Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น โดยมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ “Marble Temple” พระประธานของวัดจำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถเรียงรายด้วยพระพุทธรูปโบราณปางต่างๆ ๕๒ องค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่างๆ และต่างประเทศ หรือ www.watbencha.com

พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ ด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุน โดย จ้างนายช่างชาวฝรั่งเศสแห่งบริษัท ซุซ เซอร เฟรส ฟองเดอร์ หล่อมาจากกรุงปารีส ส่วนเงินที่เหลือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำไปใช้สร้างมหาวิทยาลัยขึ้น มีนามตามพระปรมาภิไธยว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งวิมานเมฆ เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๐ โดยมีเจ้าพระยายมราชหรือนายปั้น สุขุม เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ช่างออกแบบ วิศวกรและช่างเขียนภาพเป็นชาวอิตาเลียน ทั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองแขกเมือง และประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นอาคารหินอ่อนสองชั้น ตัวอาคารเป็นอาคารหินอ่อนแบบเรอเนอซองส์ของประเทศอิตาลีและแบบนีโอคลาสสิก ภายนอกประดับด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลางและมีโดมเล็กๆ โดยรอบ อีก ๖ โดม รวมทั้งสิ้นมี ๗ โดม การก่อสร้างดำเนินมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ผ่านมาสามปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อตามพระราชประสงค์จนเสร็จในปีพ.ศ. ๒๔๕๘ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้นแปดปี สิ้นค่าใช้จ่าย ๑๕ ล้านบาท ภายในพระที่นั่งบนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโกที่สวยงามมาก เป็นภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑-๖ แห่งราชวงศ์จักรี จำนวน ๖ ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของนายซี.รีโกลี และ ศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี เพดานโดมด้านทิศเหนือเป็นภาพรัชกาลที่ ๑ ครั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆ ซึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ทั้งสองข้าง แสดงนัยแห่งพระราชจรรยา ที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาโดยไม่รังเกียจกีดกัน เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานอภัยทาน และทรงเลิกประเพณีทาสในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง เพดานโดมทางทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ใต้โดมกลางเป็นโดมใหญ่ที่สุดมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงมีพระราชดำริก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ พระที่นั่งอนันตสมาคมใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีรัฐพิธีต่างๆ และเคยใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังจึงได้ย้ายการประชุมมายังรัฐสภาใหม่ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งนี้ เปิดทุกวันเวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. (ปิดขายบัตร ๑๕.๓๐ น. โปรดแต่งกายสุภาพ) ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท ติดต่อสอบถาม โทร. ๐ ๒๖๒๘ ๖๓๐๐ ต่อ ๕๑๑๙-๕๑๒๑ โทรสาร ๐ ๒๒๘๑ ๖๘๘๐, ๐ ๒๖๒๘ ๖๐๔๙ www.vimanmek.com (เข้าชมเป็นหมู่คณะทำจดหมายเรียน ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ คุณวัชรกิติ วัชโรทัย ล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ สัปดาห์)

พระที่นั่งวิมานเมฆ
พระที่นั่งวิมานเมฆ

พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เดิมตั้งอยู่บนเกาะสีชัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้ชะลอมาไว้ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ประกอบด้วยห้องต่างๆ ๘๑ ห้อง มีคลองล้อมรอบตัวอาคาร อาทิ คลองคาบแผ่นกระจก คลองรางเงิน อ่างหยก ภายในบริเวณร่มรื่น สวยงามมากนอกจากนั้นภายในเขตพระราชวังดุสิตยังมีสถานที่น่าสนใจ อื่นๆ อีก ได้แก่

พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ จุดเด่นที่สวยงามของพระที่นั่งองค์นี้ก็คือ ลายไม้ฉลุแบบสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบันปรับแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผลงาน หัตถกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภายในพิพิธภัณฑ์มีงานหัตถกรรมหลากหลายให้ชม อาทิ เครื่องเงิน คร่ำ ผ้าทอ ผ้าปัก ถมเงิน ถมทอง งานประดับด้วยปีกแมลงทับ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง เป็นที่รวบรวมรถม้าพระที่นั่งโบราณ ซึ่งใช้ใน สมัยรัชกาลที่ ๕ รถม้าแต่ละคันเคยร่วมในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ มีความสง่าสวยงาม และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

พระตำหนักสวนสี่ฤดู เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

นอกจากนี้ภายในเขตพระราชวังดุสิตยังมีอาคารที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ พิพิธภัณฑ์เครื่องราชูปโภค และพระสาทิสลักษณ์ พิพิธภัณฑ์ภาพพระราชพิธี พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. (ปิดขายบัตรเวลา ๑๕.๐๐ น. โปรดแต่งกายสุภาพ) อัตรา ค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ ผู้ใหญ่ ๗๕ บาท เด็ก ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๒๖๒๘ ๖๓๐๐ ต่อ ๕๑๑๙-๕๑๒๑, ๐ ๒๒๘๑ ๖๘๘๐, ๐ ๒๒๘๑ ๕๔๕๔, ๐ ๒๒๘๑ ๘๑๖๖ หรือ www.vimanmek.com

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองใน ในบริเวณเดียวกับพระที่นั่งวิมานเมฆ ช้างต้น คือ ช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณแบ่งเป็นสามประเภท คือ ๑.ช้างศึก ๒.ช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราราชลักษณะแต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน ๓.ช้างเผือกที่มีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์อย่างสมบูรณ์ พอในสมัยรัตนโกสินทร์กองทัพช้างหมดความสำคัญลง ช้างต้นจึงหมายถึง ช้างสำคัญและช้างเผือกซึ่งหากพบก็จะมีการประกอบพระราชพิธีรับสมโภช และขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น ด้วยยังถือตามพระราชประเพณี ที่ว่าช้างเผือกนั้นเป็นรัตนคู่บารมีขององค์พระมหากษัตริย์ ที่นี่จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องช้างเผือก การจับช้าง และ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกเป็นช้างต้นหรือช้างหลวงส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ โดยใช้อาคารตึกก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทย ๒ หลังซึ่งเคยเป็นโรงช้างต้น ในบริเวณพระราชวังดุสิตเป็นห้องจัดแสดง อาคารที่ ๑ จัดแสดงเกี่ยวกับกำเนิดช้างมงคล วิธีการจับช้าง และคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือก โดยนำโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดง อาทิ งาช้างเผือกในรัชกาลต่างๆ หนังช้างเผือกดอง สิ่งของเครื่องใช้ที่ทำมาจากส่วนต่างๆ ของช้างเผือก และอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับช้าง อาคารที่ ๒ จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างต้นและประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์นี้ เปิดทุกวัน ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๕ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๘๒ ๓๓๓๖ โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๑๔๒๗

พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร (สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เกียกกาย)  เป็นศูนย์กลางที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และมีกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความรู้เด็ก อาทิ ห้องดนตรีน้องน้อย จะมีเครื่องดนตรีหลากชนิดที่เด็กๆ จะได้ทดลองเล่นด้วยตนเอง โดยมีวิทยากรสาธิตและฝึกเด็กเล่นเครื่องดนตรี เช่น อิเลคโทน กีตาร์ กรับ ซอ เป็นต้น ห้องส่งโทรทัศน์จำาลอง เป็นห้องที่เด็กๆ จะเรียนรู้เทคโนโลยีการทำรายการโทรทัศน์ด้วยตนเอง ห้องคอมพิวเตอร์น้องน้อย ที่เด็กๆ จะได้ฝึกทักษะการพิมพ์ ท.ทหารอดทน เป็นการจำลองสภาพบรรยากาศการทหารในภาคสนามให้เด็กๆ นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมหมุนเวียนเป็นการหัดทำขนมและอาหารไทย การเรียนรู้วินัยจราจรบนท้องถนน ค่ายศิลปะที่จะสร้างเสริมจินตนาการให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการเรียนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ได้มีการฝึกทักษะต่างๆ เปิดทุกวัน เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ ค่าเข้าชม สมัครสมาชิกต่อปี เด็ก ๑๐ บาท ผู้ใหญ่ ๔๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๔๑ ๗๓๔๐-๑

 

พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ตั้งอยู่ในสมาคมหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย ถนนราชสีมา เขตดุสิต (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้แหล่งศึกษาค้นคว้า ตลอดจนเป็นสถานที่รวบรวมเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่มีคุณค่าในวงการหนังสือพิมพ์ไทยในอดีตถึงปัจจุบัน โดยจัดแสดงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัย ส่วนแรกนำเสนอเกี่ยวกับการทำหนังสือพิมพ์ในอดีต โดยจัดแสดงเป็นหุ่นขี้ผึ้งจำลองบรรยากาศสำนักงานหนังสือพิมพ์ การทำงานของนักข่าวในสมัยก่อน ถัดมาแสดงให้เห็นบทบาทของหนังสือพิมพ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และประวัติความเป็นมาของผู้มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ อาทิ หมอบรัดเลย์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, อิศรา อมันตกุล มุมหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผู้ทรงริเริ่มกิจการการพิมพ์ของคนไทยให้มีการพิมพ์ใบประกาศและเป็นบรรณาธิการในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย และพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์นักหนังสือพิมพ์ ทรงโปรดให้ออกหนังสือพิมพ์ เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี พิพิธภัณฑ์ยังมีส่วนนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ และมีบริการห้องสมุดสำหรับผู้สนใจค้นคว้าข้อมูลหลักฐาน ต่างๆ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชม วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๖๖๙ ๗๑๒๔-๖ โทรสาร ๐ ๒๒๔๑ ๕๙๒๙ หรือ www.thaipressasso.com

พิพิธภัณฑ์ผีเสื้อและฟอสซิล ตั้งอยู่ที่โรงเรียนเซนคาเบรียล ก่อตั้งโดย คุณภราดร อำนวยปิ่นรัตน์ ภายในจัดแสดงพันธุ์ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน ตลอดจนแมลงต่างๆ เช่น จักจั่น ตั๊กแตน ต่อ ผีเสื้อ และแมลง ตัวใหม่ของโลก ๑๐ ชนิดที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้ง เช่น ปาปีลิโอ โปลิก ตอนปิ่นรัตนี และ ซาตูเนีย ปิ่นรัตนัย นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงผีเสื้อ และแมลงตัวใหม่ของโลก (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม เรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนคาเบรียล) เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ติดต่อสอบถาม โทร. ๐ ๒๒๔๓ ๐๐๖๕ ต่อ ๒๑๐๙-๑๐ หรือ www.sg.ac.th

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *