Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

เกาะเกร็ด
เกาะเกร็ด

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตลาด ริมถนนสายนนทบุรี – ห้าแยกปากเกร็ด ภายในวัดกว้างขวางร่มรื่น เป็นสถานที่เผยแพร่และศึกษาพระธรรม มีลานไผ่เอนกประสงค์ที่ชาวพุทธโดยทั่วไปจะมารวมกันเป็นจำนวนมากเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและฟังธรรมทุกวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นสวนสาธารณะมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๒ ไร่ ตั้งอยู่บริเวณหนองปรือ ตำบลบ้านใหม่ จากสี่แยกสวนสมเด็จ ฯ มาประมาณ ๑ กิโลเมตร ในสวนมีบึงน้ำขนาดใหญ่รายล้อมด้วยหมู่แมกไม้ที่ร่มรื่นและเงียบสงบ มีสวนหย่อม นาฬิกาแดด น้ำพุกลางน้ำเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป อยู่ในความดูแลของสุขาภิบาล อำเภอปากเกร็ด เปิดทุกวัน

การเดินทาง จากท่าน้ำปากเกร็ด ใช้เส้นทางถนนติวานนท์แล้วเลี้ยวขวาตรงสี่แยกแรก ไปประมาณ ๒ กิโลเมตร

สวนทิวลิปนนท์ ตั้งอยู่ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด ๒๘ (ซอยต้นแทน) ถนน แจ้งวัฒนะ จัดตั้งโดย บริษัท U & V Inter-Trade จำกัด ได้ริเริ่มทำการ ทดลองปลูกดอกทิวลิป ณ จังหวัดนนทบุรี โดยนำเข้าหัวพันธุ์ดอกทิวลิป จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ หัว จากประเทศเนเธอแลนด์มาเพาะชำในโรงเรือนปรับอากาศ ที่ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ ๕ ถึง ๒๕ องศาเซลเซียส แต่ได้ผลตอบแทนประมาณ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ มีทิวลิปหลากสีหลายพันธุ์ให้ได้สัมผัส และยังมีดอกไม้เมืองหนาวอีกหลากชนิดให้ได้ชื่นชม โดยจะเปิดให้เข้าชมดอกทิวลิปในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม โทร. ๐ ๒๙๖๒ ๐๗๔๗, ๐ ๒๕๘๔ ๐๘๗๘ หรือ www.tulips2u.com

บ้านครูมนตรี ตราโมทดุริยางคศิลปิน หรือ บ้านโสมส่องแสง ตั้งอยู่ที่ถนนติวานนท์ ๓ ซอยพิชยนันท์ ๒ ตำบลตลาดขวัญ เป็นบ้านของครูมนตรี ตราโมท คีตกวี ๕ แผ่นดิน มีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดุริยางคศิลป์ ดนตรีไทย ประจำปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านได้รังสรรค์ผลงานประพันธ์ทำนองเพลงไทยไว้มากกว่า ๒๐๐ เพลง รวมทั้งบทร้องอีกจำนวนมาก เช่น เพลงโสมส่องแสง ทายาทได้อนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาชีวิตของศิลปินไทยที่มีคุณความดีและนำสัจธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต อยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ โดยยึดมั่นในคุณธรรมมากกว่าวัตถุ บ้านหลังนี้ถือเป็นบ้านหลังแรกที่ครูมนตรี เป็นเจ้าของและเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของท่าน บรรยากาศบ้านอบอุ่น ภายในบ้านจัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สมถะ แสดงชีวประวัติของครูมนตรี รวมทั้งผลงานเพลงที่เป็นลายมือ ต้นฉบับนับตั้งแต่เพลงแรกเมื่อมีอายุ ๒๐ ปี ถึงเพลงสุดท้ายเมื่อมีอายุ ๙๑ ปี รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่ครั้งสมัยยังมีชีวิตอยู่และลูกหลานของท่านก็ยังอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ ปัจจุบันมีการจัดสอนดนตรีไทยให้กับผู้สนใจทั่วไป ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และในช่วงอาทิตย์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีจัดพิธีไหว้ครูดนตรีไทย เข้าชมได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจเข้าชมติดต่อล่วงหน้าโทร. ๐ ๒๙๖๘ ๙๔๙๘ , ๐๘ ๑๖๔๕ ๕๔๔๕ โทรสาร ๐ ๒๕๒๗ ๕๒๕๗

การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง สาย ๓๒, ๓๓, ๑๑๔

มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว) ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕/๑ หมู่ ๑ ซอยพระมหาการุณย์ ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ ปัจจุบันมีสุนัขอยู่ในความดูแล ๘๐๐ ตัว แมว ๑๕๐ ตัว ผู้สนใจบริจาคเงิน หรือสิ่งของเช่น หนังสือพิมพ์ ข้าวสาร น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ สามารถร่วมทำบุญกับทางมูลนิธิฯ และทางมูลนิธิยังมีโครงการต่างๆ เช่น โครงการ “วันละบาท ต่อชีวิตหมา-แมว”, โครงการ “หนูอยากมีพ่อ-แม่” อาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี จะจัดงานประจำปี มีการประมูลของดารา แสดงสุนัขดารา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๕๘๔ ๔๘๙๖, ๐ ๒๙๖๑ ๕๖๒๕

วัดกู้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด ในซอยปากเกร็ด ๓ บริเวณริมน้ำหน้าวัดเป็นจุดที่เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ ประสบอุบัติเหตุเรือล่มสิ้นพระชนม์ วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นศิลปะแบบมอญ ภายในโบสถ์หลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบมอญ เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวพุทธประวัติ วิหารประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ ด้านข้างวิหารเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่อับปางซึ่งชาวบ้านได้กู้ขึ้นมา มีพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์และเมื่อคราวเรือล่มได้อัญเชิญพระศพมาไว้ที่วัดนี้ชั่วคราว และมีศาลพระนางเรือล่ม (พระนางเจ้าสุนันทากุมารีตัตน์) ซึ่งจำลองแบบจาก ศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน

การเดินทาง

รถยนต์ จากท่าน้ำปากเกร็ดเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดกู้มาตามถนนสุขาประชาสรรค์ ผ่านวัดบางพูดนอก สวนทิพย์ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร จะเห็นวัดกู้อยู่ด้านซ้ายมือ

เรือ เช่าเรือจากท่าน้ำปากเกร็ดแล่นมาทางเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที จะเห็นท่าน้ำวัดกู้อยู่ทางขวามือ

วัดเกาะพญาเจ่ง เดิมชื่อ “วัดเกำะบำงพูด” หรือ “วัดเกาะรามัญ” สร้างโดยพญาเจ่ง แม่ทัพมอญที่อพยพจากพม่ามาอยู่เมืองไทย ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานยื่นพระบาทออกนอกโลงศพ ตามคติความเชื่อของขาวมอญ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และนอกจากนี้ยังมีสถูปพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งความอาลัยรักของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๕๘๔ ๒๖๐๓

วัดแสงสิริธรรม เป็นวัดเก่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ๒ ปี พระอุโบสถเก่าประดิษฐาน “พระพุทธศรีโรจนชัย” หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยกับหลวงพ่อดำพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา รอบพระอุโบสถเป็นที่แสดงเรือเก่าสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบชาวภาคกลาง มีเรือขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ๒ ลำ ลำใหญ่กว้างประมาณ ๒.๕ เมตร อายุกว่า ๑๐๐ ปี

ตลาดน้ำวัดแสงสิริธรรม ตั้งอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์ – ตลาดท่าอิฐ ตำบลท่าอิฐ เป็นโครงการส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้ารอบบริเวณวัดและเกาะเกร็ดได้มีโอกาสนำสินค้ามาแสดงและจำหน่าย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา ๐๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. สอบถามรายละเอียด

วัดสะพานสูง ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด มีชื่อเดิมว่า “วัดสว่ำงอำรมณ์” สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อเพราะในคราวที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหารเสด็จไปตรวจวัดสว่างอารมณ์ทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงในวัด ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันว่า “วัดสะพานสูง” จนติดปาก จึงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสะพานสูง” มาจนทุกวันนี้ ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและนักเลงพระเครื่องทั่วประเทศต่างรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะพระเครื่องและตะกรุดของหลวงปู่เอี่ยมนั้นเป็นที่เลื่องลือในพุทธานุภาพอย่างยิ่ง ท่านได้สร้างพระปิดตาและตะกรุดมหาโสฬสมงคลไว้ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน

วัดใหญ่สว่างอารมณ์ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างประมาณ พ.ศ.๑๙๖๓ เดิมชื่อ “วัดน้อย” อยู่ริมคลอง “บางน้อย” พระประธานปางสมาธิสร้างด้วยศิลาแลง ต่อมาได้ปฏิสังขรณ์วัดแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดใหญ่ยิ่ง” วัดได้ร้างลงจนพ.ศ.๒๔๖๓ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาประทับ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ จนถึงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงพอพระทัย จึงทรงประทานเงินสร้างวัดให้หลวงปู่กุหลาบ และทรงประทานนามวัดใหม่ว่า “วัดใหญ่สว่างอารมณ์

วัดเชิงเลน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก บนเนื้อที่ ๑๖ ไร่ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่าซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก

วัดท่าอิฐ วัดนี้สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๓๐๔ ที่ตั้งเดิมเคยเป็นที่ปั้นเผาอิฐและท่าขนอิฐ ต่อมาเมื่อสร้างวัดจึงตั้งชื่อว่า “วัดท่าอิฐ” ในโบสถ์ประดิษฐาน “หลวงพ่อเพ็ชร” ส่วนในวิหารมหาอุดประดิษฐาน “หลวงพ่อขำว” สร้างในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง” ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเปิดเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๓

วัดกลางเกร็ด ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำลัดเกร็ด สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยพระเจ้าท้ายสระฯ ทรงโปรดฯให้ขุดคลองลัดนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย และพระพุทธไสยาสน์หรือหลวงพ่อพระนอน ยาว ๙๙ วา สร้างมานานกว่า ๑๐๐ ปี ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร

วัดสนามเหนือ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลัดเกร็ดมีสถานที่สำหรับจอดรถ และท่าเรือข้ามฟากเพื่อที่จะข้ามไปเกาะเกร็ด สามารถเดินทางจากห้าแยกปากเกร็ดไปทางเทศบาลเมืองปากเกร็ดมีป้ายบอกทางไปเกาะเกร็ดแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปที่วัดสนามเหนือ

เกาะเกร็ด เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ. ๒๒๖๕ เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” (คลองลัดเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อเดิมเรียกว่า เกาะศาลากุน เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามต่างๆบนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยา หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้ว เกาะศาลากุนจึงมีฐานะเป็นตำบลและเรียกว่าตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงมีชื่อว่า เกาะเกร็ด

การคมนาคมบนเกาะจะใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่

วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) เดิมมีชื่อว่า “วัดปากอ่าว” คนมอญเรียก “เพียะมู่ฮะเติ้ง” สร้างโดยชาวรามัญที่อพยพมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อปีพ.ศ.๒๓๑๗ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่และได้พระราชทานนามว่า “วัดปรมัยยิกาวา”  หมายความว่า วัดของพระบรมอัยยิกา ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม(โลงศพมอญ)  ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่

ส่วนพระอุโบสถ มีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นแบบไทยประยุกต์ เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ตั้งอยู่ด้านเหนือของวัดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว ๙.๕๐ เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำ พระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี “พระนนทมุนินท์” เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ ๕ พระวิหารเปิดทุกวันตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.

นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกำวำส จัดแสดงวัตถุต่างๆที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง “เหม” ที่พ.อ.ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้นจนนับว่าเป็นงานศิลป์ ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ล้วนแต่ต้องทำ อย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้าซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระจะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ วันจันทร์-ศุกร์ เปิดเวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๕๘๔ ๕๑๒๐

กวานอาม่าน พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ การปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้นเป็นอาชีพชาวมอญมาตั้งแต่ครั้งตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทางเดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่อง ปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ในชีวิตประจำวันเช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. ๐ ๒๕๘๔ ๕๐๘๖, ๐ ๒๕๘๓ ๔๑๓๔

วัดไผ่ล้อม สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้

วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าเดิมชื่อ “วัดสวนหมาก” นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก ๒ ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์ องค์ใหญ่อีก ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟือง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมากเขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต”   หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟืองฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น

ศูนย์เครื่องปั้นดินเผา หมู่ ๑ ศูนย์เครื่องปั้นดินเผา เป็นหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาภาชนะของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถาง โอ่งน้ำ ครก ที่ใหญ่และเก่าแก่ มีการสาธิตการแกะสลักลายเครื่องปั้นดินเผา การทำ เครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงวิธีการนำเข้าเตาเผา นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อเป็นของที่ระลึก หรือไว้ประดับตกแต่งบ้านและสวนได้

วัดฉิมพลีสุทธาวาส มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมากและยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา สวนเกร็ดพุทธ อยู่บนเกาะเกร็ด ตั้งอยู่ที่ ๕๙/๔ หมู่ ๒ ตำบลเกาะเกร็ด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ จัดอบรมประชุมสัมมนา สถานที่ศึกษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สถานที่ปฏิบัติธรรมสงบจิตใจ แหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมหลากหลายวิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปกรรม จิตรกรรม และหัตถกรรม อาหารพื้นบ้านและเครื่องดื่มสมุนไพร ชมไม้ดอกนานาพันธุ์ มีเนื้อที่ ๘ ไร่ และสวนผลไม้ การเข้าชมบริจาคบำรุงสถานที่ตามศรัทธา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุมาลี โทร. ๐ ๒๕๘๓ ๑๐๗๖, ๐ ๒๕๐๓ ๔๘๘๖-๗, ๐๘ ๑๔๓๘ ๔๗๙๒, ๐๘ ๑๔๕๕ ๕๕๓๔

คลองขนมหวาน บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด สำหรับขายส่งและยังสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝาก

การเดินทางไปเกาะเกร็ด ลงเรือข้ามฟากได้สองท่า คือ ท่าเรือวัดสนามเหนือ (ไม่ไกลจากท่าน้ำปากเกร็ด) หรือท่าเรือวัดกลางเกร็ด มีเรือบริการระหว่าง ๐๕.๐๐-๒๑.๓๐ น.

ตัวอย่ารายการท่องเที่ยวบนเกาะเกร็ด

๑. ลงเรือข้ามฟากที่วัดสนามเหนือ และมาขึ้นที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาส นมัสการพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ชมพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ ๕

๒. เดินเท้าจากวัดปรมัยยิกาวาสสู่หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๗ ชมและซื้อเครื่องปั้นดินเผาสองข้างทาง ชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผากวานอาม่าน

๓. ลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดเสาธงทอง ล่องเรือไปทางท้ายเกาะสู่วัดใหญ่สว่างอารมณ์ ตำบลอ้อมเกร็ด ให้อาหารปลาหน้าวัด ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด รายได้ถวายวัดฯ มีมะพร้าวน้ำหอมจำหน่าย

๔. ล่องเรือไปทางใต้เลี้ยวขวาเข้าคลองบางบัวทอง หรือ คลองขนมหวาน ชมหมู่บ้านขนมไทยสองฟากฝั่งคลอง และซื้อหาขนมเป็นของฝาก

๕. ย้อนกลับออกมาตรงปากคลอง มีปล่องเตาอิฐที่ผลิตอิฐ บ.บ.ท. อิฐทนไฟแห่งแรกของเมืองไทยล่องเรือผ่านบ้านเกร็ดตระการ วิ่งตรงมาขึ้นท่าน้ำ หน้าวัดฉิมพลี เลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตร เดินเท้าจากวัดฉิมพลีถึงกลุ่มอาชีพหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ชมการสาธิตการแกะลายเครื่องปั้นดินเผาและซื้อเป็นของฝากของขวัญ ล่องเรือข้ามฟากไปวัดกลางเกร็ด เดินทางกลับ

๖. เส้นทางไหว้พระเก้าวัด บริเวณเกาะเกร็ด ประกอบด้วยวัดใหญ่สว่างอารมณ์ วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อม วัดปรมัยยิกาวาส วัดฉิมพลี วัดกลางเกร็ด วัดเชิงเลน วัดท่าอิฐและวัดแสงสิริธรรม

การนั่งเรือเที่ยวรอบเกาะเกร็ด มีเรือออกทุกหนึ่งชั่วโมงเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. คนละ ๕๐ บาท หรือ หากต้องการเช่าเรือ ราคามีตั้งแต่ ๕๐๐-๔,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและขนาดของเรือ ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส โทร. ๐ ๒๕๘๔ ๕๐๑๒

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *