ศาลเจ้าลาดชะโด แหล่งท่องเที่ยวอำเภอผักไห่ พระนครศรีอยุธยา

ศาลเจ้าลาดชะโด
ศาลเจ้าลาดชะโด

ตลาดลาดชะโด ชุมชนลาดชะโดมีอายุเก่าแก่ราวสมัยหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ หรือ ราวปีพ.ศ.๒๓๑๐ ก่อตั้งขึ้นโดยชาวกรุงเก่าที่อพยพหนีศึกสงครามมาในครั้งนั้น พื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนแต่เดิมเรียกว่า “บ้านจักราช” แต่การที่หมู่บ้านนี้มีชื่อว่า “บ้านลาดชะโด” น่าจะมีที่มาจากสภาพพื้นที่ ที่เป็นที่ลาดริมน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของคูคลองที่มีอยู่มากมายและอุดมไปด้วยปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาชะโด ถึงขนาดมีคำเตือนกันว่าเวลาพายเรือให้ระวังไม้พายจะไปโดนปลาชะโดเข้าชาวบ้านลาดชะโดแต่เดิมคงมีการปะปนกันหลายเชื้อชาติ ที่มีมากคือไทยและมอญ การตั้งบ้านเรือนนิยมทำเลริมน้ำ อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนา เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้ทุ่งลาดชะโด ซึ่งเป็นพื้นที่ดินตะกอนปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีคลองลาดชะโดซึ่งเชื่อมต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นทางน้ำสำคัญนับว่าเป็นหมู่บ้านที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำในแถบนี้ปัจจุบัน ชาวบ้านตำบลลาดชะโดได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเปิดชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวบ้าน จัดภูมิทัศน์เป็นตลาดบกท้องถิ่นวิถีชีวิตชุมชนภาคกลาง อย่างไรก็ดีชุมชนนี้ยังมีลักษณะของชุมชนเก่าแก่ที่มีองค์ประกอบของชุมชนอย่างครบถ้วนสถานที่น่าสนใจของชุมชนได้แก่

วัดลาดชะโด เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมานานกว่า ๒๐๐ ปี แต่เดิมพื้นที่วัดล้อมถูกล้อมรอบด้วยลำคลองมีลักษณะคล้ายเกาะ มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง วัดลาดชะโดมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับชุมชนตลาดลาดชะโด เนื่องจากตลาดลาดชะโดตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด และที่ดินที่ใช้ก่อสร้างตลาดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งกรรมสิทธิ์ของวัด โดยวัดได้ยินยอมให้ก่อสร้างตลาดลาดชะโดขึ้น สมาชิกในตลาดจึงผูกพันอยู่กับวัด วัดและตลาดได้เอื้อแก่กันในด้านต่างๆ วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในตลาดที่เกือบจะทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนตลาดเองก็เกื้อหนุนทำนุบำรุงวัดอย่างแข็งขันมาจนถึงปัจจุบัน

ศาลเจ้าลาดชะโด เนื่องจากคนในชุมชนตลาดลาดชะโดโดยส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนจึงมีศาลเจ้าประจำตลาด ซึ่งแต่เดิมนั้นประวัติการเกิดศาลเจ้านั้นมาจากความเชื่อ ในสมัยที่มีการขุดคลองลาดชะโดนั้น หลังจากขุดเสร็จสิ้นมักเกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่เสมอๆ ชาวชุมชนจึงได้เชิญซินแสชาวจีนมาดูเพื่อหาสาเหตุ ได้ความว่าจะต้องสร้างศาลเจ้าขึ้นริมน้ำเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก ดังนั้นจึงได้มีก่อสร้างศาลเจ้าเป็นอาคารไม้ขึ้นที่ฝั่งตรงข้ามอยู่เยื้องกับตลาด และได้ทำการอัญเชิญเทพเจ้า โดยการอัญเชิญควันธูป มาจากศาลเจ้าใหญ่ในจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เนื่องจากศาลเจ้าริมน้ำมักจะใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อไม่ได้ในช่วงเวลาน้ำท่วม รวมถึงความไม่สะดวกในการเดินทาง สมาชิกชุมชนตลาดลาดชะโดจึงได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นอีกแห่งอยู่ติดกับตัวตลาด ศาลเจ้าลาดชะโดแห่งใหม่นี้ใช้จัดงานหรือประกอบกิจกรรมของชุมชน อาทิ งานงิ้วซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายเต้นแอโรบิกอีกด้วย หากมีการไหว้เจ้าหรือประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้า จะมีตัวแทนไปอัญเชิญควันธูปมาจากศาลริมคลอง แล้วจึงอัญเชิญกลับเมื่อการประกอบพิธีเสร็จสิ้น

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *