Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

ประตูเมือภูเก็ตประตูเมือภูเก็ต
ประตูเมือภูเก็ต
ประตูเมือภูเก็ต

จุดชมวิวสะพานสารสิน เป็นประตูสู่จังหวัดภูเก็ต เชื่อมระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวสามารถแวะสัมผัสความงามของท้องทะเลอันดามันที่สวยงามได้อีกด้วยประตูเมืองภูเก็ต (Gate Way) เป็นอาคารสมัยใหม่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบ ชิโน-โปรตุกีส สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ ๒๕ ไร่ บริเวณท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว ใกล้กับสะพานท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร บริเวณทางแยกเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต ใช้เป็นสถานที่ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนจังหวัดภูเก็ต ภายในมีศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ห้องสมุด ห้องประชุมสัมมนาและโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

ภายนอกอาคารได้จัดภูมิทัศน์ด้วยการสร้างเสาศิลาอีก ๒๙ ต้น โดยมีนัยว่า เลข ๒ คือ ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีของชาวภูเก็ต ส่วนเลข ๙ มีนัยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมทั้งมีเรื่องราวของจังหวัดภูเก็ต ระบุไว้ รวมถึงประติมากรรม “เต่ากับไข่” ซึ่งเป็นงานศิลป์เล่าเรื่องหาดไม้ขาว สถานที่วางไข่ของเต่ามะเฟือง

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ๑๒ กิโลเมตร เป็นอนุสาวรีย์ที่ชาวภูเก็ตร่วมกันสร้างขึ้น เมื่อปี ๒๕๐๙ เพื่อเชิดชูเกียรติวีรสตรีผู้กล้าหาญแห่งเมืองถลาง ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๐ ได้นำรูปหล่อขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐาน เนื่องจากเป็นวันเดียวกับที่ข้าศึกแตกทัพถอยหนีไปจากเมืองถลางเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ดังเรื่องราวที่บันทึกในประวัติศาสตร์ของไทย

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร

“ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ข้าศึกยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระบี่ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรีจึงยกมาช่วยไม่ทัน ข้าศึกยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก ได้คิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น ๒ ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษ จนหมดเสบียงจึงเลิกทัพกลับไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสองเป็นท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา”

บ้านท้าวเทพกระษัตรี ตั้งอยู่ที่บ้านเคียน ตำบลเทพกระษัตรี จากถนนเทพกระษัตรี หลักกิโลเมตรที่ ๑๙.๓ แยกทางเข้าบ้านเหรียงไป ๒ กิโลเมตร มีการสืบค้นจนได้หลักฐานแน่ชัดว่า สถานที่แห่งนี้ คือ บ้านเดิมของท้าวเทพกระษัตรี จึงได้จัดทำแผ่นป้ายบอกเล่าไว้ภายในบริเวณใกล้เคียง มีวัดม่วงโกมารภัจจ์ เป็นที่ฝึกซ้อมรบไพร่พลคราวศึกถลาง แนวคูเมืองถลาง และที่ตั้งค่ายของข้าศึก

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ห่างจากอนุสาวรีย์ไปทางถนนสายป่าคลอก ๒๐๐ เมตร ตัวอาคาร ๒ หลังได้รับการออกแบบให้เป็นบ้านท้องถิ่นของชาวภูเก็ต อาคารหลังแรกจัดแสดงเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันตก สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เมื่ออารยธรรมอินเดียเผยแพร่เข้ามา ประวัติและวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุกและสวนยางพารา ศิลปะพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู อาคารหลังที่สองจัดแสดงฉากและเรื่องราวของศึกถลาง ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีที่น่าสนใจของชาวจีนในภูเก็ต รวมทั้งความเป็นมาและถิ่นอาศัยของชาวเลในภูเก็ต สอบถามรายละเอียดติดต่อ โทร. ๐ ๗๖๓๑ ๑๔๒๖ ศิลปากรที่ ๑๕ จังหวัดภูเก็ต ๐ ๗๖๓๑ ๑๐๒๕ ค่าเข้าชม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท เปิดบริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.

วัดพระทอง (วัดพระผุด) อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ๒๑ กิโลเมตร ตามถนนเทพกระษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลาง ทางด้านขวาจะมีทางแยกเข้าวัดพระทอง วัดนี้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุงยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. ๒๓๒๘ ทหารพยายามขุดพระผุดเพื่อนำไปยังประเทศของตน แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองมาหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

วัดพระทอง (วัดพระผุด)
วัดพระทอง (วัดพระผุด)

นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของชาวภูเก็ต เช่น “จังซุ่ย” เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีนที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น.

วัดพระนางสร้าง อยู่ห่างจากตัวเมือง ๒๐ กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนเทพกระษัตรี ถึงสี่แยกอำเภอถลาง ตัววัดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ เนื่องจากเป็นวัดเก่าจึงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์เมืองถลางที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพราะเคยเป็นค่ายสู้รบกับข้าศึก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ภายในอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดีบุก ๓ องค์ เรียกว่า “พระในพุง” หรือ “พระสามกษัตริย์” ซึ่งอยู่ในพระอุทร (ท้อง) ของพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

วัดม่วงโกมารภัจจ์ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านเหรียง ตำบลเทพกระษัตรี เป็นวัดร้างอยู่ในความดูแลของวัดพระนางสร้าง มีพระพุทธรูปปูนปั้นครึ่งองค์ โดยชาวบ้านเชื่อว่าวิญญาณของพระภิกษุสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมรณภาพที่วัดแห่งนี้ยังคงสถิตคอยดูแลปกป้องวัด และมีวิญญาณของปู่ทองสถิตอยู่ที่พระพุทธรูปครึ่งองค์นี้ด้วย

โดยชาวบ้านยังมีความเชื่ออีกว่า วัดม่วงโกมารภัจจ์ เคยเป็นวัดมาก่อน สมัยท้าวเทพกระษัตรี (ท่านผู้หญิงจัน) และท้าวศรีสุนทร (คุณมุก) ก่อนสงครามศึกถลาง พ.ศ. ๒๓๒๘ เจ้าเมืองถลางได้ใช้ลานวัดม่วงโกมารภัจจ์ เป็นสถานที่ฝึกซ้อมทหาร ฝึกการเคี่ยวน้ำมัน ลงยันต์ทหาร ฝึกซ้อมรำกริช ฝึกผสมดินปืน นอกจากนี้บริเวณวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมณีถลาง (นามพระราชทาน) ซึ่งหล่อด้วยดีบุกผสม ขนาดหน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว ปางคันธราชหรือปางประทานฝน ประทับอยู่นอกวิหารใต้ต้นโพธิ์ สมเด็จฯพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารเสด็จเป็นองค์ประธานเทดีบุกหล่อ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ณ มงคลฤกษ์ ๑๐.๕๐ น.

สวนน้ำ สแปลช จังเกิ้ล ที่ตั้ง ๖๕ หมู่ ๔ ไม้ขาวซอย ๔ ตำบลไม้ข้าว อำเภอถลาง สวนน้ำแห่งนี้มีเครื่องเล่นขนาดยักษ์ที่มีสีสันสดใส ออกแบบโดยผู้สร้าง “Disneyland” และ “Sea World” เครื่องเล่นที่น่าสนใจ เช่น บุมเมอแรง, เครื่องเล่นจำลองคลื่น เป็นต้น แต่ละโซนของสวนน้ำตกแต่งหลายแบบ ได้แก่ แบบแอฟริกา อินคา มายา เอเชีย ตุรกี ยุโรป อเมริกาเหนือ และ ขั้วโลกเหนือ โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. – ๑๘.๐๐ น. อัตราค่าเข้า ผู้ใหญ่ ๑,๒๙๕ บาท เด็ก ๖๕๐ บาท (๕-๑๒ ปี ) ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ใช้บริการฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๗๖๓๗ ๒๑๑๑ หรือ www.splashjunglewaterpark.com

สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตไปอำเภอถลาง เมื่อถึงสี่แยกในเขตเมืองถลางซึ่งอยู่ห่างจากตัวภูเก็ต ๑๘ กิโลเมตร แยกไปทางขวามืออีก ๒ กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานสัตว์ป่า เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๒ มีเนื้อที่ ๑๓,๙๒๕ ไร่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ พบสัตว์ป่าหลายชนิด และมีพันธุ์ไม้หายากคือ “ปาล์มหลังขาว” ซึ่งพบเป็นแห่งแรก มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้

น้ำตกโตนไทร อยู่ห่างจากตัวเมือง ๒๒ กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกระษัตรีถึงสี่แยกอำเภอถลางแล้วเลี้ยวขวาไป ๓ กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนไทร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก น้ำจะไหลแรงในช่วงฤดูฝน มีต้นไม้ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน มีเส้นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติ ๓ เส้นทาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. ๐ ๗๖๓๑ ๑๙๙๘

น้ำตกบางแป อยู่ห่างจากน้ำตกโตนไทร ๒ ชั่วโมง โดยเส้นทางเท้า แต่หากไปทางรถยนต์ไปจากตัวเมืองถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรแล้วเลี้ยวขวาไปทางตำบลป่าคลอก ๗  กิโลเมตร หรือนั่งรถสองแถวไม้ สายภูเก็ต-บางโรงมาลงที่ปากทาง น้ำตกบางแปเป็นน้ำตกขนาดเล็ก รอบ ๆ เป็นสวนรุกขชาติร่มรื่น มีเส้นทางเดินศึกษาน้ำตกบางแป-น้ำตกโตนไทร ระยะทาง ๔ กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีป้ายสื่อความหมาย จึงไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง อนุญาตให้กางเต็นท์พักแรมได้ แต่ต้องนำเต็นท์มาเอง นอกจากนั้นบริเวณน้ำตกบางแปยังมี “โครงการคืนชะนีสู่ป่า (Gibbon Rehabilitation Project) ” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของชะนีที่ถูกจับมาเลี้ยงให้พร้อมที่จะกลับคืนสู่ป่าต่อไป สอบถามรายละเอียดโครงการได้ที่ โทร. ๐ ๗๖๒๖ ๐๔๙๑ หรือ www.wildlifeofthailand.org สำนักงานกรุงเทพ ฯ ติดต่อ มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ๖๕/๑ ชั้น ๓ อาคารปรีดีพนมยงค์ ถนนสุขุมวิท ๕๕ แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ โทร. ๐ ๒๗๑๒ ๙๗๑๕, ๐ ๒๗๑๒ ๙๕๑๕ ผู้ที่ประสงค์จะเข้าพักแรมที่สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว หรือขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสถานีฯ  ๒๕๔ หมู่ ๒ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๑๐ โทร. ๐ ๗๖๓๑ ๑๙๙๘, ๐๘ ๖๖๘๙ ๗๐๔๐

หาดสุรินทร์
หาดสุรินทร์

หาดสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ๒๔ กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ เมื่อถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรแล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๒ กิโลเมตร เป็นหาดที่อยู่ริมเชิงเขา บริเวณเหนือหาดมีต้นสนทะเลต้นใหญ่ ๆ เรียงรายอยู่ และบริเวณเหนือหาดด้านขวามือเป็นสนามกอล์ฟ หาดสุรินทร์ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ ในช่วงฤดูมรสุม เนื่องจากมีคลื่นลมแรง

แหลมสิงห์ จากหาดสุรินทร์ ๑ กิโลเมตร มีทางแยกซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคลเข้าสู่หาดแหลมสิงห์ อาจจะขออนุญาตผ่านถนนส่วนบุคคล หรือเดินเลี่ยงไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางเดินไปตามลาดเขาลงสู่ชายหาด หาดทรายแหลมสิงห์เป็นหาดเล็กๆ ทรายขาวสะอาด ทางซ้ายมือของหาดเป็นแหลมเล็ก ๆ ที่มีโขดหินสวยงาม เรียกว่า แหลมสิงห์

อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (หาดในยาง) ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔ อยู่ห่างจากตัวเมือง ๓๐ กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนเทพกระษัตรี ผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ตรงไปเมื่อถึงหลักกิโลเมตร ๒๑-๒๒ มีทางแยกด้านซ้ายเข้าไป ๑๐ กิโลเมตร หรือจะไปทางแยกเข้าท่าอากาศยานแล้วเลี้ยวซ้าย ๒ กิโลเมตร อุทยานฯ ครอบคลุมเนื้อที่ ๕๖,๒๕๐ ไร่ เป็นหาดทรายที่มีความยาวต่อเนื่องกันถึง ๑๓ กิโลเมตร

หาดในทอน ใช้เส้นทางไปอุทยานฯ เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตร ๒๑-๒๒ เมื่อถึงทางแยกเข้าบ้านสาคู เลี้ยวซ้ายไป ๓ กิโลเมตร หาดในทอน เป็นเวิ้งอ่าวโค้งจากตัวเกาะ เป็นที่กำบังคลื่นลมได้อย่างดี และเป็นหาดที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับเล่นน้ำ

หาดในยาง
หาดในยาง

หาดในยาง เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นหาดที่มีสวนสนร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนและเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังมีแนวปะการังขนาดใหญ่เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะเต่าทะเลซึ่งจะขึ้นมาวางไข่บนหาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ แต่ปัจจุบันเต่าทะเลมีจำนวนลดลงมากจนแทบจะไม่เห็นเต่าขึ้นมาวางไข่อีกเลย

หาดไม้ขาว ใช้เส้นทางถนนเทพกระษัตรีผ่านทางแยกเข้าท่าอากาศยานภูเก็ตตรงไปทางสะพานสารสินจะมีทางแยกด้านซ้ายมือ มีป้ายบอกทางเข้าหาดไม้ขาว เลี้ยวซ้ายไป ๓.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงหาดไม้ขาว ซึ่งเป็นหาดที่มีจั๊กจั่นทะเลและเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เช่นเดียวกับหาดในยาง

หาดทรายแก้วแก้ว เป็นหาดทรายขาวทอดยาวขนานกับทิวต้นสน อยู่ถัดจากหาดไม้ขาวไปจนถึงสะพานสารสิน เป็นหาดที่อยู่เหนือสุดของเกาะภูเก็ต

ป่าชายเลน ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณท่าฉัตรไชย มีเนื้อที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่ ไม้ยืนต้นเด่นๆ ที่พบในพื้นที่ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โปรงแดง แสมดำ เล็บมือนาง ถั่วขาว และพบสัตว์ในป่าชายเลนอีกนานาชนิด มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมป้ายให้ความรู้เรื่องป่าชายเลนตลอดเส้นทาง เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ และให้ความรู้ไปด้วยในขณะเดียวกันอุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีบังกะโล จำนวน ๑๒ ห้อง ราคาหลังละ ๑,๐๐๐ บาท และเต็นท์ ราคา ๒๒๕ บาท/หลัง/คืน นอนได้ ๓ คน หากนำเต็นท์มาเองเสียค่าธรรมเนียมเช่าพื้นที่คนละ ๓๐ บาท/คืน อัตราค่าบริการสำหรับบุคคลที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ผู้ใหญ่ ชาวไทย ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท สอบถามข้อมูลได้ที่ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ๘๙/๑ หมู่ ๑ หาดในยาง ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๔๐ โทร. ๐ ๗๖๓๒ ๘๒๒๖, ๐ ๗๖๓๒ ๗๑๕๒ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ หรือ www.dnp.go.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *