ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของเมืองไทยคือ “การชมวาฬ” ซึ่งต่อยอดมาจากการออกเรือไปดูนกน้ำ-นกทะเล ในบริเวณอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 หลังจากข่าวคราวของวาฬบรูด้าแพร่กระจายออกไปตามสื่อมวลชนต่างๆ ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลมายังชายฝั่งเพชรบุรี หวังจะชื่นชมยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทย กลายเป็นปรากฆการณ์บรูด้าฟีเวอร์

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

อันที่จริงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชมโลมาในประเทศไทยมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนัก เช่น โลมาอิรวดี ที่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โลมาหลังโหนก หรือโลมาสีชมพูที่อ่าวขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับนักท่องเที่ยวชมวาฬในเมืองไทยถือเป็นเรื่องใหม่ หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยก็มีวาฬ โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ซึ่งเป็นแหล่งที่พบวาฬบรูด้าเป็นประจำ

ไม่น่าเชื่อว่าห่างจากชายฝั่งกรุงเทพมหานครเพียงไม่กี่กิโลเมตร เราก็สามารถพบวาฬบรูด้าตัวยาวกว่าสิบเมตรแหวกว่ายหากิน เรียกว่าแทบจะติดหลังบ้านคนกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ วาฬบรูด้ามีความน่าสนใจในตัวของมันเองอาจเรื่องขนาดอันใหญ่โตมโหฬาร แต่คนส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้พบ หากไปออกทะเลโอกาสพบเจอก็ต้องถือว่าง่าย ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวชมวาฬในต่างประเทศ

ลักษณะของอ่าวไทยตอนใน (อ่าวตัว ก)

อ่าวไทยตอนในมีลักษณะชายฝั่งคล้ายตัวอักษร ก ไก่ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยมีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และยังมีแม่น้ำสายเล็กๆ อีก 2 สาย คือ แม่น้ำบางตะบูนและแม่น้ำเพชรบุรี ดินตะกอนและธาตุอาหารจากแผ่นดินที่ไหลลงมาสะสมในบริเวณปากแม่น้ำ ทำให้อ่าวไทยตอนในมีลักษณะเป็นหาดเลนกว้างใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์มาก

อินทรียสารที่ปนมากับดินเลนเป็นแหล่งอาหารของสัตว์หน้าดินและสัตว์น้ำต่างๆ บริเวณปากแม่น้ำยังมีป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน อ่าวไทยตอนในจึงอุดมสมบูรณ์ด้วยกุ้งหอยปูปลานานาชนิด รวมทั้งยังมีนกอีกมากมาย ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพที่อาศัยหากินบนหาดเลนในป่าชายเลน รวมถึงกลางทะเล

ทางด้านเศรษฐกิจอ่าวไทยตอนในถือเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะปลาทู

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

วาฬและโลมาในอ่าวตัว ก

โดยความเป็นจริงแล้ว “วาฬ” และ “โลมา” ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลลักษณะรูปร่างคล้ายปลาขนาดใหญ่ คนไทยจึงเรียกกันติดปากว่า “ปลาวาฬ” และ “ปลาโลมา” อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกคงไม่ใช่เรื่องถูกผิด ในเมื่อเราใช้สื่อสารความหมายถึงสัตว์ชนิดเดียวกัน

ในประเทศไทยพบวาฬและโลมาทั้งหมด 27 ชนิด โดยพบทางด้านทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นทะเลเปิด ได้มากชนิดกว่าทางด้านอ่าวไทย สำหรับชนิดที่พบบ่อยๆ มักเป็นชนิดที่อาศัยหากินอยู่ใกล้ชายฝั่งหรือเกาะต่างๆ เช่น โลมาอิรวดี (Irrawaddy Dolphin) โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless Porpoise ) โลมาปากขวด (Indo-Pacific Bottlenose Dolphin) และวาฬบรูด้า (Bryde’s Whale)

สำหรับวาฬบรูด้า พระเอกร่างยักแห่งอ่าวไทย เป็นวาฬชนิดไม่มีฟัน ลำตัวยาว 10-15 เมตร น้ำหนัก 10-20 ตัน รูปร่างข้อนข้างเพรียว ลำตัวด้านบนสีเทาดำอมน้ำเงิน ผิวหนังเรียบ ครีบหลังเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมโค้งตำแหน่งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายทาง แพนหางวางตัวตามแนวราบและมีรอยเว้าตรงกลาง ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน รูหายใจ 2 ช่อง ลักษณะเดียวกับรูจมูกคน มีดวงตาเล็กมากเมื่อเที่ยบกับลำตัวขนาดมโหฬาร ตาอยู่ใกล้มุมปากบนด้านล่างของปากลงมาถึงท้องเป็นสีขาวอมชมพู มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง กินอาหารโดยอ้าปากฮุบเหยื่อ โดยการกรองผ่านซี่กรอง อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็ก รวมทั้งแพลงก์ตอน เคย และหมึก

การชมวาฬและโลมา

การล่องเรือชมวาฬแบบไทยๆ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่อยากเห็นตัวเป็นๆ ของสัตว์เลี้ยงบูกด้วยนมขนาดใหญ่ผู้ใช้ชีวิตลึกลับอยู่กลางทะเล แต่คงไม่ใช่ใครจะทำอะไรก็ได้ตามใจ เพราะวาฬบรูด้าถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยต้องมีการวางกฏระเบียบ รวมถึงนำรูปแบบการท่องเที่ยวชมวาฬจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ด้วย

ดังนั้นหลังจากปรากฏการณืบรูด้าฟีเวอร์เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้เข้าไปจัดอบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเจ้าของเรือและนักท่องเที่ยวในการชมวาฬบรูด้า เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นการท่องเที่ยวในเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยไม่เป็นการรบกวนวิถีชีวิตของวาฬจนเกินไป

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

เนื่องจากวาฬและโลมาใช้เสียงในการสื่อสาร เลี้ยงดูลูก ระบุแหล่งอาหาร และเพื่อการผสมพันธุ์ ดังนั้นเสียงเครื่องยนต์และท่าทีในการเข้าหาของเรือจึงมีผลต่อความหวาดระแวงของวาฬ ปัจจุบันเกิดเสียงดังจากกิจกรรมของมนุษย์หลายๆ อย่าง เช่น การท่องเที่ยว การประมง เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ การขุดเจาะน้ำมัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ในบริเวณที่อยู่ของวาฬ จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการจับคู่ผสมพันธุ์

การชมวาฬและโลมาโดยทางเรือจึงต้องปฏิบัตตามกฏระเบียบในการชมอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการรบกวนวิถีชีวิตของวาฬและโลมา อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บจากการเฉี่ยวชนของเรือ รวมทั้งผลกระทบจากเรื่องเสียวด้วย

ช่วงเวลาสำหรับการชมวาฬและโลมา

วาฬบรูด้าพบอาศัยหากินวนเวียนอยู่ในอ่าวไทยตลอดทั้งปี การออกเรือไปกลางทะเลจึงมีโอกาสพบพวกเขาได้เสมอ ขึ้นอยู่กับอาหารและสภาพอากาศ แต่ช่วงปลายฤดูฝน ประมาณสิงหาคม-ตุลาคม จะมีโอกาสพบตัวได้ค่อนข้างสูงและพบหลายตัว

เพราะเมื่อถึงฤดูฝน น้ำเหนือที่ชะล้างจะพาะตุอาหารจากแผ่นดินไหลลงมาสู่ทะเล ชาวบ้านเรียก “น้ำเบียด” เกิดเป็นปรากฏการณ์สะพรั่งของแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารอย่างดีของบรรดาปลาเล็กปลาน้อย ฝูงปลาต่างๆ จึงเข้ามาอาศัยหากินบริเวณใกล้ปากแม่น้ำเป็นจำนวนมาก เช่น ปลากะตักแก้ว ปลากะตักควาย ปลาทู และเคย ซึ่งวาฬบรูด้าเองก็จะติดตามฝูงปลาเล็กๆ เหล่านี้เข้ามาเพื่อกินเป็นอาหารด้วย การพบวาฬบรูด้าใกล้ชายฝั่งจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับชาวประมง เพราะนั่นหมายความว่าพวกปลากะตักและปลาทูไม่ผิดนัก

การเตรียมตัวและอุปกรณ์สำหรับชมวาฬ

การออกเรือไปชมวาฬบรูด้าต้องใช้เวลาเดินทางนาน ต้องอยู่กันบนเรือเกือบทั้งวัน การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็นเวลานานๆ และเผชิญกับสภาพลมฟ้าอากาศที่เอาแน่นอนไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจชมวาฬและโลมาทางเรือควรเตรียมพร้อมเบื้องต้นดังนี้

เสื้อผ้า ควรเป็นเสื้อแขนยาวใส่สบาย สำหรับกันแดด กันลม บางช่วงอาจต้องมีเสื้อกันฝน ร่ม หรือถุงกันน้ำไปด้วย เพราะอากาศกลางทะเลบางทีก็คาดเดายาก สำหรับกางเกงควรเป็นกางเกงขายาว แต่ถ้าไม่กลัวแดดหรือผิวเสียจะใส่ขาสั้นก็ไม่ว่ากัน

หมวก สำหรับกันแดด จะเป็นหมวกแก๊ปหรือหมวกปีกกว้างก็ได้แล้วแต่ชอบ

แว่นตากันแดด กลางทะเลแดจ้ามากและลมแรง แว่นกันแดดช่วยในการมองหาวาฬได้สบายตามากขึ้น

รองเท้า ควรเป็นรองเท้าที่พื้นไม่ลื่น สวมกระชับ สะดวกตอนขึ้นลงหรือเดินไปมาบนเรือ ควรเป็นแบบกันน้ำหรือแห้งง่าย ไม่ควรเป็นรองเท้าผ้าใบ เพราะเปียกแล้วแห้งยาก

ครีมกันแดด บางทีดูวาฬท่ามกลางแดดจนเพลิน ผิวอาจไหม้โดยไม่รู้ตัว

ยาแก้เมาเรือ คลื่นลมทะเลเอาแน่นอนไม่ได้ หากเมาเรือคงดูวาฬไม่สนุกแน่

อาหารและเครื่องดื่ม ควรเตรียมอาหารกลางวัน น้ำ และของขบเคี้ยว ไปกินบนเรือด้วย

กล้องส่องทางไกล ช่วยในการมองหาวาฬจากระยะไกล

กล้องถ่ายภาพ สำหรับเก็บบันทึกความทรงจำ บรรยากาศการท่องเที่ยว และพฤติกรรมน่าสนใจของวาฬ

ข้อควรปฏิบัติในการชมวาฬและโลมา

สำหรับคนที่อยากไปชมวาฬและโลมา นอกจากอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว สิ่งที่ต้องนำไปด้วยให้มากๆ คือจิตสำนึก นักท่องเที่ยวและคนเรือควรเข้าในว่าการชมพฤติกรรมตามธรรมชาติของวาฬต้องมีระยะห่างที่พอเหมาะ สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในการเข้าใกล้บริเวณที่พบวาฬและโลมา คือ

  1. ความเร็วเรือและระยะห่าง เมื่อเข้าใกล้วาฬในระยะ 400 เมตร ควรลดความเร็วเรือให้ต่ำกว่า 7 นอต และใช้ความเร็วไม่เกิน 4 นอต ในระยะ 100-300 เมตร จากตัววาฬ ไม่ควรเข้าใกล้วาฬต่ำกว่า 100 เมตร (กรณีเป็นคู่แม่ลูกควรมากกว่า 200 เมตร) และ 50 เมตร สำหรับโลมา ยกเว้นกรณีที่วาฬหรือโลมาว่ายเข้ามาใกล้เรือเองและหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความเร็วเรือแบบกะทันหัน
  2. จำนวนเรือ ไม่ควรเกิน 3 ลำในบริเวณที่ชมวาฬและโลมาจุดเดียวกัน และไม่ควรใช้สกูตเตอร์ในการชมวาฬ เพราะจะเกิดเสียงใต้น้ำดังเป็นการรบกวนวาฬ
  3. ทิศทางและท่าที การเข้าใกล้วาฬและโลมาควรเข้าทางด้านข้างหรือเฉียงๆ ไม่เข้าทางด้านหัวหรือหาง ไม่เร่งความเร็วเรือเพื่อไล่กวดวาฬ หรือใช้เรือไล่ต้อนล้อมวาฬ หากวาฬว่ายเข้ามาใกล้เรือควรชะลอความเร็ว เดินเครื่องเบาหรือดับเครื่องยนต์ ลอยลำสังเกตพฤติกรรม หากวาฬว่ายน้ำอย่างรวดเร็วออกจากตำแหน่งที่สังเกตก็ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ติดตามในทันที เพราะจะทำให้วาฬตื่นตกใจ
  4. ไม่ให้อาหาร โดยเฉพาะโลมาซึ่งค่อนข้างจะคุ้นกับคนมากกว่าวาฬ เพราะจะทำให้สูญเสียสัญชาตญาณธรรมชาติ และการระวังภัย อาหารอาจนำพาเชื้อโรคมาสู่วาฬ
  5. ไม่ควรว่ายน้ำหรือดำน้ำเล่นกับวาฬและโลมา อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสัตว์บาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงการสัมผัสตัววาฬและโลมาอาจติดเชื้อโรคที่ติดต่อจากคนสู่สัตว์ หรือสัตว์สู่คน
ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

การสังเกตพฤติกรรมของวาฬและโลมา

การชมวาฬและโลมาให้สนุกสนานและได้ความรู้ นักท่องเที่ยวควรศึกษาชนิดและทำความรู้จักวาฬและโลมาที่คาดว่าจะพบ จดจำลักษระเด่น พฤติกรรมเด่นๆ ของแต่ละชนิดเป็นการบ้านมาก่อน

โลมาที่พบในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นโลมาอิรวดี ส่วนโลมาหลังโหนก และโลมาหัวบาตรหลังเรียบจะพบยาก ต้องโชคดีจริงๆ นิสัยของโลมาอิรวดีชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่บางทีก็พลคราวละหลายสิบตัว โดยมักพบหากินใกล้ชายฝั่งมากกว่าวาฬ ทั้งฝูงจะช่วยกันว่ายน้ำไล่ต้อนฝูงปลากินเป็นอาหาร ปกติเวลาว่ายน้ำและโผล่ขึ้นมาหายใจจะสังเกตได้ยาก เพราะคีบหลังมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็มักพบในระยะที่ไกล้กว่าวาฬ และกระโดดเหนือผิวน้ำให้เห็นบ่อยๆ

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

สำหรับพฤติกรรมของวาฬที่พบประจำคือ การว่ายน้ำไปมาสลับกับการโผล่ขึ้นหายใจ โดยจะเห็นส่วนหัวเรี่ยผิวน้ำขึ้นมาก่อน แล้วพ่นลมหายใจออกมาเสียงดังฟืด พร้อมกับพ่นน้ำเป็นละอองฝอย ก่อนจะโค้งตัวมุดลงน้ำ เผยให้เห็นส่วนของหลังและครีบหลัง ดดยปกติหางจะไม่โผล่พ้นน้ำ แต่บางตัวอาจสะบัดหางตีน้ำบ้าง อาจจะเป็นพฤติกรรมที่วาฬไล่ต้อนปลาก็ได้

สิ่งที่เราเห็นขณะที่วาฬว่ายน้ำจะหลอกตามาก ดูเหมือนตัวมันไม่ใหญ่นัก แต่จริงๆ แล้วลำตัวมหึมาของมันถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ

หลังจากว่ายไล่ต้อนฝูงปลามารวมกันแล้ว วาฬบรูด้านะขึ้นเสยเหยื่อเหนือน้ำเพื่อกินอาหาร เราสังเกตติดตามวาฬได้จากทิศทางการว่ายน้ำ แต่สำหรับการโผล่ขึ้นมากินเหยื่อถือเป็นท่ามาตรฐานที่นักท่องเที่ยวชมวาฬทุกคนหวังจะได้ชม วาฬจะค่อยๆโผล่หัวพ้นผิวน้ำตั้งฉากชึ้นมาก่อน โดยปากบนและปากล่างยังคงแนบสนิทกัน จากนั้นมันจะอ้าปากออกโดยการทิ้งปากล่างลงมา บางตัวทิ้งแรงกระแทกผิวน้ำกระจาย อ้าปากกว้างเกือบเป็นมุมฉาก ขากรรำหรล่างจะทำหน้าที่คล้ายสวิงขนาดยักษ์ ภายในปากจะมีปลาเล็กๆ นักร้อยนับพันที่พยายามดิ้นรนหนีความตาย ดูราวกับน้ำกำลังเดือดพล่าน ไม่กี่อึดใจก็หุบขากรรไกรล่าง เชยคางสีชมพูขึ้น พร้อมไล่น้ำออกจากปากผ่านซี่กรอง ปลาเล็กปลาน้อยจะถูกกรองเอาไว้และกลืนลงคอ ก่อนที่วาฬบรูด้าจะค่อยๆ จมตัวกลับลงสู่ท้องทะเลอย่างนุ่มนวล หลังจากลงสู่ใต้ผิวน้ำแล้วไม่กี่วินาที วาฬจึงโผล่ส่วนหัวขึ้นมาอีกครั้งก่อนพ่นลมหายใจออก แล้วจึงว่ายน้ำต่อ

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

บางครั้งวาฬมีการกินอาหารใต้ผิวน้ำด้วย หรืออาจใช้ปากไล่ช้อนไปตามผิวน้ำแบบตะแคงกิน โดยเฉพาะในบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่งเพียงไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งวาฬไม่สามารถทำตัวตรงตั้งฉากได้

โดยปกติวาฬมักออกหากินเพียงตัวเดียว ไม่พบการรวมตัวเป็นฝูงใหญ่ๆ วาฬที่ว่ายน้ำและหากินเคียงคู่กันโดยส่วนใหญ่เป็นคู่แม่ลูก สังเกตได้จากขนาดที่ต่างกันชัดเจน วาฬแม่ลูกจะอยู่ด้วยกันราว 2-3 ปี แต่บางครั้งพบว่าวาฬที่พบคู่กันอาจเป็นเพียงเพื่อนร่วมหากิน หรือกำลังจับคู่ผสมพันธุ์กันก็เป็นได้ ซึ่งขนาดตัวจะไม่แตกต่างกันมากนัก บางครั้งอาจพบวาฬ 3-4 ตัว ช่วยกันว่ายต้อนฝูงปลาด้วยกัน หากินร่วมกันในระยะสั้นๆ ก่อนแยกย้ายกนไป

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

อีกพฤติกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งนักชมวาฬล้วนอยากมีโอกาสได้เห็นกับตาสักครั้งคือ การกระโดด (Breaching) ในทางวิชาการสันนิษฐานว่าการกระโดดของวาฬน่าจะเป็นพฤติกรรมที่แสดงความคึกคะนอง ร่าเริง สนุกสนาน ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นวาฬวัยรุ่น หรือเด็กน้อยที่ยังหากินกับแม่ เข้าใจว่าตัวยังเล็ก น้ำหนักไม่มาก แต่ก็พบวาฬตัวเต็มวัย น้ำหนักตัวเกือบ 20 ตัน ก็กระโดดตัวลอยได้เหมือนกัน ลองนึกภาพตามว่ามันจะต้องใช้พละกำลังมหาศาลเพียงใด

ผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากการท่องเที่ยวชมวาฬคือ มีฮดกาสพบฝูงนกนางนวลแกลบคอยบินโฉบจับปลาตัวเล็กตัวน้อยเวลาวาฬแหวกว่ายผ่าน และจะยิ่งกรูกันลงมาเมื่อวาฬขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อกินเหยื่อ คือเป็นช่วงวินาทีทองที่นกจะต้องรีบฉวยลงโฉบจับปลาอย่างรวดเร็ว ปลาบางตัวอาจกระโดดหนีตายจากปากมหึมาของวาฬมาได้ แต่กลับไม่รอดพ้นปากเล็กๆ ของนกนางนวลแกลบนกบางตัวกล้าหาญถึงกับโฉบลงจับปลาในปากวาฬเลยด้วยซ้ำ

หากวาฬโผล่ขึ้นกินอาหารในบริเวณนั้นหลายตัว พอตัวนี้ผลุบลงน้ำไปก็มีอีกตัวโผล่ตรงโน้น ฝูงนกก็จะโยกย้ายบินตามกันไปเป็นพรวน ดูวาฬก็เพลิน ดูนกก็สนุก เป็นพฤติกรรมที่เอื้ออาทรกันระหว่างชีวิตที่อยู่ใต้น้ำกับชีวิตที่บินอยุ่บนท้องฟ้า การอยู่เหนือผิวน้ำจากมุมสูง นกจะเห็นการเคลื่อนที่ของวาฬใต้น้ำได้ดีกว่าคนที่มองจากระดับผิวน้ำ บริเวณที่มีปลาลูกเหยื่อเยอะ วาฬขึ้นกินบ่อยครั้ง นกในบริเวณนั้นจะหนาแน่นมาก ฝูงนกจึงกลายเป็นหมายอย่างหนึ่งสำหรับการค้นหาวาฬบรูด้า

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

การระบุตัววาฬ (Photo-ID)

การสำรวจและจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยภาพถ่าย (Photo-ID) ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบันประเมินประชากรว่าฬบรูด้าในอ่าวไทยโดยจำแนกและตั้งชื่อให้แล้วทั้งหมด 40 รัว ลักษณะเด่นที่ใช้ในการจำแนก ได้แก่ ลักษณะรูปร่างและแผลของครีบหลัง ลักษณะรองลงไปอื่นๆ ได้แก่ รอยแผลบริเวณลำตัว รอยแผลบริเวณหัว ลายบริเวณขอบปาก จุดหรือเส้นสีเข้มบนเพดานปาก และรอยแหว่งของครีบหาง เป็นต้น

การตั้งชื่อวาฬก็เพื่อให้สามารถจดจำลักษระเฉพาะของแต่ละตัวได้ง่าย และเนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านนับถือเป็นปลาเจ้า ดังนั้นการตั้งชื่อวาฬบรูด้าจึงคำนึงถึงการเลือกชื่อที่มีความหมายดี เรียกง่าย และไม่ยาวเกินไปรวมทั้งพยายามตั้งชื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการพบวาฬตัวนั้นๆ ครั้งแรก เช่น ชื่อสถานที่หรือเดือนที่พบ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติตั้งชื่อวาฬจากผู้บริหารของหน่วยงานและผู้ร่วมงานอนุรักษ์วาฬอีกด้วย

การจำแนกเพศวาษบรูด้าจากลักษณะภายนอกทำได้ยากมาก หากไม่เห็นช่องเพศด้านท้อง จะทราบว่าเป็นเพศเมียก็เฉพาะตัวที่กำลังเลี้ยงลูกอยู่ ส่วนตัวที่หากินเพียงลำพังจะไม่สามารถระบุเพศได้จะเรียกว่า “เจ้า+ชื่อ” เช่น “แม่สาคร” มีลูกที่เจออยู่ด้วยกันตัวแรกชื่อว่า “เจ้าท่าจีน” ตอนนี้เจ้าท่าจีนแยกจากแม่ออกไปหากินด้วยตัวเองแล้ว ส่วนลูกตัวล่าสุดของแม่สาคร ชื่อว่า “เจ้าท่าแลอม”

วาฬแต่ละตัวก็จะมีนิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น “เจ้าจ๊ะเอ๋” ชอบอ้าปากงับปลาหลายครั้งก่อนจมตัวลง “เจ้าเมษา” ค่อนข้างซ่าเหมือนนักเลงโต ชอบป่วนวาฬตัวอื่นไปทั่ว “เจ้าบันเทิง” มักเข้ามาใกล้เรือสำรวจบ่อยๆ เสมือนมาสร้างความบันเทิงให้กับทีมสำรวจ

การรู้จักชื่อวาฬที่พบเป็นอรรถรสอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวชมวาฬ การจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยภาพถ่ายยังเป็นบทพิสูจน์ว่าทะเลอ่าวไทยของเราอุดมสมบูรณ์เพียงใด เมื่อพบวาฬจำนวนมากแวะเวียนเข้ามาหาอาหารและใช้เป็นแหล่งเลี้ยงดูลูกวาฬเกิดใหม่ เราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์ทะเลให้มีความสมดุลตามระบบนิเวศ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของวาฬไทยสืบไป

การพบวาฬและโลมาหากินตามปกติใกล้ชายฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นการติดตามอาหารเข้ามาอย่างไรก็ตาม การพบตัวอาจเป็นลักษณะของการพลัดหลงหรือเจ็บป่วยได้เหมือนกัน ซึ่งหากพบลัษณะดังกล่าวควรรีบแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมถึงการพบวาฬหรือโลมาติดเครื่องมือประมงด้วย เพื่อจะได้เข้าทำการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวาฬและโลมา รวมทั้งส่งรายงานการพบตัวหรือพฤติกรรมที่น่าสนใจของวาฬและโลมาทั้งที่มีชีวิตและซากเกยตืนได้ที่

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เว็บไซต์ www.dmcr.go.th  กลุ่ม Thai Whales เว็บไซต์ www.thaiwhales.org  Thai Bryde’s Whale เว็บไซต์ www.facebook.com/groups/527085600713982/?fref=ts

ท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมาในอ่าวตัว ก

แหล่งชมวาฬและโลมาในอ่าวตัว ก

ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

โลมาอิรวดีและโลมาหลังโหนก ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ออกเรือไปจนถึงอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่พบหากินบริเวณเสาหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่

การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 3 (บางนา-ตราด) ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ผ่านโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้วให้กลับรถแล้วชิดซ้ายเข้าเทศบาบตำบลท่าข้ามเมื่อพบวงเวียน (มีรูปปั้นโลมา) ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเทศบาลท่าข้าม 2 ไปจนสุดทางที่ท่ารือหมู่ 1

ติดต่อเช่าเรือที่ อบต. ท่าข้าม โทรศัพท์ 038-573-411-2 ต่อ 121 หรือคุณสุทิน เก๊อะเจริญ โทรศัพท์ 081-488-8618

ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ ปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร และปากแม่น้ำแม่กลองจังหวัดสมุทรสงคราม

โลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก และวาฬบรูด้า ตามชายฝั่งตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน จนถึงปากแม่น้ำแม่กลอง มีร้านอาหารทะเลหลายร้านที่เปิดบริการพานักท่องเที่ยวชมโลมา ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดเล็กพาชมโลมาอิรวดีตามแนวชายฝั่ง หากจะออกไปดูวาฬบรูด้าต้องออกจากฝั่งไปไกล และต้องเป็นเรือขนาดใหญ่ จุดที่พบวาฬบรูด้าบ่อยๆ คือ บริเวณหน้าวัดกระช้าขาวและหน้าวัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร

ปากแม่น้ำบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า นอกจากออกเรือชมวาฬแล้วอ่าวบางตะบูนยังเป็นแหล่งอาศัยหากินของนกหลายชนิด เช่น นกกาน้ำใหญ่ นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ และนกนางนวลขนาดใหญ่หลายชนิด เรือที่นี่รับนักท่องเที่ยวดูนก ตกปลา และชมวาฬ มีความสะดวกสบายตามสมควร

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนพระราม 2 ผ่านจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม จนถึงกิโลเมตรที่ 72 จึงออกทางคู่ขนานตรงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. คลองโคน เลยปั๊มมาเล็กน้อยจะพบทางแยกเป็นเส้นทางลัดไปชะอำ (ทางหลวงหมายเลย 4012 ) ให้เลี้ยวซ้ายและขับไปตามเส้นทางหลักที่มีป้ายบอกไปชะอำจนกระทั่งถึงบ้านบางตะบูน ท่าเรืออยู่ข้างสะพานข้ามแม่น้ำบางตะบูน ติดต่อเช่าเรือได้ที่คุณจำรูญ พงษ์พิทักษ์ โทรศัพท์ 032-581- 233 และคุณทิพย์เนตร สุขเจริญ 089 796 5506

แหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

โลมาอิรวดี โลมาหลังโหนกและวาฬบรูด้า บางช่วงวาฬบรูด้าจะมาหากินใกล้แหลมผักเบี้ย เรือทางด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงดัดแปลง

การเดินทาง ใช้เส้นทางลัดไปชะอำเช่นเดียวกับทางไปบ้านบางตะบูน แต่เลยไปทางอำเภอบ้านแหลม ตามป้ายบอกไปชะอำ จนถึงท่าเรือแหลมผักเบี้ยหรือใช้ถนนพระราม 2  ต่อถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดเพชรบุรีแล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 3177 มุ่งไปทางหาดเจ้าสำราญ ก่อนถึงหากเจ้าสำราญจะพบสี่แยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4028 ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จนถึงท่าเรือแหลมผักเบี้ย

ติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุณมนู อรัญพันธ์ ประธานชมรมวาฬบรูด้า แหลมผักเบี้ย โทรศัพท์ 081 865 4939

ตอนนี้หลายคนรับรู้แล้วว่าอ่าวไทยตอนบนพบวาฬบรูด้าวนเวียนหากินอยู่ตลอดทั้งปี และอาจกล่าวแบบไม่เกินจริงได้ว่า อ่าวตัว ก เป็นแหล่งชมวาฬบรูด้าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ชาวต่างชาติยังต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูที่เมืองไทย

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวชมวาฬและโลมายังเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา แต่สามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนได้ แรงกระเพื่อมของกระแสชมวาฬจะเป็นแรงกระตุ้นให้บรรดาผู้คนตามชายฝั่งรู้จักรักษาสภาพของน้ำและทรัพยากรทางทะเลให้ดีอยู่เสมอ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน นักท่องเที่ยวได้ความประทับใจ คนถ่ายภาพได้ภาพ ชาวบ้านมีรายได้เสริม นักวิจัยได้ข้อมูล และวาฬบรูด้าก็ยังเข้ามาหากินในอ่าวไทยให้พวกเราได้เห้นกันตลอดไป

 

ขอบคุณ อสท.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *