Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีเที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

เลยทางเข้าแม่กลองมาจะเจอปั๊ม ปตท. เลยปั๊มจะมีทางเลี้ยวซ้ายให้เลี้ยวเข้ามาทางนั้น ระวังรถสิบล้อด้วย พี่บัว บัวทิพย์ ไม่รู้จบ น้องเล็กของตระกูลซึ่งทำนาเกลือที่อำเภอบ้านแหลมมาตั้งแต่ยุคบุคเบิกกำชับมา

เส้นทางเล็กๆ ที่พี่บัวแนะนำเป็นทางลัดไปสู่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แม้จะทำความเร็วได้ไม่มาก แต่ตลอดสองข้างทางยังมีวิถีชาวบ้านให้ได้เห็น ยังมีฝูงนกที่จับกลุ่มหากินอยู่ตามแอ่งน้ำใหญ่ และยังมีธรรมชาติของป่าชายเลนให้ได้มองอย่างเต็มอิ่ม นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เร่งรีบนัก ลองใช้เส้นทางนี้ดูนะครับ เชื่อว่าจะทำให้การไปเที่ยวชายหาดชะอำมีสีสันขึ้นอย่างแน่นอน

เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ หมายมุ่งที่จะไปเรียนรู้การทำนาเกลือ อยากรู้ว่าเกลือที่นำมาปรุงอาหารให้อร่อยเหาะมีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่อได้รับคำยืนยันความพร้อมจากเจ้าของนาเกลือผืนใหญ่กว่า 450 ไร่ จึงรีบบึ่งไปตามนัด

เมื่อผ่านที่ว่าการอำเภอบ้านแหลม เข้าสู่ถนนแห่งการเรียนรู้ จึงได้ประจักษ์ว่าพื้นที่ทำนาเกลือที่เคยเห็นว่ากว้างใหญ่แถว ๆ ถนนพระราม 2 นั้น ไม่ได้กว้างใหญ่เท่าไรเลย สิ่งที่โดดเด่นของถนนสายนี้คือมีจุดพักรถให้นักท่องเที่ยวได้จอดชื่นชมนาเกลือเป็นระยะๆ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะแวะ แต่อักษรที่สลักไว้บนแท่นหินอย่างประณีตทำให้อดรนทนไม่ไหว ต้องจอดรถลงไปอ่าน

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ป้ายนั้นบอกเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ของวิถีนาเกลือ ข้อความหนึ่งที่สลักไว้ทำให้รู้สึกหดหู่

“ความเจริญที่เข้าถึงทำให้พื้นที่ทำนาเกลือลดลง ในอนาคตอาจจะไม่เหลืออาชีพนี้ให้ได้เห็น”

กว้างไกลสุดสายตาขนาดนี้ เป็นไปได้หรือที่จะสูญหาย? เมื่อผมไปถึงบ้านนาเกลือ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านแหลม ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยง แสงแดดกำลังร้อนแรงเต็มที่ ขืนลงไปในนาเกลือตอนนี้กลายเป็นหมูแดดเดียวแน่ หลังนำกระเป๋าเสื้อผ้าเข้าไปเก็บในห้องที่ผู้เป็นเจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้เรียบร้อย พวกเราเดินทางไปที่ถ้ำเขาหลวง สถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อในตัวเมืองเพชรบุรี

บริเวณที่เป็นสัญลักษณ์ของถ้ำเขาหลวง คือห้องโถงที่มีแสงส่องลอดลงมาแตะพื้นถ้ำ วันไหนที่บรรยากาศเป็นใจ จะเห็นแสงส่องผ่านละอองฝุ่นเป็นประกายสีสันสวยงาม บันไดทางลงดูยิ่งใหญ่ตระการ สะดุดตา เป็นแล้วนึกถึงเมืองแห่งหินผายิ่งใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนต์เรื่อง “เดอะลอร์ด ออฟ เดอะริงส์ “ ขึ้นมาหงิดๆ

สะดุดตาอีกอย่างคือฝูงลิงผู้มีอาการหิวโหย ท่าทางของมันค่อนข้างน่ากลัว แต่พอได้คลุกคลีกันจรงๆ กลับพบว่าเจ้าพวกนี้กิริยามารยาทเรียบร้อยพอสมควร พวกมันจะรี่เข้าไปทันทีที่เห็นว่ามีคนซื้ออาหารเลี้ยง แต่ถ้าใครไม่มีเจตนาที่จะเลี้ยง พวกมันก็ไม่มีอาการที่จะเข้าไปแย่งชิงสิ่งของแต่อย่างใด ในตอนแรกเจ้าของบ้านนาเกลือกลัวเจ้าพวกนี้มาก แต่ตอนหลังเห็นแอบไปยืนแยกเขี้ยวยิงฟัน สนิทสนมกันชนิดไม่เรียกไม่ยอมกลับ

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

จากนั้นไปต่อกันที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย บอกไว้ตรงนี้อย่างไม่อายเลย ได้ยินคำว่าป่าชายเลนมานานมากแล้ว แต่ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัสเลยสักหน

อาณาบริเวณของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย กว้างขวางมาก แต่ด้วยเวลาอันจำกัดทำให้ผมเลือกเดินเข้าไปตามสะพานไม้ขนาดความกว้างประมาณ 1-2 เมตร ที่ตัดผ่าไปกลางป่าชายเลน ไม้แต่ละต้นสูงเกินศีรษะทั้งสิ้น และความหนาแน่นของกิ่งก้านก็มากพอที่จะพดบังแสงแดดที่กำลังเจิดจ้าให้มือครื้มราวใกล้ค่ำ

ไม่รู้ว่าป่าชายเลนที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ที่นี่เต็มไปด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์หลากชนิด ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงป่าลั่นซ้ายทีขวาที และบางจังหวะก็ก้องขึ้นรอบตัว ถ้าเป็นยามค่ำคืนคงน่ากลัวพิลึก จึงไม่ได้เกิดความรู้สึกกริ่งเกรง กลับรู้สึกชื่นใจด้วยซ้ำ ที่ได้รู้ว่าโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายอาศัยอยู่ร่วมกัน เมื่อเดินไปจนสุดสะพานไม้จะไปจดทะเล ซึ่งแม้จะไม่มีชายหาดที่สวยงาม แต่ก็มีธรรมชาติของป่าชายเลนที่งดงามไม่แพ้กันให้ได้ชม

นาของพี่บัวอยู่ด้านตะวันออกของถนน บวกกับความฉุกละหุกของช่วงเวลา เย็นนี้จึงไม่ได้เห็นแสงตะวันอ่อนแบทาพื้นนาเกลือ แต่เมื่อพิจารณาทิศทางอย่างถ้วนถี่ ผมรู้ดีว่าเย็นวันพรุ่งนี้จะไปหาชมได้ที่มุมไหน

เช้าวันรุ่งขึ้นผมรีบตื่นมาดักตะวัน พร้อมๆ กับภาวนาให้ท้องฟ้าเป็นใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คงได้ยินถึงคำภาวนาจึงเมตตาส่งฝุงนกกาน้ำออกจากรังบินมาหากินแถวๆ ป่าชายเลน แนะนาเกลือแปลงที่แล้งน้ำ

ตะวันโผล่อวดโฉมสีส้มอมชมพูริมขอบฟ้ากว้าง เหล่าวิหคโผบินเป็นหมวดหมู่ลู่ลมแปรขบวนกลางท้องฟ้าใส ถ้ามีรายการโทรทัศน์มาตั้งกล้องถ่ายภาพเหล่านี้ไปออกอากาศเชื่อว่าผู้ชมทางบ้านคงได้รับกุศลทางสายตาอย่างมหาศาล เพราะงดงามจริงๆ

ผมเดินล้ำเข้าไปในเขตนาเกลือ เห็นพื้นดินที่เหือดแห้งจากการปล่อยน้ำเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เห็นน้ำถูกผันจากบ่อลึกตรงกลางเข้ามาเติมเต็ม เห็นผืนน้ำลู่ไปตามแรงลม เห็นใบอ่อนของพืชใต้น้ำซัดส่ายไปตามริ้วคลื่น ดูนั่นดูนี่ไปจนจดบ่อน้ำลึก และถัดจากบ่อน้ำลึกไปก็เป็นแนวของป่าชายเลน ซึ่งไม่ต้องดั้นด้นเข้าไปดูก็พอรู้ว่า หลังแนวป่าชายเลนนั้นต้องเป็นทะเลที่เวิ้งกว้างใหญ่

หลังคุ้นชินกับความงาม เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนลิงน้อยที่ได้อัญมณี คือได้มาก็ไม่รู้จะเอามาทำอะไรมากไปกว่าป่าเลน พื้นที่กว่า 450 ไร่ที่พี่บัวบอกไว้ ผมมองไม่เห็นอะไรมากไปกว่าผืนนาที่ถูกน้ำท่วม แปลงนาที่อยู่ติดกับบ้าน จะทำคันแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ คล้ายนาข้าว แต่ยิ่งไกลออกมา แปลงนาจะยิ่งกว้าง จนมาจดป่าชายเลนจึงกว้างใหญ่ราวกับทะเลสาบขนาดย่อม

ผมรู้เพียงตื้นๆ เท่าที่ตาเห็น แต่ให้ลงลึกไปถึงว่า ทำไมแปลงนาถึงเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ทำไมต้องผันน้ำจากแปลงนั้นเข้าแปลงโน้น ทำไมต้องดูดน้ำจากร่องดน้นมาเข้าร่องนี้ ยอมรับจริงๆ ว่าจนแต้ม

ทำไม ทำไม ทำไม คำถามเกิดขึ้นมากมายโดยที่ไม่มีวี่แววของคำตอบ

“ใจเย็นๆ เดี๋ยวได้รู้แน่” พี่บัวว่า เมื่อผมถามคำถามเหล่านี้กับพี่บัว ระหว่างที่เราขับรถหหนีร้อนไปเที่ยวชมวัดใหญ่สุวรรณาวรวิหาร ในเมือง ศาลาการเปรียญแต่เดิมเป็นพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา บนบานประตูยังมีรอยขวานของข้าศึกครั้งบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ให้เห็นอยู่ ทางวัดอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้พินิจพิจารณา นอกจากนั้นยังมีศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายให้ดูอีกหลายชิ้น รวมถึงพระพุทธรูปงดงามด้วย

หลังจากนั้นฝ่าเปลวแดดไปเที่ยวชมพระรามราชนิเวศน์ หรือที่นิยมเรียกกันว่าพระราชวังบ้านปืน พระราชวังแห่งนี้เริ่มสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แต่แล้วเสร็จในรัชสมัยพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์พระราชทานนามว่าพระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท ในเวลาต่อมาทรงใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมือง จึงทรงเปลี่ยนชื่อเป็นพระรามรานิเวศน์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ภายในสวยงามจับใจ แต่น่าเสียดายที่ห้ามบันทึกภาพ

ระหว่างขับรถกลับบ้านนาเกลือมีขบวนจักรยานเสือภูเขาปั่นกันเป็นกลุ่มๆ ตอนเห็นกลุ่มแรกยังไม่ได้คิดอะไร แต่พอเห็ยเยอะขึ้นจึงเพิ่งสังเกตว่า สองข้างทางถนนเส้นนี้มีเลนสำหรับจักรยานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เชื่อว่านักปั่นคนไหนได้มาปั่นบนเส้นทางจักรยานสายนี้ต้องประทับใจแน่ เพราะนอกจากจะได้ชมนาเกลืออย่างใกล้ชิดแล้ว ยังจะได้ชมสัตว์นานาชนิดรวมถึงวิธีชีวิตชาวบ้าน ที่ไม่ค่อยคุ้นนตาชาวเมืองนักด้วย และในบางช่วงอาจได้เห็นการหาบเกลือ การขนเกลือที่ดูชุลมุน แต่สนุกสนานอีกต่างหาก

ถึงตอนนี้ผมจึงได้คิดว่ามานาเกลือได้ 2 วันแล้วยังไม่เห็นบรรยากาศแบบนั้นเลย ที่เห็นก็มีเพียง “ในนา” ที่เดินไปมาตรวจตราความเรียบร้อยคอยเปิดน้ำเข้านาแปลงนั้น คอยปิดน้ำในนาแปลงนี้ ยกเครื่องสูบน้ำย้ายไปนาแปลงนั้น ลากเครื่องสูบย้ายน้ำมานาแปลงนี้

(“ในนา” สำหรับการทำนาเกลือหมายถึง ผู้ที่คอยตรวจดูความเรียบร้อยทั้งหมด คอยตรวจความเข้มข้นของน้ำว่าเหมาะสมหรือยัง ควรที่จะเพิ่ม ควรที่จะลด ควรที่จะเปิด ควรที่จะปิดน้ำ พูดง่ายๆ คือเป็นเหมือนผู้ที่จัดการนั่นแหละครับ)

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

พี่บัวบอกว่าให้ใจเย็นๆ การขนย้ายเกลือเข้าไปเก็บไว้ในยุ้ง สำหรับที่นี่จะทำกันประมาณ 4 วัน ต่อ 1 ครั้ง ส่วนที่ว่าทำไมต้อง 4 วัน ต่อครั้ง ทำไมต้องมีแปลงนาหลายแปลง หลายขนาด เดี๋ยววันนี้ได้รู้ชัดแน่ แต่เขาเริ่มกระบวนการขนเกลือกันตอนตีสอง จะไหวไหมล่ะ ผมรู้สึกว่าคำถามนั้นกึ่งท้าทายยังไงไม่รู้

เวลาแดดร่มลมตก หมู่นกแปรขบวนกลับรัง สายลมโชยอ่อนๆ หอบความสดชื่นติดมาด้วย มนุษย์ตัวกระจ้อยร่อย 2 คน เดินลงไปในผืนนาอุ้มน้ำอันกว้างใหญ่ คันนาเล็กขนาดเดินสวนกันไม่ได้อาจไม่มีปัญหาสำหรับมืออาชีพ แต่สำหรับมือสมัครเล่นอย่างผมเป็นปัญหามาก ต้องใช้ทักษะการทรงตัวอย่างเต็มความสามารถ ต้องระวังทุกฝีก้าว มิฉะนั้นอาจได้เล่นน้ำทะเลกลางนาเกลือ

การทำนาเกลือหากมองเผินๆ เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นอะไร แต่ถ้าเจาะลึกกันจริงๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่น้อย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ยุ้งที่ใช้เก็บเกลือ มองเผินๆ ก็เป็นเพียงยุ้งธรรมดา ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ถ้าได้รู้ว่ายุ้งที่เห็นว่าปลูกสร้างง่ายๆ นี้ใช้งบสร้างเป็นล้าน คงไม่มีใครคิดว่าเป็นยุ้งธรรมดาอีกแน่ ความพิเศษของยุ้งเกลืออยู่ที่โครงสร้างทั้งหมดต้องใช้ไม้ เพราะเหล็กกับเกลือไม่ถูกกัน และพิเศษอีกอย่าง ไม้ที่นำมาทำยุ้งเกลือต้องแช่น้ำเกลือจนได้ที่แล้วด้วย ถึงจะแข็ง ผมลองเอามือทุบเสาแต่ละต้นดูแล้ว บอกได้คำเดียวว่าหนักแน่นมั่นคงมาก

สะดุดตาขันกับถังน้ำเล็กๆ ที่วางไว้เป็นจุดๆ ตามคันนา ตอนแรกคิดว่าเอาไว้สำหรับตักน้ำขึ้นมาดูความเข้ม และคิดเลยเถิดไปว่า เอาไว้ตักน้ำชึ้นมาชิม แต่ที่คิดไว้ผิดทั้งหมด ขันและถังเหล่านั้นเอาไว้ปิดทางเข้าออกของน้ำ ความยืดหยุ่นของพลาสติกปิดฝาท่อได้สนิทดีนัก

ที่ต้องเปิดๆ ปิดๆ ทางเดินน้ำระหว่างแปลงต่าง ๆ เพราะการทำนาเกลือไม่ใช่แค่นำน้ำมาใส่แล้วรอปฏิบัติการระเหยจากสายลมแสงแดดเท่านั้น ต้องผันน้ำเข้ามาเรื่อยๆ ทีละขั้น ขั้นแรกผันน้ำจากทะเลเข้ามาไว้ก่อนในบ่อพัก หรือที่เรียกว่า “นาตาก” เจ้านาตากนี่แหละที่ผมสงสัยตั้งแต่วันแรกว่าทำไมถึงได้ใหญ่โตราวทะเลสาบ ที่ไม่ต้องทำคันดินให้เป็นระเบียบมากนัก เพราะเป็นเหมือนบ่อน้ำนั่นเอง

ขั้นต่อมาผันน้ำจากบ่อพักเข้ามาใน “นาเชื้อ” (ความเข้มของนาเชื้อจะมากกว่านาตาก) ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน แล้วค่อยผันเข้าไปใน “นาปลง” ต่อไป น้ำทะเลที่ถูกผันเข้ามาไว้ในนาปลง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการผลิตเกลือจะมีความเข้มข้นที่สุด ความเข้มข้นในที่นี้หมายถึงความเค็ม (ผมแอบชิมน้ำทะเลแค่ละนามาแล้ว รับประกันครับว่าความเค็มไม่เท่ากันจริงๆ)

ที่ว่านาเกลือในนาปลงเค็มที่สุดในสามกระบวนนั้น เพราะที่เข้มกว่า เค็มกว่าที่มี นั่นคือ “ดอกเกลือ” เจ้าดอกเกลือนี้จะลอยเด่นขึ้นมาในนาเหนือเกลือทั้งมวล เป็นเกลือที่มีคุณภาพดีที่สุด ละเอียดที่สุด และราคาแพงที่สุด แต่ชาวนาเกลือส่วนใหญ่ไม่ได้ขายดอกเกลือ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเข้มข้น ความเค็มที่เข้มข้นจะกลายเป็นความขมที่ข้นเข้ม อกเกลือจึงต้องเก็บไว้ในยุ้งเป็นปี เพื่อให้ความเค็มคลายลง

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ปัจจะบันมีการทำนาเกลืออีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า “นาเกลือพลาสติก” นาชนิดนี้จะใช้พลาสติกแผ่นใหญ่มาปูทับไว้บนพื้นนา การนำพลาสติกมาปูทับพื้นดินจะประหวัดเวลากว่า เพราะไม่ต้องกลิ้งดินใหม่ตอนจะผันน้ำจากนาตากเข้ามาในนาปลง ถ้าใครเคยเห็นรถคันเล็กๆ คล้ายๆ รถกอล์ฟวิ่งเล่นไปมาในนาเกลือ นั่นแหละครับ คือการกลิ้งดิน พูดง่ายๆ คือบดดินให้เรียบและแน่น แน่นชนิดสุดแน่น ทั้งนี้เพื่อให้มีดินปะปนในเกลือน้อยที่สุดนั่นเอง และเชื่อกันอีกอย่างหนึ่ง่า ความร้อนที่ได้จากพลาสติกจะช่วยให้น้ำระเหยเร็วขึ้น

การทำนาเกลือไม่ยาก แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ความเสี่ยงที่ว่าจะอยู่ในขั้นของนาปลง ขณะที่อยู่ในนาปลง ปริมาณความเค็มได้ที่แล้วพร้อมที่จะกลายร่างจากน้ำทะเลเป็นเกลือแล้ว แต่หากถูกฝน ซึ่งเป็นน้ำจืดโปรยลงมาชะล้างจนความเค็มจืดจางลง ก็เท่ากับว่าที่ทำมาทั้งหมดทุกขั้นตอนเป็นอันโมฆะ ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่เฝ้าฟูมฟักต้องสูญเปล่า

เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมนาเกลือ ดูการปั้นน้ำเป็นเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ฤดุฝนจึงถือเป็นเทศกาลพักผ่อนของชาวนาเกลือ แต่ก็มีบางเจ้าที่เสี่ยงทำกัน ทั้งนี้เพราะเกลือในฤดูฝนจะได้ราคาดีกว่า เรียกว่า “เกลือทวาย”

นาฬิกาปลุกทำหน้าที่อย่างแข็งขัน คำรามเสียงลั่นจนสะดุ้ง ตีสองครึ่งแบบนี้บริเวณบ้านดูวังเวง เงียบเหงา แต่ห่างออกไปไม่ถึง 50 เมตร ชาวนาเกลือกำลังเข้มแข็งคึกคัก พี่บัวพาผมเดินฝ่าความมืดไปตามคันนา คันนาที่ว่าเดินยากในตอนกลางวัน ยามมืดเช่นนี้ยิ่งยากกว่าหลายเท่า

เมื่อไปถึงชาวนาเกลือเหลียวมองมาแวบหนึ่งแล้วปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อ พวกเขาอัธยาศัยดี ทำงานกันอย่างมีความสุข “มาถ่ายตอนนี้จะเห็นอะไรล่ะ ต้องมาตอนเช้าสิ จะได้เห็นหน้าหนวดกันหน่อย” เสียงสตรีสูงวัยผู้หนึ่งเอ่ยเย้า “ตอนนี้เอาฤกษ์เอาชัยก่อนครับ เดี๋ยวตอนเข้าค่อยเอาจริงเอาจัง” ผมตีโต้กลับไป

เสียงหัวเราะดังแทรกความมืด พรุ่งนี้เช้าต้องสนุกแน่ๆ ผมเชื่ออย่างนั้น  นาฬิกาปลุกทำหน้าที่อีกครั้งตอนตีห้าครึ่ง ผมรีบคว้ากล้องคู่ชีพ เดินฝ่าสายลมเย็นไปที่ท้องนาเกลือ แสงสีทองเริ่มปรากฏรำไร กลุ่มเงาดำไหวตะคุ่มๆ อยู่ในผืนนานั้น กองเกลือรูปร่างคล้ายพีระมิดถูกจัดเรียงรายไว้อย่างเป็นระเบียบ เงาของพีระมิดน้อยที่สะท้อนลงบนผืนน้ำเพิ่มความงดงามและเข้มขลัง

เป็นความโชคดีที่ยังเหลือแปลงเกลือยังไม่ได้จัดการอีกหนึ่งแปลง ผมจึงได้เห็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น ในขั้นแรกชาวนาเกลือจะใช้ “คทารื้อ” ที่มีลักษณะคล้ายๆ เสียมแซะแผ่นเกลือในผืนนาให้ร่วนขึ้น ลักษณะคล้ายๆ การพรวนดินผสมกับการถูบ้าน โดยแต่ละคนจะยืนเรียงแถวหน้ากระดาน ปักเสียมไว้ตรงหน้าแล้วเดินดันไปเรื่อยๆ ขั้นต่อไปจะให้ “คทาแถว” เพื่อจัดเกลือให้เป็นแถวอันนี้จะใหญ่หน่อย ต้องใช้แรงงานชายร่างกำยำถึง 3 คน จากนั้นใช้ “คทาสุ้ม” ในการจัดแต่งแถวเกลือให้เป็นกองเล็กๆ

กองเล็กๆ ที่ว่าคือกองเกลือที่เป็นทรงพีระมิดน้อยนั่นเอง เมื่อเสร็จขั้นตอนในการจัดเรียง ชาวนาเกลืออีกชุดหนึ่งจะเข้ามารับหน้าที่ต่อ ขั้นนี้เป็นขั้นของการจัดเก็บเกลือเข้าไว้ในยุ้ง ความชุลมุนที่เห็นจากระยะไกล เมื่อเข้ามาดูใกล้ๆ กลับกลายเป็นความสนุกสนาน ชาวนาเกลือผู้ทะมัดทะแมงเหล่านี้ใช่มีเพียงผู้ชาย หากแต่มีผู้หญิงร่างกายบอบบาง มีเด็กตัวน้อยปะปนอยู่ด้วย เกลือที่พวกเขาหาบกันในแต่ละเที่ยวน้ำหนักไม่น้อย เด็กตัวกระจ้อยกว่าจะคอนขึ้นได้ต้องมีอาการเซให้เห็นทุกที ผมรู้สึกสงสารที่เห็นเด็กๆ ต้องมาลำบาก แต่ก็รู้สึกชื่นชมที่เขารู้จักเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว วินาทีนั้นผมจึงตระหนักว่า แม้ก้อนเกลือจะกระจิริด แต่หล่อเลี้ยงชีวิตได้นับร้อยนับพัน

ประติมากรรมรูปนกทะเลที่สร้างจากเกลือ
ประติมากรรมรูปนกทะเลที่สร้างจากเกลือ

“ที่ยากที่สุดในการหาบเกลือ ก็คือความร้อนจากแสงแดด ยิ่งสายจะยิ่งร้อน ยิ่งร้อนก็จะยิ่งแสบ แต่จะท้อไม่ได้ จะถอยไม่ได้ คนที่บ้านรอกินข้าวอยู่” คำบอกเล่าของชาวนาเกลือคนหนึ่งทำให้ผมตระหนักว่า เม็ดเหงื่อที่ผุดขึ้นบนผิวหน้า หยาดเหงื่อที่หยดลงบนผืนดิน มีคุณค่ามากมายเพียงใด

ปัจจุบันราคาที่ดินพุ่งสูง เจ้าของนาเกลือที่ทนราคาไม่ไหวจึงทยอยขายที่กันเยอะ การทำนาเกลือจึงลดน้อยถอยลง กลัวเหลือเกินว่าอาจเป็นอย่างที่ป้ายสลักไว้ ในอนาคตอาจจะไม่เหลืออาชีพนี้ให้ได้เห็น

คู่มือนักเดินทาง

การเดินทางเที่ยวชมนาเกลือ ขับรถไปตามถนนพระราม 2 เมื่อเลยจังหวัดสมุทรสงคราม ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ลงสะพานไปสักพัก ทางซ้ายมือจะเห็นปั๊ม ปตท. ให้ออกทางขนาน เลยปั๊ม ปตท. ไปราว 20-30 เมตร จะมีทางให้เลี้ยวซ้าย (ทางลัดไปชะอำ) ตรงไปตามป้ายบอกทาง ผ่านสถานีตำรวจยี่สาร สะพานเฉลิมพระเกียรติ (ปากอ่าวบางตะบูน) ที่ว่าการอำเภอบ้านแหลม แล้วผ่านวงเวียน ตรงเข้าสู่ถนนแห่งการเรียนรู้ ตามทางไปเรื่อยๆ ถึงโค้งขวา (กักศอก) ทางด้านขวาของถนนติดกับโค้งจะมีร้านกาแฟ Banlaem Country Shop และสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่ร้านกาแฟ

ช่วงเวลาท่องเที่ยวที่เหมาะสม ตลอดทั้งปี (ยกเว้นฤดูฝน)

 

ขอบคุณ อสท.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *