พระพุทธชินราช

สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอเมืองพิษณุโลก

พระพุทธชินราช

เสาหลักเมืองพิษณุโลก ประดิษฐานอยู่ภายในศาลหลักเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมือง ออกแบบอาคารโดยกรมศิลปากร เป็นแบบยอดปรางค์ เสาหลักเมืองทำจากไม้มงคลหลายชนิด คือ จากโคนลำต้นถึงลูกฟัก ทำจากไม้ราชพฤกษ์ ท่อนลูกแก้วท่อนบนทำจากไม้ชิงชัน ส่วนยอดบัวตูมประกอบด้วยลูกแก้วทำาจากไม้สักทองตายพราย และได้นำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุข พระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำ ในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง สร้างโดยกรมศิลปากร มีการจัดงานสักการะพระบรมรูปในวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเสาหลักเมือง อยู่ถัดเข้าไปตามถนนเลียบแม่น้ำ แต่เดิมบริเวณโรงเรียนเคยเป็นพระราชวังจันทน์มาก่อน เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัด

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ กรมศิลปากรทำการขุดแต่งและจัดสภาพภูมิทัศน์ บนเนื้อที่ประมาณ ๑๒๘ ไร่ มีอาคารข้อมูล ห้องนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการขุดพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญและถือเป็นชิ้นพิเศษมาก คือ เครื่องถ้วยจีนซึ่งที่ก้นภาชนะมีอักษรจีน ๖ ตัว อ่านว่า ต้าหมิง ซวนเต๋อ เหนียนซื่อ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องถ้วยบรรณาการสมัยราชวงศ์หมิง สมัยจักรพรรดิซวนเต๋อ พ.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๙ ซึ่งถือว่าเป็นถ้วยบรรณาการที่มีลักษณะพิเศษที่ก้นมักจะมีชื่อกษัตริย์ประทับอยู่และเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดีที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังค้นพบโบราณวัตถุอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนเตาเชิงกราน ท่อน้ำดินเผา ตะเกียงดินเผา ตะคันกระเบื้องมุงหลังคาทั้งแบบกระเบื้องแบนและกระเบื้องกาบกล้วย เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย ภาชนะสำริด นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานสำาคัญ เช่น สระสองห้อง วัดวิหารทอง วัดศรีสุคต วัดจุฬามณี เป็นต้น

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ หรือ วัดพระศรี พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ “พระพุทธชินราช” ชาวเมืองพิษณุโลกก็นิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อใหญ่” ตามไปด้วย วัดใหญ่นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับ การสร้างเมืองเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ภายในวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว และสูง ๗ ศอก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลัก สร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ ๒ องค์ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา

บานประตูประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙ เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า “นมอกเลา” เป็นรูปบุษบก มีรูปพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสามชั้น ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบอง ท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตูเป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำ และภาพสัตว์ อื่น ๆ และยังมีลาย “อีแปะ” ด้านละ ๙ วงมัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราชทำด้วยไม้สักแกะสลัก เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จแล้ว บานประตูเก่าได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์

พระเหลือ พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก และพระสาวกยืนอีก ๒ องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ ๓ ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่าง ต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า “วิหารพระเหลือ

วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือ วิหารแกลบ หรือ วิหารหลวงสามพี่น้อง ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของพระวิหารพระศรีศาสดาราม ภายในวิหารมีพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ บริเวณกลางพระวิหารมี “หีบปางพระเจ้าเข้านิพพาน” มีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพทำด้วยศิลา ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดกระจกสวยงาม โดยข้อพระบาทเลยออกมาเล็กน้อย ตั้งบนแท่นอันสลักลวดลายงดงาม รอบแท่นมีปัญจวัคคีย์ กำลังแสดงความทุกข์อาลัยพระองค์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร

พระอัฏฐารศ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง ๑๘ ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. ๑๘๐๐ เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ ๓-๔ ต้น เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” อยู่ด้านหลังวิหารพระพุทธชินราช

พระปรางค์ประธาน ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานเหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เปิดทุกวัน เวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๐๐ น. โทร. ๐ ๕๕๒๕ ๑๖๔๙ ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช อยู่ในวัดเปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ www.thailandmuseum.com

วัดนางพญา ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า “พระนางพญา” ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีก็แต่ที่ได้สร้างจำลองขึ้นภายหลัง มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๔ และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ ที่ชายคาตกแต่งด้วยนาค ๓ เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม จากพระประธานซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้น่าจะสร้างในสมัยสุโขทัย และได้รับการบูรณะครั้งแรกในสมัยพระยาลิไทจึงกลายเป็นที่มาของชื่อวัดในปัจจุบัน ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์เป็นรูปรามเกียรติ์วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่าง พื้นบ้าน วัดราชบูรณะตั้งอยู่ที่ถนนสิงหวัฒน์ บริเวณสะพานนเรศวร ตรงข้ามกับวัดนางพญา

วัดเจดีย์ยอดทอง  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก บนถนนพญาเสือ ซอย ๔ ทางเดียวกับวัดอรัญญิก ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ที่เป็นศิลปะสุโขทัยเพียงองค์เดียวที่พบในพิษณุโลก เจดีย์มีฐานกว้างประมาณ ๙ เมตร สูง ๒๐ เมตร เฉพาะที่ยอดทรงดอกบัวตูมนั้น ได้เห็นรอยกระเทาะของปูนทำาให้แลเห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลมของดอกบัว

วัดจุฬามณี

วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ตามถนนบรมไตรโลกนารถ ประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควเก่า ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๗ เป็นเวลา ๘ เดือน ๑๕ วัน โดยมีข้าราชบริพาร ออกบวชตามเสด็จถึง ๒,๓๔๘ รูป มีโบราณสถานสำคัญคือ ปรางค์แบบขอมขนาดย่อม ฐานกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามขั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ เหมือนกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี สมัยที่ยังสมบูรณ์อยู่มีกำาแพงแก้วล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมีมณฑปพระพุทธบาทจำาลอง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น แผ่นจารึกหน้ามณฑปมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๑ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาท สลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน

กำแพงเมืองคูเมือง เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา สมเด็จ พระมหาจักรพรรดิโปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า ครั้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้ช่างฝรั่งเศส สร้างกำแพงใหม่โดยก่ออิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่าง ๆ เสีย เพื่อไม่ให้พม่าซึ่งรุกรานไทยยึดเป็นที่มั่น กำแพงเมืองที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือ บริเวณวัดโพธิญาณ วัดน้อย และบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก คูเมืองพบเห็นได้ตามแนวที่ขนานกับถนนพระร่วง (ด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม)

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์บูรณเขตต์) เลขที่ ๒๖/๑๓๘ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ในตัวเมืองพิษณุโลก เป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ จนถึงชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือดักจับสัตว์ รวมกันแล้วนับหมื่นชิ้น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประเภทหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ จ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้มีฝีมือในทางประติมากรรม และได้รับการเชิดชูเกียรติมากมาย ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือแขนงช่างหล่อ” ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๖ และได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งการประกาศเกียรติคุณเป็น “คนดีศรีพิษณุโลก” พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. โทร. ๐ ๕๕๒๑ ๒๗๔๙, ๐ ๕๕๒๕ ๘๗๑๕, ๐ ๕๕๓๐ ๑๖๖๘ อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท พระภิกษุ นักบวช ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงหล่อพระบูรณะไทย ติดต่อเข้าชมการหล่อพระล่วงหน้า โทร. ๐ ๕๕๓๐ ๑๖๖๘

สวนนกไทยศึกษา เลขที่ ๒๖/๔๓ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ ตำบลในเมือง ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เป็นแหล่งอนุรักษ์เรียนรู้นกที่พบในเมืองไทย บางชนิดเป็นนกหายากใกล้สูญพันธุ์ และบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น นกเปล้าหน้าแดง ที่มีความสะดุดตาดุจดังธรรมชาติได้บรรจงแต่งไว้อย่างงดงาม นกเงือกชนหินหน้าตาคล้ายสัตว์ดึกดำบรรพ์ คอเปลือย ไม่มีขน ผมบนหัวทรงพั้งค์ สวยสะดุดตา เป็นตัวเดียวในประเทศไทยที่จัดให้ชม นอกจากนี้ยังได้รวบรวมนกในวรรณคดีไทย อาทิ นกขมิ้น นกโพระดก นกกาเหว่า นกสาลิกาเขียว และนกขุนแผน เพื่อจัดแสดงให้ได้มีโอกาสสัมผัสตัวตนแทนการจินตนาการตามคำบอกเล่าจากหนังสือ และยังมีนกไทยอีกนับร้อยชนิดที่จัดให้ชมและศึกษาอย่างใกล้ชิด นกบางชนิดสามารถเลียนเสียงมนุษย์ สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมทุกครั้งที่ได้พบเห็นด้วยการส่งเสียงทักทายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้แก่ นกแก้ว นกการะเวก นกอีกหลาย ๆ ชนิดมีเสียงร้องเป็นทำนองเพลงไพเราะจับใจ เช่น นกกระรางคอดำา นกกระรางหัวหงอก นกกางเขนดง เป็นต้น เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท โทร. ๐ ๕๕๒๑ ๒๕๔๐ www.geocities.com/thaibirdgarden

พิพิธภัณฑ์ผ้ามหาวิทยาลัยนเรศวร (ทุ่งหนองอ้อ)

หอศิลปและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร  ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ส่วนสนามบิน) ถนนสนามบิน ทางหลวงหมายเลข ๑๐๖๑ อำเภอเมืองพิษณุโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในจัดแสดงผลงานศิลปกว่าร้อยชิ้นของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทย อาทิ สวัสดิ์ ตันติสุข พูน เกษจำรัส ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประเทือง เอมเจริญ และชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นต้น และยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับ วิถีชุมชนภาคเหนือตอนล่าง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือทำามาหากินต่าง ๆ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. โทร. ๐ ๕๕๒๓ ๐๗๒๐

พิพิธภัณฑ์ผ้ามหาวิทยาลัยนเรศวร (ทุ่งหนองอ้อ) พิพิธภัณฑ์ผ้า จัดแสดงที่ชั้นสองของอาคารเอนกประสงค์ในมหาวิทยาลัยนเรศวรประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ จัดแสดงผ้า ผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่นำมาจากแหล่งต่าง ๆ ของประเทศไทยและต่างประเทศ มีบริการข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและเอกสารเกี่ยวกับการผลิต การศึกษาเรื่องผ้าประเภทต่าง ๆ รวมทั้งจัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถซึ่งพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณใกล้กันมี พิพิธภัณฑ์ชีวิต จัดแสดงวิถีชีวิตของคนไทยด้านการทอผ้าฝ้าย ที่มีกระบวนการผลิตผ้าตั้งแต่การปลูกฝ้าย หม่อน จนกระทั่งถึงการทอผ้าที่มีทั้งการทอขั้นพื้นฐาน และการทอขั้นสูง ในวันเสาร์-อาทิตย์ มีสาธิตทอผ้า เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. โดยมีเจ้าหน้าที่นำชม รายละเอียดโทร. ๐ ๕๕๒๖ ๑๐๐๐-๔ ต่อ ๑๒๑๘, ๑๑๔๘ หรือ www.thaitextilemuseum.com

การเดินทาง มหาวิทยาลัยนเรศวร (ทุ่งหนองอ้อ) ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๑๑๘-๑๑๙ หากมาจากกรุงเทพฯ จะอยู่ขวามือ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *