เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

ยามโบยบินเคียงปุยเมฆขาว เกาะลิบงดูราวหัวใจ ดั่งผืนกำมะหยี่สีเขียวกลางทะเลคราม

แหลมจูโหยปรากฏตรงขอบฟ้าด้านใต้ มองเห็นหาดตูบเสมือนเกาะเล็กๆ ตรงปลายแหลม นั่นเอง บ้านอันอบอุ่นของ “นักเดินทาง”

4 ปีก่อน นอกจาก “ดุหยง” ที่นำพาผมมาเยือนเกาะนี้แล้ว ยังมีบรรดานกอพยพ-นักเดินทางผู้มาเยือนในฤดูหนาว ภาพฝูงนกทะเลนับพันนับหมื่นโบยบินเหนือชายหาด คล้ายเชิญชวนให้ผมมาเยือนที่นี่

ยามโบยบินเคียงข้างพวกเขา เกาะลิบงดูราวโลกอีกใบ

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

ห้วงน้ำสีครามกางกั้นลิบงกับผืนแผ่นดินใหญ่ มองเห็นเรือลำเล็กจ้อยลอยล่อง ขณะผืนกำมะหยี่บนเกาะนั้นคือพรรณไม้อันหลากหลายทั้งเรือนยอดของมะพร้าว ป่าดิบ และภูเขา อ่าวด้านทิศใต้โอบล้อมไว้ด้วยป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์

ทั้งหมดทำให้ลิบงเป็น “บ้าน” ของนกนักเดินทางมากหลายชีวิต

ทุกๆ ปีเมื่อสายลมหนาวมาเยือนทะเลตรัง บรรดานักเดินทางจะโบยบินตามกันลงมา เนิ่นนานแล้วที่วิถีของพวกเขาเป็นเช่นนั้น จากบ้านเกิดซึ่งขาดแคลนอาหารและหนาวเหน็บเกินจะอยู่รอดได้

พวกเขาออกโบยบินลงใต้ เลาะเลียบผืนแผ่นดินและชายฝั่งทะเลระยะทางอันยาวไกลจากซีกโลกทำให้พวกเขาจำต้องหาสถานที่แวะพัก ลิบงคือบ้านอันอบอุ่นหลังนั้น

เสมือนไอเอซิสกลางทะเลทรายอันกว้างใหญ่ ลิบงปรากฏระหว่างท้องทะเลกับผืนแผ่นดิน บริเวณที่มีแม่น้ำและลำห้วยทอดสาย ตะกอนดินอันอุดมนำพาปูปลาและอาหาร รวมถึงฟูมฟักให้เกิดแนวหญ้าทะเลอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง

ไม่เพียงนกนักเดินทาง กลางทะเลอันเหมาะสมเช่นนี้ ชิวิตพิเศษอย่าง “ดุหยง” ก็ดำรงอยู่ ณ ที่แห่งนี้ด้วย

ยามโบยบินเคียงปุยเมฆขาว ลิบงจึงดูราวจุดหัวใจ

หัวใจสีเขียวกลางท้องทะเลคราม

เรื่องเล่าเก่าๆ พาเราย้อนเวลากลับไป

“เมื่อก่อนเรามีแตงโมพันธุ์ดี เรียกว่า “แตงจีน” ว่ากันว่าเนื้อหวานอร่อย พระยาลิบงยังนำไปฝากเพื่อนที่ปีนังบ่อยๆ “ อิสมาแอน เบ็ญสะอาด ชายหนุ่มแห่งบ้านบาตูปูเต๊ะ เล่าเรื่องราวบ้านเกิดของตน

เราเดินตามอิสมาแอนไปหลังหมู่บ้าน รอยทางรางๆ นำไปพบสุสานและสิ่งก่อสร้างโบราณ ร่องรอยที่บอกเล่าว่าลิบงเคยเป็นเมืองท่าสำคัญมาก่อน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลิบงคือที่ตั้งสถานที่ว่าราชการของเมืองตรัง เพราะทำเลอันเหมาะสมเรือค้าขายจากปีนัง ไทรบุรี มลายู กันตัง รวมถึงเรือจากบางกอกก็ขึ้นล่องผ่านยังจุดนี้

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

หยุดยืนมองซากอิฐเก่ากร่อน ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่า “ลิบง” ในขุคนั้นมีหน้าตาเช่นใด

บ้านบาตูปูเต๊ะคือ 1 ใน 4 หมู่บ้านที่มีบนเกาะ ทั้งหมดดำรงชีวิตคล้ายคลึงกัน คือ เรียบง่าย มีเรือเป็นเครื่องมือยังชีพ มีสินทะเลเลี้ยงให้อิ่มเอมเติบใหญ่

สำหรับที่นี่ เงินดูจะเป็น “ปัจจัยรอง” เมื่อเที่ยบกับผู้คนบนฝั่ง

“เราพยายามดูแลทะเบให้ดีที่สุดค่ะ” จ๊ะไหน-พี่สาวของอิสมาแอนบอกพลางแกะปูปลาออกจากอวน

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่คนบ้านนี้ห่วงใยท้องทะเลอันเป็นบ้านของตน ปูปลาที่ได้มา หากตัวเล็กเกินควรก็เลี้ยงไว้หรือปล่อยคืนลงทะเล มีการตกลงร่วมกันว่า จะใช้ตาข่ายอวนให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่ปลาเล็กปลาน้อยจะหลุดรอดออกไปได้ ป่าชายเลนตรงไหนหายพร่อง ก็ปลูกเสริมเติมเต็มให้เหมือนวันวาน

บ่ายคล้อย เสียงละหมาดแว่วกังวานมาจากมัสยิด ลมทะเลเย็นชื่นโบกโบย

น้ำทะเลค่อยๆ เพิ่มระดับ ปูลมค่อยๆ เคลื่อนจากชายเลนมายังชายฝั่ง ขณะฝูงนกยางทะเลบินมาเกาะใกล้ๆ ท่าเรือและชายคาบ้านไม้

“ตอนผมยังเด็ก จะไปกันตังทีต้องรอเรือหาปลาเป็นวันๆ เราจะเอาผ้าแดงไปผูกไว้ที่ท่าน้ำ รอเรือแวะมารับ ขากลับก็ต้องนอนกันตังคืนหนึ่ง รอให้เรือบรรทุกน้ำแข็งเต็มลำ วันที่สามนั่นล่ะจึงจะถึงบ้าน” อิสมาแอนเล่าแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี

เรื่องราวเก่าๆ คล้ายภาพยสตร์ผจญภัย ผู้คนพื้นเมือง เกาะอันห่างไกล

และสำหรับลิบง เรื่องเล่าชวนฟังคงมี “ดุหยง” รวมอยู่ในนั้นด้วย

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

เรื่องเล่าปรัมปรา บรรพบุรุษชาวมุสลิมกล่าวไว้ว่า “ดุหยง” สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์

เนิ่นนานมาแล้ว มีสามีภรรยาคู่หนึ่งอาศัยอยู่ริมทะเล ทั้งสองรักกันมาก

วันหนึ่ง ภรรยาซึ่งกำลังตั้งท้องรู้สึกอยากกินลูกหญ้าทะเล สามีก็ทำตามคำร้องขอด้วยความรัก ทว่าพอภรรยาได้กินแล้วเกิดติดใจในรสชาติยิ่งนัก วันหนึ่งผู้เป็นสามีหาลูกหญ้าทะเลมาไม่มากพอ นางจึงเดินลงทะเลเพื่อไปเก็บกินด้วยตัวเอง ด้วยความเพลิดเพลินหลงไหล นางติดอยู่ในแนวหญ้าทะเลขณะน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ฝ่ายสามีเมื่อหาภรรยาอันเป็นที่รักไม่พบ เขาจึงเดินลงทะเลตามนางไป

ทั้งสองกลายเป็นพะยูน และได้อยู่ร่วมกันตลอดกาล….

ตะวันดวงกลมค่อยๆ คล้อย

เกลียวคลื่นโยกโยนเรือลำน้อย ลมทะเลโบกโบย นกนางนวลแกลบบินร่อนบ่ายหน้านำไป

เรากำลังสังเกตการณ์ท้องทะเลเบื้องหน้า บนเรือประมงท้องถิ่นนอกจากพวกเราสามสี่คนแล้ว ยังมีชายผู้รู้จักดุหยงแห่งลิบงเป็นอย่างดีอยู่ร่วมด้วย เขาคือหย่าเหตุ หะหวา

“เราร่วมใจกันอนุรักษ์หญ้าทะเล อนุรักษ์พะยูน ถ้าไม่มีพวกเขา เราจะอยู่กันอย่างไร” อย่าเหตุเคยบอกกับผมเช่นนั้น

ผมมีโอกาสรู้จักชายผู้นี้เมื่อ 4 ปีก่อน คราวออกเรือสำรวจฝูงพะยูนด้วยกัน “ดุหยง” คือชื่อเรียกพื้นบ้านที่คนแถบนี้รู้จักกันดี

กล่าวสำหรับดุหยง พวกเขาคือ 1 ในสัตว์สงวน 15 ชนิดของบ้านเราชีวิตซึ่งเหลือน้อยนักแล้วในท้องทะเลไทย

ด้วยเครื่องมือซึ่งมุ่งหวังกำไรเป็นสำคัญ ทั้งอวนรุน วอนลาก อวนกระเบน ทำให้พวกเขาต้องล้มตายไปอย่างน่าเสียดาย ประชากรที่ลดลงอย่างน่าใจหายทำให้อนาคตของพวกเขายิ่งมือมน

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

พวกเขาคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในจำพวกวัวทะเล (Sea Cow) สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษคือสัตว์บกที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับบรรพบุรุษของช้าง หลายสิบล้านปีมาแล้วที่พวกเขาวิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำ กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร

จากเอกสารเผยแพร่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอาจารย์กาญจนา อดุลยานุโกศล หัวหน้ากลุ่มวิจัยสัตว์ทะเลหายาก ในการสำรวจอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี พบว่าท้องทะเลตรังแถบลิบง-เจ้าไหม คือถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในบ้านเรา

และจากการบินสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2549 พบพะยูนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 120 ตัว จากประชากรทั้งหมดราว 250 ตัวในทะเลไทย

เหตุผลเพราะว่า ที่นี่มีแนวหญ้าทะเลอันอุดม เหมือนผืนป่าสมบูรณ์อันเป็นบ้านของสัตว์ป่า

พ.ศ. 2536 ลูกพะยูนเพศเมียอายุปีเศษปรากฏตัวในบริเวณลิบงเจ้าไหม เขาเข้ามากินหญ้าทะเลใกล้ชายฝั่งจนค่อยๆ คุ้นเคยกับชาวเลแถบนั้น โดยเฉพาะกับชายชื่อหย่าเหตุ

“เจ้าโทนเขาชอบเล่น เหมือนลูกแมว ชอบใช้ปากดึงเสื้อดึงกางเกง บางทีดึงใบหูเรา” บังเหตุเล่าเรื่องราวอันงดงามครั้งเก่า

เจ้าโทรมีชีวิตอยู่ให้ผู้คนชื่นชมเพียงปีเดียว การตายครั้งนั้นส่งผลสะเทือนใจ เกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในวงกว้าง พวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวตรัง และทำให้คนลิบง-เจ้าไหมหันมาห่วงใยบ้านเกิดของตน

ตะวันดวงกลมค่อยๆคล้อย

เกาะลิบง ทะเลคราม ชีวิตยังคง

ห้วงยามนกนางนวลแกลบบินเรียผืนน้ำ ละอองน้ำกลุ่มหนึ่งผุดพุ่งลอยล่อง พะยูนตัวนั้นก็โจนลิ่วแล้วลับหาย

แม้ไม่ทันถ่ายภาพ เพียงได้พบ นั่นก็อิ่มเอมใจมากแล้ว

อิ่มเอมใจที่พวกเขายังคงอยู่

ยามโบยบินเคียงปุยเมฆขาว ลิบงดูราวหัวใจ ดั่งผืนกำมะหยี่สีเขียวกลางทะเลคราม

เรากำลังลองล่องเหนือท้องทะเลตรัง ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “พารามอเตอร์” ทำให้เราโบยบินเคียงปุยเมฆขาว โบยบินเคียงบ้างบรรดานกนักเดินทาง

ขณะเบื้องล่างนั่น ดุหยงฝูงหนึ่งกำลังแหวกว่าย คล้ายกลุ่มจุดสีชมพูท่ามกลางเส้นสายสีเขียวของแนวหญ้าทะเล

พวกเขายังอยู่ตรงนั้น หยอกล้อกันและกัน เลี้ยงดูลูกน้อย ดำผุดดำว่ายราวกับนิยายปรัมปรายังมีลมหายใจ ท้องทะเล เรื่องราวของความรัก ชีวิตยังคงดำเนินไป

คู่มือสำหรับนักเดินทาง

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ตั้งอยู่บนเกาะลิบง-กลางทะเลตรัง ที่ซึ่งยังเงียบสงบ ปลอดภัยและอุดมด้วยหญ้าทะเล

ที่นี่นับเป็นแหล่งอาศัยของดุหยงฝูงใหญ่ที่สุดในเมืองไทย รวมถึงเป็นสถานที่แวะพักของนกอพยพนับพันนับหมื่นในฤดูหนาว

ที่ทำการเขตห้ามล่า” ตั้งอยู่ตรงปลายแหลมจูโหย มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนกทะเลและพะยูน รวมถึงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน่าเยี่ยมชม

บริเวณเดียวกันยังมีบ้านพักรับรอง 4 หลัง พักได้หลังละ 20 คน และมีจุดกางเต็นท์

ที่นี่ใช้ไฟปั่น ไม่มีร้านอาหารให้บริการหากต้องการให้เตรียมอาหาร กรุณาติดต่อล่วงหน้า สอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 075 251 932

การเดินทาง มาเกาะลิบงสะดวกสุดใช้เส้นทางตรัง-กันตัง ระยะทาง 50 กิโลเมต ที่ท่าเรือหาดยาวมีเรือโดยสารไป-กลับลิบงทุกวัน เวลา 7.00-18.00 น. ค่าโดยสาร 30 บาท

จากตลาดท่ากลาง อำเภอเมืองตรัง มีรถตู้ประจำทางปรับอากาศตรัง-หาดยาว ทุกวัน เวลา 7.00-16.00 น. ค่าโดยสาร 60 บาท

แนะนำที่พักบนเกาะ ลิบงลีช รีสอร์ต บริการห้องพัก 22 ห้อง แอร์ น้ำร้อน ราคา 700-2,500 บาท พร้อมเรือรับส่ง โทรศัพท์ 081 747 4600, 984 849 0899

มีบริการเรือนำชมพะยูน หญ้าทะเล ดูนกหาดตูบ เต็มวันราคา 2,500 บาท เรือจุได้ 10 คน โทรศัพท์ 081 747 8308 (บังเอียด)

 

ขอบคุณ  อสท

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *