Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 1

หมู่บ้านญี่ปุ่น
หมู่บ้านญี่ปุ่น

ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา (ATC) อยู่บริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า จัดตั้งขึ้นตามแผนแม่บทการอนุรักษ์พัฒนา และฟื้นฟูนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (กรมศิลปากร) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงศาลากลางเก่าของจังหวัดนครศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นศูนย์บริการด้านการท่องเที่ยว โดยภายนอกยังคงรูปแบบเดิมไว้ ซึ่งหน้าอาคารยังเป็นรูปปั้นกษัตริย์และวีรกษัตรีย์ สำคัญสมัยอยุธยา ๖ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในอาคารศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา มีการให้บริกาดังนี้

ชั้นที่ ๑ ด้านหน้าปีกขวา เป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. ๐ ๓๕๓๒ ๒๗๓๐-๑

ชั้นที่ ๑ ด้านหน้าปีกซ้าย เป็นห้องแสดงผลงานศิลปินชองหอศิลป์แห่งชาติพระนครศรีอยุธยา

ชั้นที่ ๑ ห้องโถงกลาง เป็นพื้นที่โล่งสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ วาดศิลป์วันอาทิตย์ วันเด็กแห่งชาติ จัดนิทรรศการ และอื่นๆ

ชั้นที่ ๒ เป็นห้องนิทรรศการด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำเสนอผ่านระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย อาทิ เช่น Computer Touch Screen / Ghost Box โดยแบ่งเป็น ๕ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑ เป็นการนำเสนอเรื่องราวซึ่งแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรม ส่วนที่ ๒ เป็นการ นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนที่ ๓ เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นตามความเชื่อทางศาสนาเรื่องไตรภูมิและจักรวาลวิทยา ส่วนที่ ๔ เป็นการแนะนำวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอยุธยา ส่วนที่ ๕ สรุปการชมนิทรรศการด้วยการชมวิดีทัศน์ ชุดชีวิตชีวา นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ฉายวิดีทัศน์ เปิดทุกวันเว้นวันพุธ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. ๐ ๓๕๓๒ ๔๑๗๗

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นมาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน ๙๙๙ ล้านเยน (๑๗๐ ล้านบาท) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาพรยืนนานมาครบ ๑๐๐ ปี

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแห่งนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนอาคารหลัก ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน และ อีกส่วนคือส่วนอาคารผนวก ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ของศูนย์แห่งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นคือ การพยายามสร้างภาพชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched based Reconstruction) โดยการนำเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาใช้จัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น ๕ หัวข้อ คือ อยุธยาในฐานะราชธานี อยุธยาในฐานะเมืองท่า อยุธยาในฐานะของศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและการปกครอง ความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติและชีวิตชาวบ้านไทยสมัยก่อน ทั้งนี้นิทรรศการทุกอย่างที่นำมาแสดงในศูนย์ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการมาแล้ว ศูนย์แห่งนี้เปิดทำการทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชมสำหรับเด็ก นักเรียนและนักศึกษา ในเครื่องแบบ ๕ บาท ประชาชนทั่วไป ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๕๒๔ ๕๑๒๓-๔ นอกจากนี้ ด้านหลังศูนย์ประดิษฐานพระราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาคารท้องฟ้าจำลอง เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น. มีบรรยายวันละ ๒ รอบ ๑๑.๐๐ น.และ ๑๔.๐๐ น.ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๓๕๓๒ ๒๐๗๖-๙ ต่อ ๕๐๑๑

สถาบันอยุธยาศึกษา ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคารเรือนไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาค้นคว้า วิจัย รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ในด้านอยุธยาศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการจัดแสดงนิทรรศการบนเรือนไทย ๕ หลัง แบ่งออกเป็น ห้องอยุธยาศึกษา ห้องภูมิปัญญาท้องถิ่น ห้องมรดกทางด้านศิลปกรรม ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ห้องพิธีการ และนอกจากนี้ยังมีการจัดแสดง สาธิต จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สถาบันอยุธยาศึกษาเปิดทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๓๐-๑๕.๓๐ น. (หมำยเหตุ นักท่องเที่ยวประสงค์ชมการจัดแสดง “อยุธยายามค่ำ” ณ เรือนไทยสถาบันอยุธยาศึกษา ต้องติดต่อล่วงหน้าเป็นกรณีพิเศษ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อาคารเรือนไทย สถาบันอยุธยาศึกษา โทร. ๐ ๓๕๒๔ ๑๔๐๗, ๐๘ ๙๑๑๕ ๕๑๘๑

หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียน เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายใน กรุงศรีอยุธยามีจำนวนมากขึ้น ทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเดินเรือออกไปค้าขายกับชาวต่างชาติในบรรดาพวกที่ไปค้าขายมีพวกหนึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินไทยมีพระบรมราชานุญาตให้ชาวญี่ปุ่น มาตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยารอบนอกเกาะเมืองเหมือนชาติอื่นๆ นับตั้งแต่นั้นมาก็มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยามากขึ้น โดยมีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตน หัวหน้าชาวญี่ปุ่นในขณะนั้นคือ นากามาซะ ยามาดะ เป็นผู้มีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จนได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุขรับราชการ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจนสิ้นชีวิต ปัจจุบันสมาคมไทยญี่ปุ่นได้สร้างหุ่นจำลอง นากามาซะ ยามาดะ และจารึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยามาตั้งไว้ภายในหมู่บ้าน มีอาคารจัดแสดงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ เปิดเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทยและชาวต่างชาติ ราคา ๕๐ บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมไทย-ญี่ปุ่น โทร.๐ ๒๒๕๑ ๕๘๕๒ หรือ www.thai-japanasso.or.th

การเดินทาง จากเจดีย์วัดสามปลื้มเลี้ยวซ้ายทางไปอำเภอบางปะอินผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล ระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร

วัดบรมพุทธาราม อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา สร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ประมาณพ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๔๖ ณ บริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ตั้งของวัดถูกจำกัดโดยเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณ คือด้านตะวันออกเป็นแนวคลองฉะไกรน้อย ด้านตะวันตกเป็นแนวถนนหลวงชื่อถนนมหารัฐยาหรือถนนป่าตอง แนวถนนและคลองดังกล่าวบังคับแผนผังของวัดให้วางตัวตามแนวเหนือใต้ โดยหันหน้าวัดไปทางทิศเหนือ วัดนี้แตกต่างจากวัดอื่นตรงที่ทรงโปรดฯให้ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองขึ้นมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และใช้ประดับเจดีย์และซุ้มประตู จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง ๒ ปีจึงแล้วเสร็จ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่และให้ทำบานประตูมุกฝีมืองดงาม ๓ คู่ บานประตูมุกนี้ปัจจุบัน คู่หนึ่งอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัด พระศรีรัตนศาสดาราม คู่หนึ่งอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และอีกคู่หนึ่งมีผู้ตัดไปทำตู้หนังสือซี่งขณะนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๔ สิ่งสำคัญที่ น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แก่

บริเวณพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นอาคารจัดแสดง 3 อาคาร คือ

อาคาร ๑ ชั้นล่าง จัดแสดงโบราณศิลปะวัตถุที่ค้นพบจากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างพ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๐ ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา พระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง ๖ องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย ๕ องค์และในประเทศอินโดนีเซีย ๑ องค์ ในประเทศไทยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ๒ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ๑ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ๑ องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ องค์ เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกราช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา

ชั้นบน จัดแสดงเครื่องทอง ๒ ห้อง ห้องแรก จัดแสดงเครี่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อพ.ศ ๒๕๐๐ โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคมทั้ง ๒ ด้าน ฝักทำด้วยทองคำจำหลักลายประจำยาม ลายกนกประดับอัญมณี ด้ามทำ ด้วยหินเขี้ยวหนุมาน ห้องที่สอง จัดแสดงเครื่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในผอบทองคำ ส่วนที่รอบเฉลียง จัดแสดงพระพิมพ์ที่ทำด้วยชิน(โลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก บุทองแดง)และดินเผา สมัยสุโขทัย ลพบุรี และสมัยอยุธยาที่ค้นพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุและวัดพระราม

อาคาร ๒ จัดแสดงโบราณศิลปะวัตถุที่พบในประเทศไทยตามลำดับอายุสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๒๔ คือ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง เช่น พระพุทธรูปปางต่างๆ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระคเณศ

วัดมงคลบพิตร
วัดมงคลบพิตร

อาคาร ๓ เป็นเรือนไทยที่สร้างเป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางปลูกอยู่กลางคูน้ำ ภายในเรือนไทยจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสมัยก่อน เช่น หม้อดินเผา กระต่ายขูดมะพร้าวและเครื่องจักสานต่างๆ

โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ชาวไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๕๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๓๕๒๔ ๑๕๘๗

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ ๒ ไฟแดง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ

คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นปี พ.ศ.๒๔๓๗ ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปี พ.ศ.๒๔๘๓ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปีพ.ศ.๒๔๙๙ และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่า คุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงศาลากลางจังหวัดหลังเดิม จะเห็นสามแยกแล้วเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักจะเห็นคุ้มขุนแผนอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้ชมทุกวันเวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.

วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๕๕ เมตรและสูง ๑๒.๔๕ เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๑๔๕ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อปีพ.ศ.๒๒๔๙ อสุนีบาตตกลงมาต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหารและต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๘๕-๒๒๘๖) ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาเครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็น

สนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ

อ่านต่อ สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 2

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *