Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

เที่ยววัดปากคลองมะขามเฒ่า และแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

วัดปากคลองมะขามเฒ่า (วัดหลวงปู่ศุข)
วัดปากคลองมะขามเฒ่า (วัดหลวงปู่ศุข)

วัดปากคลองมะขามเฒ่า (วัดหลวงปู่ศุข) ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลมะขามเฒ่า บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปสักการะพระครูวิมล คุณากร (หลวงปู่ศุข) ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป วัดปากคลองมะขามเฒ่าแต่เดิมเป็นวัดร้างชื่อ “วัดอู่ทอง” พระภิกษุนามว่า “ศุข” ธุดงค์ผ่านมาและจำพรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ มีหลักฐานคือ เหรียญรุ่นหนึ่งของท่านจารึกด้านหลังว่า “พระครูวิมลอยู่วัดอู่ทองมะขามเฒ่า” และคงใช้ชื่อนี้ตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ จึงใช้ชื่อวัดปากคลองมะขามเฒ่ามาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ รูปเหมือนพระครูวิมลคุณากร “หลวงปู่ศุข” กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เจ้าแม่กวนอิม รวมทั้งมณฑป ซึ่งหลวงปู่ศุขได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ อุโบสถสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พร้อมข้าราช บริพารร่วมเขียนด้วยตัวอักษรขอม ผนังทางด้านใต้ภาพเขียนระบุปี พ.ศ. ๒๔๓๓ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. ๐ ๕๖๔๖ ๑๐๑๐

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ ๒๕ กิโลเมตร การเดินทางไปทางอำเภอวัดสิงห์ ตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๘๓ กิโลเมตรที่ ๓๖-๓๗ หรือใช้เส้นทางหมายเลข ๑ ไปทางจังหวัดนครสวรรค์แยกซ้าย กิโลเมตรที่ ๒๘๘-๒๘๙ ข้ามสะพานธรรมจักรไปที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ระยะทางห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ ๑๗ กิโลเมตร

ตลาดต้นน้ำท่าจีน ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า หน้าวัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลวัดสิงห์ ชุมชนในเขตเทศบาลวัดสิงห์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดตั้งเป็นตลาดต้นน้ำท่าจีน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนและรับประทานอาหาร ริมแม่น้ำ มีการจำหน่ายอาหารคาวหวานพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น แกงบวน ก๋วยเตี๋ยวโบราณ ผักผลไม้ และสินค้า OTOP เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานเทศบาลตำบลวัดสิงห์ โทร. ๐ ๕๖๙๔ ๙๖๓๙ โทรสาร ๐ ๕๖๙๔ ๙๖๓๘ องค์การบริหารส่วนตำบลมะขามเฒ่า โทร. ๐ ๕๖๔๖ ๑๕๘๓ คุณทิพากร โทร. ๐๘ ๖๙๕๔ ๙๗๗๒ หรือ www.makhamthao.org

วัดสุวรรณโคตรมาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๓ บ้านคลองมอญ หมู่ ๔ ตำบล มะขามเฒ่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เดิมชื่อมีว่า “วัดคลองมอญ” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดคลองบุญ” และได้เปลี่ยนอีกครั้งมาเป็น “วัดสุวรรณโคตรมาราม” เพราะมีประธานในอุโบสถสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองปางสมาธิ ขนาดพระหน้าตักกว้าง ๓ ศอก เรียก “พระสุวรรณ” สร้างโดยพระครูสารวุฒิ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องกัน วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ในนามวัดคลองมอญ ที่หน้าบันอุโบสถด้านหลังมีศิลปะปูนปั้นรูปภาพพญาครุฑ อันเป็นมหาอำนาจที่หลวงพ่อมหาโพธิ์ ญาณสัมปันโน อดีตเจ้าอาวาสศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคม หลวงปู่ศุขนำมา สร้างเป็นพระเครื่อง นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของวัด คือ “หลวงพ่อโต วัดคลองมอญ” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดพระหน้าตักกว้าง ๘ ศอก สร้างขึ้นพ.ศ. ๒๔๖๘ เดิมอยู่กลางแจ้ง ปัจจุบันได้สร้างวิหารคลุมไว้ มีงานสมโภชประจำปีในวันแรม ๒-๓ ค่ำ เดือน ๓

วัดทรงเสวย ตั้งอยู่เลขที่ ๖๓ บ้านหนองแค หมู่ ๑ ตำบลหนองน้อย ด้านหน้าวัดอยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๐ เดิมมีเรียกว่า “วัดหนองแค” ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๕๑ (รศ.๑๒๗) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จตรวจลำน้ำเก่าโดยทางเรือ ทรงพักเสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ และได้พระราชทานนามว่า “วัดเสวย” ชาวบ้านเห็นเป็นราชาศัพท์ จึงเพิ่มคำว่า “ทรง” เป็น “วัดทรงเสวย” เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว ในปีต่อมาได้พระราชทานสิ่งของประกอบด้วย บาตร ปิ่นโต พระขรรค์ ตาลปัตร ใบลาน ตะเกียงลาน เรือสำปั้น ป้านน้ำชา ๑ ชุด สิ่งของเหล่านี้ยังมีให้ชมอยู่ นับเป็นของพระราชทานที่สมบูรณ์ที่สุด และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๗ กันยายน ๒๔๗๐ นอกจากนั้นยังมีอุโบสถที่สวยงาม กำแพงแก้วมีศิลปะปูนปั้น รูปพุทธประวัติบนซุ้มประตู รูปเหมือนหล่อพระเกจิหลวงพ่อคล้อย อดีตเจ้าอาวาสที่เป็นลูกศิษย์ผู้แกะแม่พิมพ์พระเครื่องให้หลวงปู่ศุข หลวงพ่อย้อยอดีตเจ้าอาวาสผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม มีการจัดงานประจำปี ไหว้พระปิดทอง เนื่องในวันมรณะภาพของหลวงพ่อย้อย ในวันที่ ๖ ธันวาคมของทุกปี

วัดท่านจั่น ตั้งอยู่เลขที่ ๕๖ หมู่ ๓ บ้านท่านจั่น ตำบลหนองขุ่น สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ภายในบริเวณวัดมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานภายในอุโบสถ นามหลวงพ่อจั่น พระพุทธรูปที่ชาวหนองขุ่นและบริเวณใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ มีงานสมโภชนมัสการปิดทองเป็นประจำทุกปี ๆ ละ ๒ ครั้ง ตรงกับวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และ ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) ในงานมีการหุงข้าวต้มเลี้ยง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า กินข้าวต้มวัดท่านจั่นแล้วจะหายจากโรคภัยเป็นสิริมงคลกับตัวเอง จึงกลายเป็นประเพณีกินข้าวต้มมาจนถึงทุกวันนี้ มีบันทึกว่า วันวิสาขบูชา ปี ๒๕๕๑ กำนันสมวงษ์ โพธิ์ศรี อดีตกำนันตำบลหนองบัว ได้ร่วมกับลูกหลานเป็นเจ้าภาพเพื่อสืบสานประเพณีเลี้ยงข้าวต้มทรงเครื่องจำนวน ๙๔ กระทะใบบัว มีต้นสำโรงใหญ่ ขนาด ๔ คนโอบอายุกว่าร้อยปี อยู่บริเวณหน้าวัด ผลสำโรงหล่นจากต้น ชาวบ้านจะเก็บลูกสำโรงไปกราบไหว้บูชา เพราะเชื่อว่าจะปราศจากภัยอันตราย ปัจจุบันไม่มีผลสำโรงให้พบเห็น เพราะจะมีผู้มาคอยเก็บไปบูชา จนหมด

วัดบ่อแร่ ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านบ่อแร่ ตำบลบ่อแร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายสร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ แรกเริ่มสร้างวัดเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับปีระกา พระอาจารย์เนียม เจ้าอาวาสวัดสิงห์สถิต ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดขึ้นมา ขนานนามว่า “วัดบ่อแร่ธรรมเจริญศรี” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๖๙ ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูขนาดใหญ่ส่วนยอดซุ้มมีพระพุทธรูปปางลีลา ประดับประดาและลงสีไว้อย่างสวยงาม ที่ศาลาการเปรียญบริเวณซุ้มระฆังปั้นเป็นรูปวัวสัญลักษณ์ปีเกิดของผู้สร้าง ถัดมาตรงกลางวัด เป็นมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนหลวงปู่เคลือบ (พระครูวิจิตรชัยการ) อดีตเจ้าอาวาสพระเถระผู้มีพลังจิต แก่กล้า วัตถุมงคลที่ท่านสร้างเพื่อแจกแก่ญาติโยมจึงเป็นที่นิยม เช่น พระพิมพ์สี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยม เนื้อชินสังควานร พระใบมะขามเนื้อชิน เป็นต้น วัดได้จัดงานประเพณีไหว้พระปิดทองหลวงปู่เคลือบ ในระหว่าง ๑๔ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี

วัดปทุมธาราม (วัดหนองบัว) ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๖ หมู่ ๒ ตำบลหนองบัว สร้างขึ้น พ.ศ. ๒๓๖๕ เดิมชื่อว่า “วัดหนองบัว” เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีหนองน้ำ และมีบัวหลวงมากมาย ผู้สร้างวัด คือ สมเด็จเจ้าเถื่อน สมเด็จพร กับขรัวยายไข่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งหลังวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ภายในบริเวณวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป รูปเหมือนหลวงปู่ศุข กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หลวงพ่อจาด อดีตเจ้าอาวาส ด้านหน้าวิหารมีพระพุทธรูปปางประทานพรสีทององค์ใหญ่ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีชัยนาท เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดชัยนาท สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระอรหันตสาวกไปบรรจุสถิตอยู่ ณ บุษบก ยอดพระเจดีย์ นอกจากนั้นยังมีพระร่วงเลิศฤทธิ์ และพระพุทธวงศ์ ๒๘ พระองค์ ประดิษฐานอยู่ในองค์เจดีย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปสัตว์หิมพานต์สีทอง ทางขึ้น ๔ ทิศ เป็นบันไดนาค ศิลปะสวยงามมาก ปัจจุบันหลวงปู่นะ (พระครูปทุมชัยกิจ) พระเถระผู้มีอาวุโสสูงสุดของจังหวัดชัยนาท ผู้เป็นร่มโพธิ์บุญของศาสนา ยังคงแผ่เมตตาโปรดญาติโยมทั่วสารทิศ

วัดดอนตูมกมลาวาส ตั้งอยู่บ้านดอนตูม หมู่ ๕ ตำบลหนองบัว สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต มีประวัติว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๑๗ นายถวัลย์ เถกิงศรี ศึกษาธิการจังหวัดชัยนาท ลุงสังวาล-ป้าเฉลา สุราฤทธิ์ ร้านสุขแสงดาว และคณะญาติโยม อำเภอวัดสิงห์ ถวายที่ดินสร้างวัดแก่ท่านเจ้าคุณพระราชมุนี (โฮม โสภโน) วัดปทุมธาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อตั้งวัดคณะธรรมยุตในจังหวัดชัยนาท ท่านเจ้าคุณฯ มอบหมายให้พระครูปัญญาธุราทร เจ้าอาวาสวัดเขาชายธงวราราม อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ จัดหาพระมาดูแลการก่อสร้างวัด จึงได้พระภิกษุทองหยด สันติกโร มาดูแลการก่อสร้างและนำศรัทธาญาติโยมพัฒนาการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นวัดตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗ อุโบสถมีน้ำล้อมรอบ นับเป็นสีมาน้ำแห่งเดียวในจังหวัดชัยนาท วางศิลาฤกษ์ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ โดยสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน)ปี ๒๕๒๑ พิธีเททองหล่อพระประธาน โดยสมเด็จพระสังฆราช (วาสน-มหาเถระ) วัดดอนตูมกมลาวาส มีความสัมพันธ์อันเป็นมหามงคลของ ๒ สมเด็จ ๒ ประมุขแห่งสงฆ์ ภายในบริเวณวัดสงบ ร่มรื่นด้วยธรรมชาติของป่าไม้ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นให้กลมกลืน สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่ถือสันโดษ สัมผัสกับรสพระธรรมและธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนั้นพระครูสุปัญญาโกศล เจ้าอาวาสวัดดอนตูม ยังได้ก่อสร้างน้ำตกจำลอง ศาลารับรอง วิหารหลวงปู่ศุข สมเด็จโต หลวงปู่ทวด ลักษณะคล้ายถ้ำกลมกลืนกับสวนป่าเพื่อสาธุชนได้มากราบไหว้ขอพร

วัดสิงห์สถิต ตั้งอยู่เลขที่ ๒ บ้านวัดสิงห์ ในเขตเทศบาลตำบลวัดสิงห์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ชาวบ้านเรียก วัดสิงห์ แต่เดิมบริเวณนี้เคย็นป่าคงเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้าย เช่น สิงโต เมื่อมีหมู่บ้านขึ้นมา เรียก “บ้านสิง” เมื่อสร้างวัดจึงเรียกว่า “วัดสิงห์” และต่อมาได้เปลี่ยนใช้ชื่อ “วัดสิงห์สถิต” สิ่งสำคัญของวัดนี้ ได้แก่ อุโบสถ เป็นอุโบสถแบบโบราณ ที่เรียกกันว่า “โบสถ์มหาอุต” มีกำแพงแก้วโดยรอบ หน้าบันอุโบสถมีภาพปูนปั้นรูปพระอาทิตย์ทรงกรดที่งดงามมาก นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าภายในอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป “หลวงพ่อใหญ่

วัดพานิชวนาราม (วัดป่า) ตั้งอยู่เลขที่ ๙ ถนนจันทนาราม หมู่ ๑ ตำบล วัดสิงห์ ตามประวัติกล่าวว่า ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง และได้กลับเป็นวัดขึ้นอีกครั้งเมื่อ นายสำปั้น พานิชกุล ได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างเสนาสนะ พร้อมกับถวายความอุปถัมภ์ตลอดมา เรียกขานกันว่า “วัดป่าธัญญผล” (แปลว่า วัดป่าข้าวเปลือก) ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระเจริญอรุณศักดิ์ นายอำเภอวัดสิงห์ เห็นว่า นายสำปั้น พานิชกุล ได้ทำนุบำรุงวัดด้วยดีตลอดมา จึงได้เปลี่ยนนามวัดเสียใหม่เป็น “วัดป่าพานิชกุล” เพื่อเป็นเกียรติคุณ ต่อมาทางวัดได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดพานิชวนาราม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ภายในมีพระพุทธรูปนาม “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาข้างอุโบสถ มีผู้เลื่อมใสมาก มีประวัติว่า มีการล้างป่าช้าเพื่อใช้เนื้อที่ในการสร้างวัด และได้ฌาปนกิจศพเหล่านั้นแล้วจึงนำเถ้าอัฐิมาสร้างเป็นองค์พระจึงได้ชื่อว่า หลวงพ่อขาว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *