประทับซึ่งได้รับการบูรณะเมื่อพ.ศ.๒๕๐๐ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังได้สนับสนุนงบประมาณแก่กรมศิลปากรในปี พ.ศ.๒๕๓๑ เพื่อบูรณะเพนียดให้อยู่ในสภาพเดิมอีกด้วย

วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช ๒๐๔๖ มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างวัดนี้เมื่อพ.ศ.๒๐๔๖ วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำ สัญญาสงบศึกเมื่อพ.ศ.๒๑๐๖ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส

วัดหน้าพระเมรุ

วัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถมีขนาดยาว ๕๐ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร เป็นแบบอยุธยาตอนต้นซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสา รับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาคและมีรูปราหู สองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถวๆละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตู พระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย ทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า“พระพุทธนิมิตวิชิตมาร โมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมากสูงประมาณ ๖ เมตร หน้าตักกว้างประมาณ ๔.๔๐ เมตรในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหาร สรรเพชญ์ (หรือเรียกว่า วิหารน้อยเพราะขนาดวิหารเล็ก มีความยาว ๑๖ เมตร กว้างประมาณ ๖ เมตร) ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีนี้ นับเป็น ๑ ใน ๕ องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้ พระอุโบสถเปิดเวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวต่างชาติ ๒๐ บาท

วัดกุฎีดาว อยู่หน้าสถานีรถไฟ ฝั่งตะวันออก เป็นวัดเก่าแก่ ฝีมือการสร้างงดงามยิ่ง เห็นได้จากซากอาคาร เสาบัวและยอดพระเจดีย์ที่หักโค่นลงมา แม้จะปรักหักพังไปหมดแล้ว แต่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามในอดีต ปัจจุบันเป็นวัดร้างไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง

วัดสมณโกฎฐาราม สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเจ้าพระยาโกษา(เหล็ก) และ เจ้าพระยาโกษา(ปาน) อาจเป็นในช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช “ในจดหมายเหตุของแกมเฟอร์ แพทย์ชาวเยอรมันที่ทำงานในบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดำเดินทาเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓ ในรัชกาล สมเด็จพระเพทราชา ได้บันทึกไว้ว่าห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกมีวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเรียกว่าวัดพระยาคลัง แผนผังที่นำยแกมเฟอร์เขียนประกอบไว้ปรำกฏว่ำเป็นวัดสมณโกฎฐารามและวัดกุฎีดาว และยังระบุว่าสมเด็จพระเพทราชาได้เสด็จไปที่วัดนี้เพื่อราชทานเพลิงศพเจ้าแม่ดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา(ปาน) และยังเป็นพระแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓” สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถสมัยอยุธยาก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกทางด้านข้าง ๔ ด้าน ภายในพระอุโบสถมีหลังคาต่อเป็นโครงไม้แบบหน้าจั่ว ประดิษฐานพระประธาน กว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ทางด้านทิศตะวันออกมีวิหารขนาดใหญ่ วัดนี้มี พระปรางค์องค์ใหญ่รูปทรงสัณฐานแปลกตากว่าแห่งอื่นเข้าใจว่าเลียนแบบเจดีย์เจ็ดยอดของเชียงใหม่ เป็นพระปรางค์ที่สร้างบนเจดีย์องค์เดิม มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ ๒ ทาง สันนิษฐานว่า พระปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนกลาง นอกจากนี้ยังมี เจดีย์ระฆัง ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างพระปรางค์และพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแต่แรกเริ่มการสร้างวัดตามลักษณะของเจดีย์และลวดลายที่ประดับอยู่บนบัลลังก์ ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้ได้สร้างทับรากฐานอาคารเดิมอันเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไท ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯเข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม(เจดีย์กลำงถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ ๑ กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๙๐๐ สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว” ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้ง อธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระมีตำแหน่งเป็น สังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเจ้าพระยาไท” สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทหรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไท” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราชในปีพ.ศ.๒๑๓๕ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล”แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก เปิดเวลา ๐๘.๐๐- ๑๘.๐๐ น. ทุกวัน ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ ๒๐ บาท

วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลคลองสวนพลู ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว ๕ กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ วัดพนัญเชิงเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง”  (หรือวัดพระนางเชิง)

วัดพนัญเชิงวรวิหาร

พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อพ.ศ.๑๘๖๗ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี เดิมชื่อ “พระพุทธเจ้าพนัญเชิง”(พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่า ซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตรและสูง ๑๙.๑๓ เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศและพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าใจว่าเมื่อสร้างพระองค์ใหม่เสร็จแล้วจึงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นคลุมอีกทีหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ส่วนในพระวิหาร เสาพระวิหารเขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดงที่หัวเสามีปูนปั้นเป็นบัวกลุ่มที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นซุ้มเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กโดยรอบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนประตูทาง เข้าด้านหน้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นบานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา เป็นลักษณะของศิลปะอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่ง

พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป ๕ องค์ ศิลปะสุโขทัย วิหารเซียน อยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้บนผนังทั้งสี่ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับไปแล้วเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ ข้างในพระวิหารหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา ศาลาการเปรียญหลังเก่าย้ายจากริมแม่น้ำมาอยู่ด้านหลังของวัด เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยไม้ หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ บริเวณคอสอง (ขื่อ) ด้านในศาลามีภาพเขียนสีบนผ้าเป็นภาพพุทธประวัติอยู่โดยรอบ มีตัวอักษรเขียนไว้ว่าภาพเขียนสีนี้เขียนขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๒ ภายในศาลามีธรรมาสน์อยู่ ๑ หลังสลักลวดลายสวยงามเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์

ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบ ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ป่าสัก ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า “จูแซเนี๊ย” เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป คนไทยเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมคนละ ๒๐ บาท

อ่านต่อ: ถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 6 ตอนจบ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *