Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร

ศาลหลักเมืองเดิม ตั้งอยู่ที่ปากคลองอ้อม ตำบลศรีเมือง ฝั่งตะวันตกแม่น้ำ เจ้าพระยาใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๘ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรี จากบ้านตลาดขวัญมาอยู่ที่ปากคลองอ้อม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรี กลับมาตั้งที่บ้านตลาดขวัญดังเดิม ศาลหลักเมืองที่ปากคลองอ้อมจึงยังคงอยู่ที่เดิมถึงปัจจุบัน

วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลสวนใหญ่ ห่างจากตัวเมืองมาทางด้านใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร ด้านหน้าของวัดติดริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนด้านหลังติดถนนพิบูลสงคราม มีพื้นที่ประมาณ ๒๖ ไร่เศษ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเรียกว่า “วัดเขมา” ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดบัญชีกฐินหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี ทรงขอวัดนี้มาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เรียกว่า วัดเขมา ยังไม่มีสร้อยต่อท้ายต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานสร้อยนามต่อท้ายว่า “วัดเขมาภิรตาราม” ปีพ.ศ. ๒๕๒๕ พระราชวงศ์จักรีมีอายุ ๒๐๐ ปี มีพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการวัด มีความเห็นว่าวัดนี้มีความสำคัญกับราชวงศ์จักรี พระบรมวงศานุวงศ์ทรงให้ความอุปถัมภ์บำรุงมาตลอด จึงมีมติสร้างศาลาอเนกประสงค์ชื่อศาลา ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์ สูง ๓๐ เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่ ศิลปะสมัยอยุธยา อัญเชิญมาจากพระราชวังจันทร์เกษม และยังมีพระตำหนักแดงและพระที่นั่งมณเฑียรตั้งอยู่ด้วย

การเดินทาง  รถโดยสารสองแถวสายเรวดี-วัดปากน้ำ หรือเรือด่วนเจ้าพระยา โดยลงที่ท่าน้ำนนทบุรี แล้วต่อรถโดยสารประจำทางสาย ๒๐๓ หรือโดยสารเรือข้ามฟากจากท่าน้ำบางศรีเมือง ไปฝั่งท่าน้ำนนทบุรีแล้วต่อด้วยรถโดยสารประจำทางสาย ๒๐๓ หรือ สอบถามรถโดยสารประจำทางได้ที่ โทร. ๑๘๔

วัดสังฆทาน
วัดสังฆทาน

วัดสังฆทาน ตำบลบางไผ่ สันนิษฐานว่าเดิมชื่อวัดศาริโข สร้างขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยช่างที่มีความชำนาญตามแบบลังกาวงศ์ในสมัยกรุงสุโขทัย วิเคราะห์จากหลักฐานพุทธลักษณะจากองค์หลวงพ่อโตและกระเบื้องเชิงชายหรือกระเบื้องหน้าอุดของหลังคาอุโบสถหลังเก่าและอิฐที่สร้างองค์พระกับฐานพระอุโบสถ องค์พระประธานคือ หลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิปูนปั้น มีพุทธลักษณะและพุทธศิลป์เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้างแต่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและที่อื่นๆ ยังคงมาสักการะบูชาองค์หลวงพ่อโตมิได้เสื่อมคลาย ชาวบ้านจึงต้องนิมนต์พระจากละแวกใกล้เคียงมาเพื่อถวายสังฆทานจนถูกเรียกขานกันติดปากว่า “วัดสังฆทาน” สิ่งที่น่าชมในวัดคือ อุโบสถแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ใช้เวลาสร้าง ๑ ปีครึ่งมีสองชั้น ชั้นบนเป็นที่สำหรับบวชพระภิกษุ ใช้เป็นสถานที่สวดมนต์ นั่งสมาธิ ชั้นล่างเป็นห้องรับบริจาคและห้องสมุด วัดนี้มีลักษณะแบบสำนักป่ามีธรรมชาติรอบข้างร่มรื่นเหมาะแก่ผู้ประสงค์จะเจริญภาวนา มีกุฏิแปลกกว่าที่อื่น คือ เป็นรูปเรือ มีโครงการบวชเนกขัมมะ (สตรีผู้ถือศีล ๘) ทุกวัน สอบถามที่วัดสังฆทาน โทร. ๐ ๒๔๔๗ ๐๗๙๙, ๐ ๒๔๔๗ ๐๘๐๐, ๐ ๒๔๔๗ ๒๓๖๓

การเดินทาง รถยนต์ จากฝั่งกรุงเทพฯ วิ่งไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ข้ามสะพานพระราม ๕ ชิดซ้ายจะเห็นป้ายวัดสังฆทาน เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร หรือ นั่งเรือข้ามฟากจากท่าน้ำนนทบุรีไปท่าน้ำบางศรีเมืองและต่อรถสองแถวเข้าไปยังวัดสังฆทาน

วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางไผ่ ไปทางที่ว่าการ อบต.บางไผ่ เดิมชื่อวัดสามจีน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๐ ซุ้มประตูหน้าต่างที่พระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ บานประตูวิหารเป็นไม้จำหลักรูปเซี่ยวกางสวยงามมาก โบราณสถานในวัดได้แก่ วิหารทรงโรงก่ออิฐถือปูน ๓ ห้อง ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี มีจิตรกรรมฝาผนังภายใน ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ เช่น ตอนมารผจญ ตอนสัตตมหาสถาน ตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาเสด็จจากดาวดึงส์

วัดโชติการาม
วัดโชติการาม

การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปวัดสังฆทาน จะมีป้ายชี้บอกตลอด ทางวัดไทรม้าเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ ๘๗ หมู่ที่ ๔ ตำบลไทรม้า ทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา วัดไทรม้าเหนือสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๐๐ ในสมัยอยุธยาตอนปลายไม่ทราบประวัติผู้สร้างวัด โดยที่มีวัดอีกวัดหนึ่งใกล้ชิดกันเรียกว่า “วัดไทรม้ำใต้” ที่ท่าน้ำของวัดมีฝูงปลาจำนวนมากอาศัยอยู่

การเดินทาง จากแยกแคราย ข้ามสะพานพระนั่งเกล้า แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสวนอาหารแดรี่ควีนประมาณ ๑.๕ กิโลเมตรก็ถึงวัด

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ซอยเฉลิมพระเกียรติ ๑๕ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ เพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกีและสมเด็จพระราชชนนี สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายในเขตพระอารามมีความสงบ สะอาด ร่มรื่น ศิลปะ สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างต่างๆในวัดอนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้และมีความกลมกลืนกัน วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปีพ.ศ.๒๕๓๖ จากสมาคมสถาปนิกสยาม

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

สถาปัตยกรรมในวัดที่น่าสนใจได้แก่

พระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ (คือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลผสมจากจีน) หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบเก๋งจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี สลับลวดลายใบดอกพุดตาน กระจังฐานพระ ช่อฟ้าใบระกา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสลับลายจากประเทศจีน ผนังด้านในเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีช่อดอกพุดตานภายใน เพดานลายฉลุปิดทอง ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปใบและดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก ผนังภายในพระอุโบสถเขียนสีลายดอกไม้ร่วง บานประตูหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ กรอบประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นยกดอกพุดตาน พื้นประดับกระจกส่วนด้านในของบานประตูหน้าต่างเขียนรูปกอบัว ดอกบัว นก และสัตว์น้ำ

พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ มีตำนานเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้ขุดแร่ทองแดงที่อำเภอจัณทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ถลุงเป็นเนื้อทองแดงมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะ ใช้ทองแดงนั้นให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาก่อน จึงโปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอาราม ซึ่งทรงสร้างใหม่ ๒ พระอาราม คือ วัดราชนัดดากับวัดเฉลิมพระเกียรติ และยังได้โปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปปางอื่นอีก ๓๔ ปางด้วย พระประธานนี้หล่อเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๙ องค์ที่อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดราชนัดดานั้น เวลาชักเคลื่อนองค์พระไปวัดเกิดอาเพศ ตะเฆ่ (เครื่องลากเข็นของหนักรูปเตี้ยๆ มีล้อ) ประดิษฐานพระไปทับเอาเจ้าพระยายมราช (บุญนาค) กับทนายอีก ๒ คน ตาย เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ถวายพระนามพระประธานว่า “พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา

พระวิหารหลวง หรือเรียกกันว่า วิหารพระศิลาขาว อยู่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานศิลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวาเป็นพระศิลานั่งพับเพียบซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว

พระเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง มักเรียกกันว่า ทรงลังกา เนื่องจากได้รับแบบอย่างมาจากลังกา พร้อมกับการเผยแพร่เข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ มีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้นสูง ๔๕ เมตร ภายในบรรจุพระบรมธาตุยังมีถาวรวัตถุอื่นที่สำคัญ เช่น การเปรียญหลวง อาคารแบบผสมระหว่างอาคารทรงไทยกับเครื่องบนหลังคาแบบจีน ลักษณะเป็นตึกทรงโรงมีเสาอยู่ข้างใน ภายในประดิษฐานพระชัยวัฒน์ ซึ่งหาชมได้ยาก นอกจากนี้ยังมี กุฏิทรงไทย อยู่ด้านเหนือเขตพุทธาวาสจำนวน ๒๐ หลัง เป็นเรือนไทยภาคกลางใต้ถุนสูง กำแพงแก้วและป้อมปราการ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเหมือนกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีป้อมปราการทั้งสี่มุม ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีพระศรีมหาโพธิ์ ต้นโพธิ์พันธุ์พุทธคยาที่ได้มาสมัยรัชกาลที่ ๔

อุทยานกาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ซอยเฉลิมพระเกียรติ ๑๓ ถัดจากวัดเฉลิมพระ-เกียรติวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ กรมธนารักษ์เป็นผู้จัดสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ ๙๐๐ ล้านบาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และเพื่อเป็นที่พักผ่อนของประชาชน และเป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้น้ำ ไม้ชายน้ำ พืชสวน และสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา ๐๕.๓๐-๑๘.๓๐ น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม

อาคารที่เป็นจุดเด่น คือ วิมานสราญนวมินทร์ เป็นพลับพลาโถงเครื่องยอดแหลม ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาลดชั้นยอดแหลมทรงมณฑป ประดับฉัตรสามชั้นสัญลักษณ์แสดงเครื่องยศของประเภทอาคารชั้นสูง

ถัดมาไม่ไกลเป็นเรือนไทยหมู่สำหรับพักผ่อนและบริการ เป็นเรือนไม้สัก ทั้งหลัง ประเภทเครื่องสับลูกประสัก (ลูกประสักคือ ไม้หมุดสำหรับตรึงกงเรือนต่างตะปู) ระดับชั้นคหบดีแต่โบราณ

บริเวณริมน้ำจากท่าเรือรับเสด็จเป็นส่วนของอาคารพลับพลาโถงจตุรมุข รับเสด็จ เป็นศาลาโล่งหลังคาลดชั้นสี่ทิศ และศาลาบริวารทั้งสามหลังเป็นงานไม้เครื่องลำยองรูปแบบอย่างโบราณ ลวดลายประยุกต์ออกแบบตามฉันทลักษณ์ ใช้ไม้สักแกะลงรักปิดทองคำเปลวร้อยเปอร์เซ็นต์ ประดับกระจกสีให้เหมาะกับลักษณะใช้สอยที่เป็นอาคารประกอบพิธี

สุดมุมริมน้ำเป็นอาคารบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีแต่เดิม เป็นจุดเริ่มเข้าไปสู่บรรยากาศของสวนผลไม้ที่อนุรักษ์ไว้ มีทั้งสวนกระท้อน ทุเรียน มังคุด ขนุน มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น

การเดินทาง รถยนต์ เข้าไปตามถนนบางกรวย-ไทรน้อยแล้วเลี้ยวเข้าท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งธนบุรี) จะมีป้ายบอกทางตลอด หากมาจากฝั่งกรุงเทพฯข้ามสะพานพระราม ๕ แล้วแยกเข้าถนนบางกรวย–ไทรน้อย หรือข้ามจากสะพานพระนั่งเกล้า ถึงแยกบางพลู เลี้ยวซ้ายผ่านวัดสวนแก้ว ขับไปตามทางมีป้ายบอกทางเช่นกัน

เรือ นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปยังท่าน้ำนนทบุรีแล้วลงเรือหางยาวประจำเส้นทางไปคลองบางใหญ่ ออกจากท่าน้ำนนทบุรีทุก ๒๐ นาที ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๕ นาที

รถโดยสำรประจำทาง ขึ้นรถโดยสารประจำทางหรือรถสองแถวจากท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งธนบุรี)

อ่านต่อ สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมืองนนทบุรี (ตอนที่ 2)

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *