สิชล ดินแดนแห่งการทำประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สิชล ดินแดนแห่งการทำประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สิชล ดินแดนแห่งการทำประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขุนเขาที่วางตัวกั้นขวางบีบบังคับให้เราต้องย้อนเข้าสู่ตัวเมืองขนอมผ่านพ้นอีกกว่า 30 กิโลเมตรเพื่อที่จะเข้าสู่อำเภอสิชล ว่ากันว่ามีทางป่าระดับยากที่ต้องเป็นผู้เจนทางเท่านั้นจึงจะควบโฟรวิลวัดเลาะมาได้

รอบด้านเรียงรายด้วยสวนมะพร้าวและแนวเขาราวภาพเหมือนระหว่างสองอำเภอแห่งนี้ เมื่อตัดสินใจเลือกใช้หนทางเล็กเช่นเดิม

มันเป็นยามบ่ายที่กระจ่างตาขณะเรามุ่งหน้าสู่เขาพลายดำ จุดชมมุมสูงกว่าทุกหาดที่เคยผ่านมา ทะเลในเขตอำเภอสิชลเบื้องหน้าคือภาพทางตาที่น่าจดจำ ถนนดำเล็กๆ สายนี้พาเราดิ่งลงไปสิ้นสุดที่ เขาพลายดำ ซึ่งด้านขนคือดลกของการเรียนรู้ด้านความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว์ป่าบนภูเขา เป็นที่ตั้งของสถานีอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าเขาพลายดำ ไม่ไกลกันมีค่ายลูกเสือที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของผืนป่าและท้องทะเลวางตัวอยู่อย่างกลมกลืน

เราลงมาสัมผัสหาดกว้างไกลของ อ่าวท้องยาง ร่วมกับนักท่องเที่ยวเจ้าถิ่น ภูมิทัศน์ที่ปรับแต่งอย่างงดงาม อาคารที่พักและร้านอาหารเนืองแน่นผู้คนไม่แตกต่างไปจากท้องทะเลที่ทอดยาวรองรับการหย่อนใจ เรานั่งมองคู่แต่งงานที่ใช้ทะเลเป็นฉากถ่ายรูป แว่วเสียงเริงร่าของเด็กๆขณะที่รอยยิ้มของผู้ใหญ่ด้านบนนั้นแสนงดงาม

ข้ามย้อนแนวเขาสูงมุ่งเข้าตัวเมืองสิชล ระหว่างทางที่หินงามรางทัด เพื่อนร่วมทางสงสัยในชื่อและชวนลงเพื่อไปเห็นหมู่หินเรียงซ้อนอยู่ริมทะเล กางกั้นจนเกิดเวิ้งอ่าวเล็กๆ ที่เรียงรายไปด้วยเรือประมงหลังกลับจากการหากินชายฝั่ง

มันก่อเกิดแพกุ้งและหมึกขนาดเล็กเบื้องหลังแนวหินกองโต คุณป้าเจ้าของเชื้อเชิญให้นั่งดูพวกเขาขึ้นอวนด้วยไมตรี เรือเล็กหลายเฉดสีรอคิวเพื่อจะรุนลำเรือขึ้นก่ายเกยชายหาด ขณะแม่ค้าสักคนต่างจับจองและเฝ้ารอความสดในลำเรือกันอย่างสนุกสนาน ถ้อยคำไถ่ถามทุกข์สุข วิพากษ์การเมืองที่เมืองกรุง ล้วนล่องอยในสายลมบ่าย

จากริมทะเลเราเข้าสู่เมืองสิชล ถนนเลียบเลาะข้ามฝั่งแม่น้ำสิชลไปสู่ความร่มรื่นของทิวมะพร้าวและสวนปาล์ม บ้านทุ่งใส วางตัวเองอยู่อีกฟากฝั่งตรงข้ามเมือง หมู่บ้านประมงแสนเก่าแก่แห่งนี้เงียบเชียบยามมรสุมเริ่มตั้งฤดู งานซ่อมลอบ อวน ชัดเจนอยู่ตามลานดินหน้าบ้าน ขณะที่ในทะเลเหลือเพียงความงดงามของเกลียวคลื่นสีสดใสของท้องฟ้า

“แต่ก่อนสิชลคือเมืองประมงใหญ่โต เรือสำเภา เรือประมง ไม่เคยว่างแถวปากน้ำ” เหนือมุมสูงครงศาลพ่อขุนทะเล เรานั่งมองภาพตรงหน้าและจินตนาการถึงถ้อยคำที่ประมงชราแห่งบ้านทุ่งใสบอกเล่า มันมองเห็นความเติบโตได้ไม่ยาก แม่น้ำสิชลพาตัวเองมาบรรจบกับผืนทะเลกว้าง เรือประมงใหญ่เล็กเรียงรายที่ปากน้ำ อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตระหง่านตั้งเป็นที่เคารพของคนเรือ การพบกันของทะเล ผืนฝั่ง และคนในภูเขา ชัดเจนอยู่แถบตลาดและย่านเก่าที่ถูกระบายด้วยแสงบ่ายเป็นภาพงดงาม

เลาะลึกลงไปในตัวเมือง เลียบแม่น้ำที่บ้านสะพานน้ำแดง หมู่บ้านประมงดั้งเดิมของสิชลแน่นขนัดด้วยคานเรือและเหล่าชายกำยำผิวแดงด้วยแดดลม หลังการรอนแรม ยาบ่ายคือห้วงยามแห่งการพักผ่อน ตามบ้านไม่ชั้นเดียวเก่าแก่สีน้ำตาลขรึมที่ประกอบกันขึ้นเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่แห่งนี้เต็มไปด้วยภาพการพักผ่อน ชายหนุ่มประคบประหงมนกกรงหัวจุกที่หน้าบ้าน ขณะที่เด็กๆ วิ่งไล่ไปตามถนนเล็กๆ ที่ทอดลงสู่ริมแม่น้ำบนคานเรือ เรือประมงลำใหญ่ขึ้นคานนิ่งสนิท รอการตอกหมันยาชันเตรียมสู้ฤดูกาลหาปลาที่จะมาถึง

“สิชลเป็นทั้งเมืองประมงและเมืองท่องเที่ยวมานานครับ” ข้ามหัวเขามาสู่แนวหาดสิชล หนุ่มรุ่นใหม่แห่ง สิชล คาบาน่า บิซ รีสอร์ท อย่าง เบญจภพ เบญจธรรมธร เล่าภาพที่เขาเคยคุ้นมาแต่เด็กในยามบ่ายริม หาดหินงาม รีสอร์ทของเขาปรับเปลี่ยนจากยุคตายาย รุ่นพ่อแม่ มาสู่วันที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของคนยุคเขา

“คนโบราณเขาเรียกที่นี่กันว่า “หัวหินสิชล” ครับ อย่างชื่อนั่นละ เป็นสถานที่พักผ่อนอย่อนใจของคนแถบนี้” เรานั่งมองรีสอร์ทของเขาที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของคนรุ่นใหม่ ทั้งการตกแต่ง เสียงเพลง รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าบรรยากาศ มันเคล้าไปกับภาพทะเลตรงหน้าที่ไม่มีวันหลับไหล

“ประสานสุขรีสอร์ทที่มีมาตั้งแต่สมัยคุณยายครับ ผมเองแยกออกมาทำให้ที่นี่เป็นที่ทางของคนสิชลรุ่นใหม่ๆ  เอากีฬาทางน้ำอย่างเซิร์ฟ เอาดนตรี ศิลปะ มารวมกันไว้ อยากให้เด็กสิชลรุ่นใหม่ๆ รักบ้านเกิด รักทะเล” คลื่นลมในช่วงมรสุมดึงดูดให้เบญจภาพลงไหลกีฬาทางน้ำ เขาว่าแม้ที่นี่ไม่เฟื่องฟูเหมือนภูเก็ตหรือบางแสน แต่สำหรับคนหลงรักการเล่นเซิร์ฟ มันมีที่ทางแน่นอน

เราใช้ยามบ่ายใกล้เย็นไปกับหาดสิชลที่ทอดยาวลิ่วลงทางใต้ เลาะผ่านความสวยงามของหาดปิติ ขณะที่บางนาที ย่านประมงพื้นบ้านที่หาดปลายทอนก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เสียงพูดคุยผ่อนคลายหลังจากกลับจากทะเลเมื่อยามเข้าทำให้ชีวิตประมงนั้นเปี่ยมสีสัน

ยามค่ำเมืองสิชลสลายตัวตนลงสู่ความเงียบสงบ ร้านรวงเริ่มปิดเงียบ ในทะเลวิววับแสงไฟจากเรือประมงเล็ก ขณะที่ย่านตลาด ร้านปรีชาเลิศรสคือปลายทางแห่งค่ำคืน แกงส้มปลากะพงรสเลิศ ชิ้นปลาอินทรีทอด รวมไปถึงอาหารทะเลของ “ลุงปรี” ที่คนสิชลคุ้นเคย บ่งย้ำกับคนผ่านทางว่า เมืองประมงอันเป็นบ้านของพวกเขานั้นแสนอุดมเพียงใด

เป็นความอุดมสมบูรณ์ที่วางรากและก่อเกิดชีวิตในเมืองเล็กๆ ริมทะเลอย่างสิชล ผสมผสานอยู่ในอาหารเลิศรส อาคารไม้เหยียดยาว รวมไปถึงชีวิตที่ผูกตัวเองอยู่ในเรือหาปลาและคลื่นลมกลางทะเล

 

ขอบคุณ อสท

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *