แหล่งท่องเที่ยวอำเภอพิมาย นครราชสีมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านสัมฤทธิ์ตะวันออก ตำบลสัมฤทธิ์ ห่างจากตัวเมือง ๔๖ กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔๓-๔๔ แยกขวาเข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร บริเวณที่โล่งกว้างนี้เคยเป็นสนามรบระหว่างชาวโคราชและทหารลาวเมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาล ที่ ๓ ปัจจุบันมีการสร้างศาลสถิตย์ดวงวิญญาณนางสาวบุญเหลือและวีรชน ซึ่งชาวบ้านสัมฤทธิ์ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ดวงวิญญาณของนาวสาวบุญเหลือและวีรชนชาวโคราชที่ได้ทำการต่อสู้กับกองทัพลาวจนได้ชัยชนะ มีการจัดงานฉลองและรำลึกถึงวีรกรรมทุกปี ระหว่างวันที่ ๓-๕ มีนาคม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย บริเวณเชิงสะพานท่าสงกรานต์ ก่อนถึงปราสาทหินพิมายเล็กน้อย จากตัวเมืองนครราชสีมา เดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตรถึงทางแยกตลาดแคเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง ๒๐๖ อีก ๑๐ กิโลเมตร หากใช้บริการรถโดยสารสามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งแห่งที่ ๒ ในตัวเมืองนครราชสีมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีและจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมอีสานในอดีต โดยเฉพาะโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบในเขตอีสานตอนล่าง แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๓ ส่วน

ส่วนที่ ๑ อาคารจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของสังคมในดินแดนอีสานตอนล่าง แสดงถึงรากฐานการกำเนิด อารยธรรมซึ่งมีมาจากความเชื่อต่าง ๆ ตลอดจนอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

ส่วนที่ ๒ อาคารชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะเขมรในอีสานตอนล่าง

ส่วนที่ ๓ อาคารโถง จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทราย เช่น ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน บัวยอดปราสาท และปราสาทจำลอง นอกจากนี้บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ยังได้จัดแสดงใบเสมาและทับหลังที่สวยงามอีกด้วย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมระหว่างวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร ค่าเข้าชม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๑๐๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๔๔๔๗ ๑๑๖๗

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยขอมที่ใหญ่โตและงดงามอลังการนั่นคือ“ปราสาทหินพิมาย” แหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ ๑๑๕ ไร่ วางแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร

ชื่อ “พิมาย” น่าจะมาจากคำว่า “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิมาย และยังปรากฏชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนสถาน

สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ต่างจากปราสาทหินอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองโศธรปุระเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้

จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะการก่อสร้าง บ่งบอกว่าปราสาทหินพิมายคงจะเริ่มสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ รูปแบบทางศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นแบบปาปวนซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น โดยมีลักษณะของศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัย ต่อมาปนอยู่บ้าง และมาต่อเติมอีกครั้งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมร ปราสาทหินแห่งนี้สร้างเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานมาโดยตลอด เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

ปราสาทหินพิมายมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจ ดังนี้

สะพานนาคราช ซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกของปราสาท ซุ้มประตูและกำแพงชั้นในหรือ ระเบียงคด)

ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคด เป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้ ปรางค์ประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ ต่างจากซุ้มประตู(โคปุระ)และกำแพงชั้นในและชั้นนอกที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นหลัก มีหินทรายสีขาวเป็นส่วนประกอบบางส่วน เนื่องจากหินทรายสีขาวมีคุณสมบัติคงทนดีกว่าหินทรายสีแดง องค์ปรางค์สูง ๒๘ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองยาวด้านละ ๒๒ เมตร ด้านหน้ามีมณฑปเชื่อมต่อกับองค์ปรางค์โดยมีฉนวนกั้น องค์ปรางค์และมณฑปตั้งอยู่บนฐานะเดียวกัน ส่วนด้านอื่น ๆ อีกสามด้านมีมุขยื่นออกไปมีบันไดและประตูขึ้นลงสู่องค์ปรางค์ทั้งสี่ด้าน

ไทรงาม

ปรางค์พรหมทัต  ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธานเยื้องไปทางซ้ายสร้างด้วยศิลาแลง มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้าง ๑๔.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๑๕ เมตร สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ภายในปรางค์พบประติมากรรมหินทรายจำหลักเป็นรูปประติมากรรมฉลององค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่๗ (จำลอง) ที่เรียกว่า ปรางค์พรหมทัต ก็เพื่อให้เข้ากับตำนานพื้นเมืองเรื่องท้าวพรหมทัตพระเจ้าแผ่นดิน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เก็บรักษาองค์จริงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ทางด้านขวา สร้างด้วยหินทรายสีแดง กว้าง ๑๑.๔๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร มีมุขยื่นออกไปเป็นทางเข้าทั้ง ๔ ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะตอนกรรณะล่าหมูป่า ออกจากระเบียงคด (กำแพงชั้นใน) มาบริเวณลานชั้นนอกทางด้านทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย มีสองหลังตั้งอยู่คู่กัน และมีสระน้ำอยู่ทั้งสี่มุม

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศคนละ ๑๐๐ บาท มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยา นำชมสถานที่ฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. ๐ ๔๔๔๗ ๑๕๖๘

โบราณสถานนอกกำแพงปราสาทหินพิมาย มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้         

ประตูเมืองและกำแพงเมืองพิมาย สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ บรรดาประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ ประตูชัยด้านทิศใต้นับเป็นประตูเมืองที่สำคัญที่สุดเพราะรับกับถนนโบราณที่ตัดผ่านมาจากเมืองพระนครเข้าสู่ตัวปราสาทพิมาย หากหยุดยืนที่ช่องประตูเมืองด้านทิศใต้ จะมองเห็นปราสาทหินพิมายผ่านช่องประตูเมืองพอดี ลักษณะประตูเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางผ่านตลอดกลางประตู ส่วนของหลังคาได้หักพังไปหมดแล้ว

เมรุพรหมทัต อยู่นอกกำแพงปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันเป็นมูลดินทับถมจนเป็นรูปกลมสูงประมาณ ๓๐ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕๙ เมตร ที่เรียกว่าเมรุพรหมทัตเพราะเชื่อว่าเป็นที่ถวายเพลิงพระศพท้าวพรหมทัตตามตำนาน นั่นเอง แต่จากลักษณะการก่อสร้างเข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานทางด้านทิศใต้ได้แก่ ท่านางสระผม กุฏิฤาษี และอโรคยาศาล

กุฏิฤาษี เป็นโบราณสถานนอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลงฐานเป็นรูปสสี่เหลี่ยมจัตุรัสสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยาศาล (สถานพยาบาล) ตามที่กล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ไทรงาม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล บริเวณเขื่อนพิมาย โดยก่อนข้ามสะพานท่าสงกรานต์เข้าตัวอำเภอพิมาย จะมีทางแยกไปเขื่อนพิมายอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร บรรยากาศไทรงามแห่งนี้มีต้นไทรขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ไทรเหล่านี้เกิดจากต้นแม่อายุประมาณ ๓๕๐ ปี แผ่กิ่งก้านสาขาออกรากซึ่งเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่มากมายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตารางฟุต สถานที่นี้มีชื่อเสียงรู้จักกันมานานตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองพิมายเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๔ และได้พระราชทานนามว่า “ไทรงาม” ในบริเวณใกล้เคียงมีร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหารหลายร้าน อาหารที่นักท่องเที่ยวนิยมมารับประทานกันมากคือ ผัดหมี่พิมาย(ผัดหมี่โคราช) ที่เส้นเหนียวนุ่มน่ากินไม่แพ้ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์

ไร่ส้มเพชรพิมาย อยู่ที่บ้านนิคมสร้างตนเอง สาย ๔ ซอย ๒ ห่างจากอำเภอพิมายประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๖๓ (พิมาย-หินดาด) มีป้ายบอกทางให้ชมและเลือกซื้อส้มสด ๆ ปลอดสารพิษทั้งส้มพันธุ์โชกุน สายน้ำผึ้ง แก้วมังกร มะนาวไร้เมล็ด มะละกอ ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณพิทักษ์ โทร. ๐๘ ๙๐๓๗ ๓๖๗๐ หรือ อาจารย์ทอง ธรรมดา โทร. ๐๘ ๙๙๗๗๒๙๘๘

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *