Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

วังน้ำเขียว ท่องเที่ยว ไร่ สวน แปลง ฟาร์ม (ช่วงที่ 2)

ฝูงกระทิง บ้านเขาแผงม้าฝูงกระทิง บ้านเขาแผงม้า
ไร่องุ่น
ไร่องุ่น

จากไร่องุ่นน่ารัก ถึงผักออร์แกนิกแปลงโต

พูดถึงไร่องุ่นแห่งวังน้ำเขียวทีไร วิลเวจฟาร์ม แอนด์ ไวน์เนอรี่ ไร่องุ่นพันธุ์ชิราช (Shiraz) และโรงบ่มไวน์สไตล์ฝรั่งเศสแบบครบวงจรก็ผุดขึ้นมาในหัว เพราะโด่งดังมาก่อนวังน้ำเขียวเสียอีก

แต่ครั้งนี้ คุณเนตร ขันคำ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา พาไปรู้จัก ไร่องุ่นพันเก้า ไร่องุ่นแบบเปิดขนาดเล็กของ คุณบุณยาพร สารี ที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสองุ่นพันธุ์แบล็กโอปอล์ (Black Opal) องุ่นพันธุ์เดียวของไร่ที่ลูกเล็ก ผิวดำ พวงใหญ่ ไร้เมล็ด เปลือกบาง กรอบ รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ เหมาะสำหรับกินสด แต่เมื่อได้ลองนำมาทำน้ำองุ่น 100 เปอร์เซ็นต์ ก็รสชาติดีไปอีกแบบ ปัจจุบันกำลังพัฒนาเรื่องกลิ่นให้หอมหวานมากขึ้น

อดีตเราคุ้นเคยกับองุ่นสีเขียวพันธุ์ไวต์มะละกา (Rhite Malaga) ลูกรีๆ สีเขียว มีเมล็ด รสเปรี้ยวอมหวาน ทั้งไวต์มะละกา และแบล็กโอปอล์ ใช้ระยะเวลาการปลูกและดูแลยากพอๆ กัน สิ่งที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพันธุ์แบล็กโอปอล์มากขึ้น เพราะราคาดีกว่า ราคาขายส่งหน้าสวนกิดลกรัมละ 70-100 บาท

แปลงเกษตรอินทรีย์
แปลงเกษตรอินทรีย์

จากองุ่นพันเก้า พี่เนตรพาเราไปแปลงผัก ในใจนึกไปถึงสวนลุงไกร แปลงผักอารมณ์ดี มีลุงบรรยายเคล้าบรรเลงกีตาร์สไตล์คันทรีให้ฟัง แต่เราเดินทางไกลกว่านั้น ไปยังบ้านคลองบง ถึงนิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว แปลงผักเกษตรอินทรีย์ขนาดมหึมา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังหมีและตำบลวังน้ำเขียวกว่า 3,800 ไร่ ถูกจัดสรรพื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ให้เกษตรกรทำกินคนละ 2.5 ไร่

ป้าอำไพ แช่มโชติ เกษตรกรรุ่นแรก ของนิคมเศรษฐกิจพอเพียงวังน้ำเขียว เข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 สมัยยังไม่มีไฟฟ้า พลิกชีวิตจากแม่ค้ามาปลูกผัก แต่ละคนได้รับโควตาให้ปลูกผักชนิดต่างๆ เช่น บัตเตอร์เฮด เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก แครอต บร็อกโคลี สลัดคอส มะเขือเทศ ถั่วพลู ผักโขมจีน รวมแล้ว 40 กว่าชนิด ดดยแบ่งโควตากันปลูกคนละ 4-5 ชนิด เพื่อจะได้ไม่แย่งตลาดกันเอง

แปลงผักเกษตรอินทรีย์สุดลูกหูลูกตาสามารถขับรถเข้าไปเที่ยวชมได้ ที่น่าประทับใจคือมันไม่ใช่แปลงผักโดดเดี่ยว แต่ละแปลงมีเจ้าของที่อาศัยอยู่ใหล้ๆ แปลงทุกวัน ผักที่นี่จึงเล่าเรื่องได้

แปลงเกษตรอินทรีย์
แปลงเกษตรอินทรีย์

ทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษอำเภอวังน้ำเขียว จะมาซื้อผักถึงที่ โดยไม่ต้องลำบากไปเดินหาตลาดเอง

“บอกไปคงไม่เชื่อว่าป้าส่งลูกหลานเรียนจบกันหมดเพราะผัก 2.5 ไร่ ที่หนูเห็นอยู่ตรงหน้านี่แหละ ผักมันเลี้ยงคนได้จริงๆ ง่ายๆ เลย ผัก 6 แปลงเล็กๆ ด้านเดียวตรงหน้าหนู เชื่อไหมนี่คือเงินหมื่นทุกเดือน”

มันน่าอิจฉามาก ที่ที่ทำงานของป้ารถไม่ติด ชุดทำงานของป้าไม่ต้องประดิดประดอยให้สิ้นเปลือง แล้วได้อยู่กับของสดชื่นทั้งวัน เหนื่อยขึ้นมาเมื่อไหร่ก็พักนอนรับลมสบายๆ แบบไม่มีใครด่า ถามว่าวันนี้ให้กลับไปเป็นแม่ค้า เอาไหม ป้าส่ายหัวหยึกๆ บอกว่าขอตายกับผักดีกว่า

ที่นี่คงไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวสไตล์ชิก ชิว หาที่เที่ยวเช็กอินมากนัก แต่ถ้าอยากมารู้จักผัก ชนิดที่กลับไปมีแรงบันดาลใจ อยากลุกขึ้นมาปลูกเองได้ หรืออยากมาหาซื้อผักไร้สารพิษราคาย่อมเยากลับบ้านได้ตามชอบใจ ที่นี่พลาดไม่ได้

ฝูงกระทิง บ้านเขาแผงม้า
ฝูงกระทิง บ้านเขาแผงม้า

สวนลุงโชค โชคดีที่ได้รู้จัก

พี่เนตรแนะนำว่าฉันควรรู้จักลุงโชค

ภาพจินตนาการของลุงโชคในหัวคงจะเป็นคุณลุงปลูกผักใจดีๆ สักคน รถพาลัดเลาะไปบ้านคลองทุเรียน จากหัวโล้นที่เห็นชินตาตลอดทาง กลับกลายเป็นซุ้มไผ่ให้เราขับรถมุดลอดไปเรื่อยๆ ฉันเริ่มตื่นเต้นกับปลายทางข้างหน้า

ลุงผมขาว หนวดงาม สวมลุดหม้อห้อมสีครามอย่างง่าย พาดผ้าฝ้ายสีธรรมชาติโผล่จากศาลา ส่งยิ้มเป็นมิตรมาแต่ไกล แว้บแรกรู้สึกได้ทันทีว่าถ้าคนนี้คือลุงโชค สิ่งที่ฉันกำลังจะไปพบไม่ธรรมดาแน่

โชคดี ปรโลกานนท์ หรือลุงโชค เจ้าของสวนลุงโชค คือผู้สร้างตำนานกระทิงเขาแผงม้า ลุงไม่ได้เป็นคนเพาะพันธุ์กระทิง หรือเอากระทิงมาปล่อยให้เราดู แต่ลุงเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มกระบวนการฟื้นฟูป่าวังน้ำเขียว 20,000 ไร่ จากเขาที่ไม่มีต้นไม้เหลือเลย กลายเป็นอย่างที่เห็นตอนนี้ ถ้าจะนึกภาพเขาแผงม้าในอดีตเป็นเช่นไร ลองมองไปที่เขาหัวโนสักลูกในวังน้ำเขียว เป็นเช่นนั้นแหละ การปรากฏขึ้นของกระทิงจึงเหมือนรางวัลทรงคุณค่าที่ลุงและเพื่อนมอบไว้ให้แผ่นดิน

จากเด็กใกล้ทะเลสาบ ย้ายไปอยู่บนเขาทางใต้ แล้วระหกระเหินตามพี่ชายไปเกือบทุกภาค ด้วยความเป็นเด็กเกเรที่เรียนดี แล้วกลับใจได้ จึงจบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีเกษตรแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

ครั้นแต่งงานมาอยู่ที่วังน้ำเขียว ลุงถูกกระแสนิยมการปลูกพืชเศรษฐกิจตามนโยบายเพาะปลูกเพื่อส่งออกกล่อมเกลา หันไปทำไร่ข้าวโพด อย่างที่ใครๆ ทำกัน ทำตามทฤษฏีที่เรียนมาไม่ผิดเพี้ยน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นภาวะขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่สำคัญพื้นที่ป่าดงพญาเย็น ต้นน้ำลำพระเพลิง กลายเป็นไร่ข้าวดพดแห้งผากทุกหย่อมหญ้า นอกจากสูญเสียการพึ่งพาตนเองแล้ว ระบบนิเวศถูกทำลายลงสิ้น นี่คือบทเรียนอันเจ็บปวดที่ลุงได้รับ

ลุงดชคตัดสินใจกบฏต่อการพัฒนากระแสหลัก เปลี่ยนแนวความคิดโดยเข้าร่วมงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530 ในโครงการพัฒนาชนบทเพื่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทำงานศึกษาแลกเปลี่ยนกับชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

โชคดีที่เป็นของลุงเมื่อได้พบกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ครูภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้สร้างคำว่า วนเกษตร คือการปลูกต้นไม้หลากหลาย แล้วให้ต้นไม้ตอบสนองปัจจัยสี่ คำสอนอีกอย่างจากผู้ใหญ่วิบูลย์ที่ลุงโชคจำได้แม่นคือ “สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ทั้งหมดมันไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นต้องเริ่มกลับไปทำของที่เรากิน กินอะไรก็กลับไปทำอันนั้น ทำไว้กิน เหลือกินก็เอาไว้ขาย”

ลุงโชคประจักษ์ชัด ทุกวันนี้เราซื้อสิ่งที่กิน แล้วขายสิ่งที่ปลูก มันกลับตาลปัตรไปหมด แนวคิดนี้ถูกแปรเป็นสวนวนเกษตรสมดุลแห่งชีวิต บนพื้นที่ 98 ไร่ของดงพญาเย็น ชื่อก็ว่าดงพญาเย็น ก็ควรเป็นที่อยู่ของต้นไม้ เหตุใดเราจึงตัดเสียเหี้ยนเตียน ลุงเริ่มปลูกจากพืชที่ปลูกง่ายที่สุด คือกล้วยแล้วมาปลูกพวกผักสวนครัวที่กินได้ คิดว่าอะไรที่จะใช้สอยปลูกหมด เหลือกินก็ขาย แบบนี้เรียกว่าทำรายจ่ายให้เป็นรายได้

ต้นไม้ที่เติบโตในสวนลุงโชคใช้เวลาปลูกเพียง 24 ปี เท่านั้นเอง นั่นหมายความว่าในหนึ่งชีวิตคนเราสามารถสร้างป่าได้จริงๆ แต่บางคนรีบร้อน ปลูกปีสองปีก็หวังให้ต้นไม้สูงใหญ่เทียมฟ้า เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลยมันเป็นไปไม่ได้ เหมือนคนเพิ่งเคยทำความดี ทั้งปีทั้งชาติไม่เคยทำ จะให้ได้รับความดีความชอบเลยมัไม่ใช่วิถีแห่งธรรมชาติ

แม้แต่เรื่องท่องเที่ยว กระแสโลกเขายังคิดเรื่องท่องเที่ยวเชิงนิเวศท่องเที่ยวอย่างไรให้ธรรมชาติอยู่ได้ เที่ยวอย่างไรให้คนในท้องถิ่นอยู่ได้ ให้ทรัพยากรอยู่รอด โลกก็คิดอย่างนั้น แต่พื้นที่วังน้ำเขียวเรากลับพัฒนาจนชาวบ้านขายที่หมด แล้วสุดท้ายกลับมาเป็นลูกจ้างบนที่ดินของตัวเอง

ลุงโชค เจ้าของสวนลุงโชค
ลุงโชค เจ้าของสวนลุงโชค

คนส่วนใหญ่ที่มาหาลุงแบบส่วนตัว ไม่ได้ถูกหน่วยงานส่งมา มักเป็นคนที่คิดทะลุไปอีกขั้น เป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกเกษตรกร แต่ถูกกระแสสังคมบอกสอนให้เรียนสูงเพื่อหนีวิถีเกษตร เข้าสู่ระบบโรงงานที่ได้เงินเยอะ สุดท้ายสมองถูกฝึกให้คิดอยู่ซีกเดียว สุขภาพแย่ และกลายเป็นคนโดดเดี่ยว ไม่มีญาติ พ่อแม่เจ็บไข้ไม่ได้กลับไปดูแล จนโหยหาความสุขเมื่อครั้งอดีต คนพวกนี้มาเพื่อหาทางออก แต่ลุงจะบอกเขาว่าคุณลาออกวันนี้เลยไม่ได้ ให้ทำไปแบบคู่ขนาน เหตุผลคือ คุณยังไม่เคยใช้วิถีแบบนี้เลย คุณรับจ้างเรียนมาตลอด จะมาใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า มันเจ็บเกินไป ถ้ามีที่ทางให้เริ่มจากการปลูกต้นไม้นี่แหละ จากที่เคยกลับบ้านปีละครั้งก็กลับบ้านไปปลูกต้นไม้เสียเดือนละครั้ง

“ต้นไม้ของลุงปลูกแล้วปลูกเลย ไม่เคยรื้อออก เพราะใช้หลักธรรมชาติ ถ้ามันเบียดเสียดหรือหงำกัน ธรรมชาติจะจัดการกันเอง ต้นไม้แต่ละต้นมีหน้าที่ของมัน แต่ถ้าเราไม่คิดต้นไม้ในเชิงมูลค่า บางต้นไม่มีราคา แม้แต่ต้นที่ตายไปแล้วก็เป็นประดยชน์ ผุพังเป็นปุ๋ยให้ต้นที่ยังอยู่ ต้นไม่ที่มันเติบโตมันทำหน้าที่ของมัน มนุษย์ต่างหากที่ไม่รู้ว่ามันทำหน้าที่อะไรอยู่”

นอกจากการพูดคุยกับลุงโชคจะได้เรื่องกระบวนการปรับความคิดแล้ว ที่นี่ยังเป็นสวนแห่งการเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพึ่งตัวเอง มีฐานกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ ดิน น้ำ ป่าไม้ พลังงานทดแทน ฯลฯ ถ้าดินเสีย เราจะสอนฟื้นฟูดิน ไม่ใช่บอกว่าไปซื้อปุ๋ยสูตรอะไรมาใส่ สอนการวางแผนทำนา ถ้าอยากรู้เรื่องการทำน้ำกิน เตาจะสอนทำน้ำแดดเดียว ที่แค่เอาน้ำไปตากแดด ออกซิเจนจะแตกตัว ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ท้องไม่ผูก และยับยั้งการเกิดมะเร็งลำใส้ เราจะไม่บอกว่าให้ไปซื้อเครื่องกรองน้ำยี้ห้ออะไร

ตอนท้ายๆ ของการสนทนา ฉันถามลุงโชคแบบนอกประเนไปว่าเม็ดมะค่าโมงที่เห็นเขายังหนังสติ๊กกันที่ผาเก็บตะวันและเขาแผงม้า มันจะโตเป็นต้นไม้จริงๆ เหรือคะ

“ถ้าคนที่จบป่าไม้ หรือมีความรู้เรื่องป่าจะรู้ว่ามันไม่มีทางขึ้นหรอก เพราะด้านล่างเป็นป่าไผ่ มันจะไปปลูกอะไรขึ้น มันเป็นเพียงกุศโลบายให้คนรุ่นใหม่สนใจธรรมชาติ ผมเองแหละคือคนริเริ่มเรื่องยิงหนังสติ๊กเม็มะค่าโมงที่เขาแผงม้าก่อนจะกระจายไปที่อื่น ตอนนั้นนึกถึงเวลาพ่อยิงลูกยางด้วยหนังสติ๊กเข้าไปในป่ายางสมัยอยู่ใต้ ก็นักถึง สังเกตดูว่าสมัยก่อนเรียกป่ายาง ไม่ใช่สวนยางอย่างปัจจุบัน ก็เพราะมันเป็นป่าจริงๆ มีพืชผักทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะต้นยางพารา

“อย่างในสวนลุงถ้าใครมีไอแพด ไอโฟน ก็ไปสแกน QR Code ศึกษาแต่ละจุดได้เลย เราไม่ปฏิเสธวิธีการที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่าย แต่มันต้องอธิบายให้ขาด และบอกความจริงเขา มันไม่ต่างกับเวลาจัดกิจกรรมชวนคนมาปลูกป่า ทึ่จริงคุณปลูกคนละต้นมันไม่ได้ผลอะไร แถมเป็นภาระผมต้องเตรียมหลุม แล้วไหนต้องขนน้ำเข้าห้องน้ำให้คุณใช้อีก บางคนถุงก็ไม่เอาออก ใส่ดินตื้นบ้าง ลึกบ้าง เป็นการลงทุนซ้ำซ้อน ถ้าเป็นธุรกิจเจ๊งแล้ว แต่มันเป็นกุศโลบายให้เขามาฟังเรื่องราว มาซึมซับธรรมชาติ ต่อให้ต้นไม้มันไม่โตขึ้นในป่าผืนนี้ แต่ถ้ามันโตในจิตใจเขาแล้ว ก็ถือว่าคุ้ม”

คู่มือสำหรับนักเดินทาง

การเดินทาง

การเดินทางด้วยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ได้ 4 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 ใช้ถนนมอเตอร์เวย์ ผ่านด่านมอเตอร์เวย์ลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายออกทางจังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเล 304 ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม ถึงแยกกบินทร์บุรีใหม่ ให้ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านแยกนาดี อุทยานแห่งชาติทับลาน ขับตรงสู่อำเภอวังน้ำเขียว

เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางรังสิต-นครนายก หรือทางหลวงหมายเลข 305 ไปทางจังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 33 แล้วเลี้ยวซ้ายตรงแยกกบินทร์บุรีใหม่ เข้าทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านแยกนาดี อุทยานแห่งชาติทับลาน ขับตรงเข้าสุ่อำเภอวังน้ำเขียว

เส้นทางที่ 3 ใช้ถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงหมายเลข 2 ตรงไปจนถึงอำเภอปากช่อง ผ่านฟาร์มโชคชัย ไปประมาณ 4 กิดลเมตร ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2090 ขับตรงไปจนถึงด่านเก็บเงินเข้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้เลี้ยวซ้ายมุ่งไปอำเภอวังน้ำเขียว

เส้นทางที่ 4 ใช้ถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงหมายเลข 2 ตรงไปจนถึงแยกอำเภอปักธงชัย ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 304 ขับตรงสู่อำเภอวังน้ำเขียว

เดินทางโดยรถตู้โดยสาร อีกหนึ่งการเดินทางที่สะดวกสบายและไม่ต้องขึ้นรถโดยสารหลายต่อ คือใช้บริการรถตู้โดยสาร จากกรุงเทพฯ สารถขึ้นรถได้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี คิวรถ หจก.ปักะงชัย 304 โทรศัพท์ 089 987 4985, 087 828 8825 ราคา 200 บาท รถออกทุกชั่วโมง เวลา 4.00-18.00 น. ขากลับรถออกจากอำเภอปักธงชัย ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที ถึงอำเภอวังน้ำเขียว สำรองที่นั่ง โทรศัพท์ 044 441 465

ที่พัก อำเภอวังน้ำเขียว มีโรงแรมที่พักให้เลือกมากกว่า 500 แห่ง หรือจะพักโฮมสเตย์กับชาวบ้านบุไทร ราคา 200 บาท ต่อคน ต่อคืน ไม่รวมอาหาร หากต้องการให้ชาวบ้านทำอาหารให้ กรุณาแจ้งล่วงหร้า ติดต่อศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา โทรศัพท์ 085 302 2785

ที่กิน อำเภอวังน้ำเขียวเป็นสวรรค์ของคนรักอาหารเพื่อสุขภาพ ท่านจะลิ้มรสผักผลไม้สดๆ  แบบเต็มอิ่มในราคามิตรภาพ ร้านอาหารแนะนำได้แก่

ครัวอรัญญา ซอยเขาแผงม้า รายการอาหารแนะนำ ได้แก่ ผัดไทยชาววัง ยำตะใคร้ชาววัง ต้มซุปหางวัว ยำเห็ดสามอย่าง โทรศัพท์ 083 195 6888

ร้านต้นไทร ซอยตำบลไทยสามัคคี ทีเด็ดคือรายการอาหารสารพัดเห็ด เช่น เห็ดหอมอบซิอิ้ว สามเห็ดน้ำแดง เห็ดรวมมิตรผัดน้ำมันหอย โทรศัพท์ 089 718 7944, 087 376 3670

ร้านลาคัมปาณ ใกล้ตลาดสด ร้านอาหารน่ารัก ตกแต่งสไตล์ชนบทฝรั่งเศส รายการอาหารแนะนำ ได้แก่ ข้าวหมูอบซอสเห็ด ซุปผักโขม ปลาคั่วสมุนไพร นอกจากนี้มีชา กาแฟให้นั่งจิบในมุมสวย

ลืมบอกไปว่า A Cup of Love ที่น้องมหาวิทยาลัยตอบมาในประโยคแรก คือ ชื่อร้านกาแฟสุดฮิป แบบบริการตัวเอง ที่วัยรุ่นมักแวะมาถ่ายรูปเมื่อมาถึงวังน้ำเขียว ส่วนรสชาติกาแฟไม่ได้แวะชิมค่ะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 044 213 030, 044 213 666 อีเมล์ tatsima@tat.or.th

ศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา โทรศัพท์ 085 302 2785

วังน้ำเขียวฟาร์ม โทรศัพท์ 081 001 1555, 081 002 2555, 044 228 991 อีเมล์ wnkfarm@yahoo.co.th เว็บไซต์ www.wnkfarm.com

นิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว ติดต่อป้าอำไพ แช่มโชติ โทรศัพท์ 081 790 6780

ไร่องุ่นพันเก้า โทรศัพท์ 081 265 3271 อีเมล์ banpankao@hotmail.com

สวนลุงโชค โทรศัพท์ 084 355 4720, 081 725 1129 อีเมล์ loongchoke@yahoo.com

อ่าน วังน้ำเขียว ท่องเที่ยว ไร่ สวน แปลง ฟาร์ม(ช่วงที่ 1)

 

ขอบคุณ อสท.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *