Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

พระบรมมหาราชวังพระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้าง ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่ ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่ในบริเวณวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานกับทางตะวันตกมากขึ้น หมู่พระที่นั่งที่สำคัญมีดังนี้คือ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมชื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีการมงคลและบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท อยู่ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้เป็นที่ประทับทรงพระราชพาหนะ และประทับเปลื้องเครื่องในงานพระราชพิธีที่มีขบวนแห่

พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่บรรทม และทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานเครื่องอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และนอกจากนั้นยังเป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ ก่อนที่จะประดิษฐานพระบรมโกศใน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะชั้นพระราชาธิบดี หรือชั้นประมุขของรัฐ นอกจากนี้ยังมีหมู่พระที่นั่งสำคัญอื่นๆ เช่น พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฯลฯ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑-๙ ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถและระเบียงรอบวัด มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ ๘ องค์ พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทนครวัดจำลอง ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้านขวามือก่อนถึงทางเข้าพระราชวังส่วนใน จัดแสดงเหรียญกษาปณ์ และเงินตราที่ใช้ในประเทศไทย รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักฝ่ายใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๑๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนจัดแสดง โทร. ๐ ๒๒๒๒ ๕๘๖๔ ต่อ ๑๘

พระบรมมหาราชวังเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐ น.(ปิดขายบัตรเวลา ๑๕.๓๐ น.) ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม ๓๕๐ บาท (โปรดแต่งกายสุภาพ) ซึ่งรวมบัตรเข้าชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ ค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๖๒๓ ๕๕๐๐ ต่อ ๓๑๐๐ หรือ ๐ ๒๒๒๔ ๓๒๗๓ หรือ www.palaces.thai.net

สนามหลวง หรือ ทุ่งพระเมรุ เป็นลานโล่งอยู่ใกล้กับกำแพงพระราชวังหลวง และติดกับกำแพงวังหน้าด้านทิศตะวันออก เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ บริเวณนี้เป็นที่ทำนาของประชาชน และยังใช้เป็นที่ตั้งพระเมรุเผาศพของเจ้านาย จึงเรียกกันติดปากว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่านามนี้ไม่เป็นมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” และยกเลิกการทำนาในบริเวณนี้ สืบมาจนในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงป้อมปราการของวังหน้าด้านทิศตะวันออกลงและขยายพื้นที่สนามหลวงให้กว้างดังเช่นปัจจุบัน สนามหลวงมีเนื้อที่ ๗๘ ไร่ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ และเจ้านายชั้นสูง รวมทั้งเป็นที่ประกอบพระราชพิธีการกีฬา ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบสนามหลวง จำนวน ๓๖๕ ต้น อีกด้วย

ศาลหลักเมือง
ศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อจะสร้างบ้านเมืองต้องมีการฝังเสาหลักเมือง ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาติไทย รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ บรรจุดวงชะตาของกรุงเทพฯ ไว้ภายใน เสาหลักเมืองเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๕ เซนติเมตร สูง ๒๗ เซนติเมตร แต่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๔ แทนของเดิมที่ชำรุด เป็นไม้ชัยพฤกษ์สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว ตั้งอยู่ภายในอาคารยอดปรางค์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ภายในศาลหลักเมืองยังมีเทวรูปสำคัญ คือ เทพารักษ์ เจ้าพ่อหอกลอง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี

พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงบริเวณสนามด้านหน้าและด้านข้างของกระทรวงกลาโหม โดยเรียงลำดับปืนใหญ่ตามยุคสมัยของปืน เริ่มจากปลายกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ รวม ๔๐ กระบอก เปิดทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่ติดกับด้านเหนือสวนสราญรมย์ มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่เศษ เป็นวัดที่มีเนื้อที่เล็กมาก วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นวัดธรรมยุติ และเป็นไปตามโบราณประเพณีว่า ในราชธานีต้องมีวัดสำคัญ ๓ วัดเสมอ จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อสวนกาแฟหลวง ในรัชกาลที่ ๓ สร้างวัดเล็กๆ ขึ้นวัดหนึ่ง พระราชทานนามว่า “วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม” แล้วต่อมาทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้ คือ พระวิหารหลวงซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาฝนังเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพสุริยุปราคา

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณชั้น ๒ และชั้น ๓ อาคารราชวัลลภ ภายในกรมการรักษาดินแดน ตรงข้ามวัดโพธิ์ ถนนเจริญกรุง จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๖ เช่น ชุดฉลองพระองค์ พระมาลา รองพระบาท อาวุธต่างๆ ในสมัยนั้น และประวัติความเป็นมาของกองกิจการเสือป่าซึ่งทรงก่อตั้งและพัฒนามาเป็นนักศึกษาวิชาทหารรักษาดินแดน ในปัจจุบัน

ภายในกรมการรักษาดินแดนยังสามารถเยี่ยมชมศาลเจ้าพ่อหอกลอง พิพิธภัณฑ์เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ๐๙.๐๐-๑๕.๓๐ น. โทร. ๐ ๒๒๒๒ ๔๘๗๐, ๐ ๒๒๒๑ ๙๑๓๒ และยังมีสนามยิงปืน (เปิดทุกวัน ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. ปิดช่วงวันปีใหม่ วันสงกรานต์) สอบถามรายละเอียดสนามยิงปืน โทร. ๐ ๒๒๒๑ ๑๙๗๖ หรือ www.tdd.mi.th

พระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกว่า วัดโพธิ์ อยู่ที่ถนนมหาราช ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม วัดนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ทั้งหมด และได้นำเอาตำราวิชาการด้านต่างๆ มาจารึกไว้โดยรอบ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ถือได้ว่าวัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ที่วัดโพธิ์ ยังมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ยาว ๔๖ เมตร สูง ๑๕ เมตร ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้าง มีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล ๑๐๘ ประการ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย

Museum of Siam (มิวเซียมออฟสยาม) พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ตั้งอยู่ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง บริเวณอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม ตัวอาคารหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จากคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมถ์

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านชาติพันธุ์วิทยา มานุษยวิทยา และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างสำนึกรักและเข้าใจในประวัติความเป็นมาของผู้คน บ้านเมือง วัฒนธรรม และท้องถิ่นของตน ตลอดจนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้วิธีการจัดแสดงแบบใหม่ผ่านสื่อเครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัย ทำให้ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติไทยได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ปิดวันจันทร์ ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐๐ บาท ชาวต่างชาติ ๓๐๐ บาท (หลัง ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น.) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๖๒๒ ๒๕๙๙ โทรสาร ๐ ๒๒๒๕ ๒๗๗๕ หรือ www.ndmi.or.th

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุตรงข้ามกับสนามหลวง ใกล้ประตูทางเข้าพระบรมมหาราชวัง ก่อตั้งขึ้น เพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาเลียน ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย โดยจัดบรรยากาศให้คล้ายคลึงกับสมัยที่ท่านเคยทำงานอยู่ รวมทั้งมีผลงานของศิลปินต่างๆ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านรุ่นแรกๆ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๒๓ ๖๑๖๒

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมสนามหลวงถนนหน้าพระธาตุ (ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นพระอารามหลวง ฝ่ายมหานิกายชั้นเอก เดิมชื่อว่า วัดสลัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างขึ้นใหม่พร้อมกับพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามว่า “วัดนิพพานาราม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์” เคยใช้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎก หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเปลี่ยนนามพระอารามใหม่ว่า “วัดมหาธาตุ” ส่วนคำว่า “ยุวราชรังสฤษดิ์” มาเพิ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์แล้ว ภายในวัดมีสิ่งสำคัญคือ พระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป วิหารโพธิ์ลังกาหรือวิหารน้อย ต้นศรีมหาโพธิ์ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ชื่อ “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดิมสถานที่นี้เป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง มีพระที่นั่งที่สำาคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า “มิวเซี่ยม” แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วนกลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีวิทยาลัยช่างศิลป วิทยาลัยนาฏศิลป และโรงละครแห่งชาติ อยู่ในบริเวณเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจนอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีวัดบวรสถานสุทธาวาส ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้าใกล้กับวิทยาลัยช่างศิลป วัดนี้เรียกกันว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และชาติเพื่อนบ้าน พิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี ๒๕๔๕ รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากผลงาน โครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้รู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชุมชนของตนเพื่อการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๔๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ หรือ www.finearts.go.th

อนุสาวรีย์ทหารอาสา ตั้งอยู่ ณ มุมสนามหลวงด้านเหนือ เป็นอนุสรณ์แก่ ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๗ ประเทศไทยได้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศสงครามกับเยอรมัน และได้ส่งทหารอาสาไปในสมรภูมิในยุโรป เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้เดินทางกลับ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ และได้นำอัฐิทหารอาสาที่เสียชีวิตมาบรรจุ ณ อนุสาวรีย์นี้ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒

สวนสาธารณะสันติชัยปราการ
สวนสาธารณะสันติชัยปราการ

พระที่นั่งและสวนสาธารณะสันติชัยปราการ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนพระอาทิตย์ รัฐบาลและประชาชนได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ณ ป้อมพระสุเมรุ บรรยากาศรื่นรมย์ กว้างขวาง มองเห็นทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระราม ๘ มีประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศย่านบางลำพู นิยมมานั่งเล่นพักผ่อน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป อยู่ข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนเจ้าฟ้า อดีตเคยเป็นโรงผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทย ปัจจุบันเป็นศูนย์รวบรวม และจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีไทยโบราณและแบบสากล ร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ติดตั้งแสดงอยู่ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๘๑ ๒๒๒๔ และ ๐ ๒๒๘๒ ๒๖๓๙-๔๐

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสา ตั้งอยู่ที่กำแพงวัดทั้ง ๘ ทิศ บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ (สมัยรัชกาลที่ ๕) เสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสราชวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถ ที่มีลายไทยลงรักประดับมุกเป็นรูปดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ สวยงามมาก

วัดสุทัศนเทพวราราม
วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชประสงค์จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่า กับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ได้พระราชทานนามไว้ว่า “วัดมหาสุทธาวาส” แต่สร้างยังมิทันสำเร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินงานต่อ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดสุทัศนไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่นๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (คือต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา ๗ ชนิด) แทนที่อยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัด ที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เสาชิงช้า
เสาชิงช้า

เสาชิงช้า ศาสนาพราหมณ์มีความเกี่ยวพันกับชีวิตชาวไทยอยู่มาก เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จแล้วจึงมีการสร้างโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า เดิม ตั้งอยู่ริมถนนบำารุงเมือง ทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๗ และย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ บริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ มีการซ่อมแซมใหม่เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ มีส่วนสูงทั้งหมด ๒๑ เมตร เสาชิงช้านี้ใช้ประกอบพิธีตรียัมพวายหรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งจัดให้มีในเดือนยี่ของทุกๆ ปี และยกเลิกไปเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๘

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อยู่ที่ถนนราชดำเนิน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ตรงกลางประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ มีความสูง ๓ เมตร หนัก ๔ ตัน

วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ที่ถนนพระสุเมรุ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นแม่กองก่อสร้าง เคยเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔, ๖, ๗ และ ๙ เมื่อคราวทรงผนวช สิ่งที่น่าชมในวัดนี้ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ พระรูปสมเด็จพระสมณเจ้า ๒ องค์ บริเวณตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับ มีพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้รับราชอาคันตุกะและศาลาราย ๓ หลัง

วัดราชนัดดาราม
วัดราชนัดดาราม

วัดเทพธิดาราม อยู่ที่ถนนมหาไชย เดิมชื่อวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง วัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ เสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ สถาปัตยกรรมสำคัญคือ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ บุษบกที่รองรับพระประธานภายในโบสถ์ ประดิษฐ์อย่างสวยงาม และที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์แบบอย่างในรัชกาลที่ ๓ นอกจากนี้ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๕ วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่งเรียกว่า “บ้านกวี” เปิด เป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๒๒ ๕๐๖๗

พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ตั้งอยู่ภายในสวนรมณีนาถ ด้านถนนมหาไชย เขตสำราญราษฎร์ ในอาคารซึ่งเคยเป็นเรือนจำแห่งแรกของไทย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้บางส่วนจะได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ แต่ยังคงสภาพของซุ้มประตูกำแพงที่สูงใหญ่ ป้อมยามภายในจัดแสดงประวัติความเป็นมาของราชทัณฑ์ไทย ห้องควบคุมผู้ต้องขัง เรือนนอนผู้ต้องขัง และห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ในสภาพเดิม เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๒๖ ๑๗๐๔ โทรสาร ๐ ๒๕๒๖ ๙๐๑๐ (เข้าชมเป็นหมู่คณะทำจดหมายเรียน อธิบดีกรมราชทัณฑ์อย่างน้อย ๑ สัปดาห์) www.correct.go.th/demo/museum/museum1.html

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่ อาคารอนุรักษ์กรมโยธาธิการ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศเขตพระนคร ตึกหลังนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๗ หาดูได้ยาก รวมทั้งจัดแสดงภาพถ่ายเอกสาร และพระราชประวัติของรัชกาลที่ ๗ องค์ปฐมกษัตริย์ระบบประชาธิปไตยของไทย เป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกที่สมบูรณ์แบบ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการอธิบายและนำชม ภายในจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การสืบราชสันตติวงศ์ พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชกรณียกิจ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เครื่องราชภัณฑ์ และพระราชนิยมส่วนพระองค์ รวมทั้งพระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ และเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีศาลาเฉลิมกรุงจำลอง จัดฉายภาพยนตร์เก่าให้ชม พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๔๐ บาท วันหยุดราชการไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๓๔๑๓-๑๔, ๐ ๒๒๘๐ ๓๔๔๕-๔๖ หรือ www.kpi.ac.th

พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ในกองบัญชาการกองทัพบก (The Royal Thai Army Headquarters) ถนนราชดำเนินนอก เป็นอาคารเก่าสร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ภายในจัดแสดงวิวัฒนาการ ของกองทัพไทย มีห้องธงและเครื่องมือเครื่องใช้ทางทหาร (Flag and Military Equipment room) ห้องอาวุธ (Weapon room) ห้องเครื่องแบบ เครื่องหมายทหาร (Uniform and Military Insignia room) และห้องจำลอง เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทหาร (Army History room) เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๙๗ ๗๓๘๐, ๐ ๒๒๙๗ ๘๑๒๑ โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๒๓๒๐ http://library.rta.mi.th/MUSEUM/index.htm กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม (เรียน เจ้ากรมยุทธการทหารบกอย่างน้อย ๑ สัปดาห์)

วัดอินทรวิหาร ตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม ถนนวิสุทธิกษัตริย์ เขตพระนคร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๕ เดิมชื่อวัดบางขุนพรหม ซุ้มประตูทางเข้าวัด ๓ ซุ้ม เป็นศิลปะทรงไทย เรือนยอดตรงกลางเป็นรูปพระมหาบุรุษมหาภิเนษกรมณ์ ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ด้านขวาเป็นรูปพระอินทร์ ด้านซ้ายเป็นรูปพระพรหม สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ “พระพุทธศรีอริยเมตไตรย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูง ๓๒ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ๒๔ นิ้ว สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดเกศองค์หลวงพ่อโตบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นภาพชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆของสมเด็จฯ ภาพต้นไม้ ด้านล่างพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑ์ ของเก่า ศาลาการเปรียญประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นอกจากนี้ยังมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หอระฆังหลังคาทรงจัตุรมุข พระสังกัจจายน์ พระแม่กวนอิมอวโลกิเตศวร พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ต้นโพธิ์ไทย โพธิ์ลังกาและโพธิ์อินเดีย ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในวังบางขุนพรหม บนพื้นที่ ๓๐ ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในบริเวณเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เขตพระนคร โดยพระตำหนัก แห่งนี้นับเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดในบรรดาศิลปกรรมแบบเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างโดยใช้เงินพระคลังข้างที่ เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๓๓ ในพระองค์ และพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรีพระอัครราชเทวี หลังปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระตำหนักบางขุนพรหมถูกใช้เป็นสถานที่ราชการอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาใช้เป็นสถานที่ทำ การจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม ๑๔ ห้อง แบ่งเป็น ๒ ชั้น ดังนี้

ชั้นหนึ่ง ได้แก่ ห้องเงินตราโบราณ ห้องพดด้วง ห้องกษาปณ์ไทย ห้องธนบัตรไทย ห้องทองตรา ห้องเงินตราต่างประเทศ

ชั้นสอง ได้แก่ ห้อง ๖๐ ปีธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องงานพิมพ์ธนบัตร ห้องบริพัตร ห้องประชุมเล็ก ห้องสีชมพู ห้องสีน้ำเงิน ห้องม้าสน ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. และ ๑๓.๓๐-๑๖.๐๐ น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๘๓ ๕๒๘๖ และ ๐ ๒๒๘๓ ๖๗๒๓

วังเทวะเวสม์ ตั้งอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อดีตเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นผู้คิดทำปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติที่เรียกว่า เทวะประติทิน ซึ่งในเวลาต่อมาได้โปรดให้ใช้เป็นประเพณีตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นแบบปฏิทินที่เราใช้กันทุกวันนี้ วังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างตำหนักที่ประทับขึ้น บนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการใช้เป็นที่ประทับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ จากนั้นยังใช้เป็นที่ประทับของหม่อม พระโอรส พระธิดา จนเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้เป็นที่ตั้งของกระทรวงสาธารณะสุข และเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น ภายในจัดแสดงประวัติขององค์เจ้าตำหนักและห้องแสดงการบูรณะในเชิงสถาปนิกของพระตำหนักต่างๆที่ได้รับการซ่อมแซม ชั้นที่ ๒ ใช้รับอาคันตุกะสำคัญเหมือนในสมัยอดีต ชั้นที่ ๓ และ ๔ เป็นสำนักงานพิพิธภัณฑ์ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. และ ๑๓.๓๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดธนาคาร ไม่เสียค่าเข้าชม (โปรดแต่งกายสุภาพ) สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๘๓ ๕๒๘๖, ๐ ๒๒๘๓ ๖๗๒๓ กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม (เรียน ผู้อำานวยการพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างน้อย ๑ สัปดาห์)

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หั
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หั

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ฝั่งพระนคร สร้างขึ้นเมื่อสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปี เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ และผู้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย ประสูติ ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ เสด็จขึ้นเสวยราชย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ อยู่ในราชสมบัตินาน ๒๗ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒

วัดราชบุรณะ ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธฝั่งกรุงเทพฯ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดเลียบ สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายโดยพ่อค้าชาวจีน วัดนี้เป็นหนึ่งในจำานวน วัดเอกประจำเมือง ๓ วัด ได้แก่ วัดราชบุรณะ วัดราชประดิษฐ์ และ วัดมหาธาตุ วัดนี้ได้รับการบูรณะมาตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๗ เว้นรัชกาลที่ ๖ รัชกาลเดียว ในคราวสงครามมหาเอเซียบูรพา สถานที่สำคัญๆ ของวัดถูกระเบิดพังทลาย โดยเฉพาะพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่งถูกระเบิดทำลายจนหมด ต่อมาจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งอยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถนนตรีเพชร อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นอาคารเรียนที่เรียกกันว่า ตึกยาว ชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวการศึกษาของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและบูรพคณาจารย์และศิษย์เก่า ผู้สร้างชื่อเสียงและทำ ประโยชน์แก่ประเทศชาติ และกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียน ชั้นบนจัดแสดงเรื่องการศึกษาแห่งชาติ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามราย ละเอียด โทร. ๐ ๒๒๒๕ ๕๖๐๕-๘ โทรสาร ๐ ๒๒๒๔ ๘๕๕๔ หรือ www.sk.ac.th กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม (เรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *